logo
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP

       วันนี้ (28 ต.ค.) นายโกวิท สัจจวิเศษ ผู้ตรวจราชการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวถึงความคืบหน้าในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับแก้ไข) พ.ศ…. ว่า ร่างดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนรอการพิจารณาในวาระ 2-3 ของสภาผู้แทนราษฎร เชื่อว่าไม่น่าจะทันการประชุมสภาสมัยสามัญทั่วไป พ.ศ.2556 ที่จะปิดสมัยลงในวันที่ 28 พ.ย.นี้ เนื่องจากมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเมืองจ่อคิวรอพิจารณาอยู่แล้ว ดังนั้นหากเปิดประชุมสภาสมัยนิติบัญญัติในต้นปี 57 ก็ไม่แน่ใจว่าร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้จะหยิบยกขึ้นมาหรือไม่ ทั้งที่ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีสาระสำคัญที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนจำนวนมาก เช่น การให้คุ้มครองไปถึงกรณีผู้ประกันตนฆ่าตัวตาย ซึ่งกฎหมายเดิมในมาตรา61 จะไม่คุ้มครองกรณีดังกล่าวทั้งที่ผู้ประกันตนที่มีปัญหาแล้วนำไปสู่การฆ่าตัวตาย ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องสุขภาพ ปัญหาครอบครัว ถ้าไม่ได้รับการคุ้มครองจะไม่มีสิทธิในการรับเงินค่าทำศพหรือกรณีที่ฆ่าตัวตายแต่ไม่ตายและจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาตัว ทางสถานพยาบาลสามารถปฏิเสธการรับคนไข้ได้ อีกทั้งหากเป็นกรณีฆ่าตัวตายแล้วและเสียชีวิตทายาทของผู้ประกันตนที่เสียชีวิตก็จะไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จ เป็นต้น
       
        นายโกวิท กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ยังให้ความคุ้มครองไปถึงกรณีลูกจ้างรายวันและรายชั่วโมง เช่น ลูกจ้างกรมป่าไม้ ลูกจ้างกรมที่ดิน ที่ไม่สามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนได้ เนื่องจากกฎหมายไม่ให้ความคุ้มครองกับลูกจ้างที่ทำงานที่เกี่ยวข้องกับงานด้านเกษตร ที่ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 1-2 แสนคน รวมไปถึงการให้ความคุ้มครองแรงงานต่างด้าวที่ทำงานอยู่ในประเทศไทยประมาณ 3 ล้านคน แต่มีเหตุให้ต้องเดินทางกลับประเทศต้นทางจะทำให้ได้รับสิทธิในเงินกรณีชราภาพ โดยไม่ต้องรอให้ถึงอายุ 55 ปี ที่สำคัญกฎหมายดังกล่าวยังกำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) ประกันสังคม จากเดิมที่กำหนดให้ปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธานซึ่งเรื่องนี้ยังมีข้อถกเถียงกันมาก จึงมีกรรมาธิการหลายคนสงวนคำแปรญัตติไว้ ทั้งนี้หากร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีความล่าช้าไม่ถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณาโดยเร็วก็จะทำให้ผู้ประกันตนกว่า 10 ล้านคน รวมถึงแรงงานต่างด้าวที่อยู่ในระบบประกันสังคมอีก 1 ล้านคน ต้องเสียสิทธิประโยชน์แน่นอน

29 ตุลาคม 2556

Next post > คนไทย 1.2 ล้านคนไม่รู้ตัวป่วยเบาหวาน สธ.สั่งตรวจคัดกรองตั้งแต่อายุ 15 ปี

< Previous post HITAP นำเสนอข้อสรุปเชิงนโยบายโครงการคัดกรองพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ด้านการคัดกรองสุขภาพประชากรในประเทศไทย และ โครงการพัฒนานโยบายด้านการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค สำหรับเด็กและเยาวชน ต่อคณะกรรมการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

Related Posts

ข่าวที่เข้าชมมากที่สุด ในรอบ 3 เดือน

HITAP เป็นข่าว ล่าสุด