logo
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP

      นพ.ศิรส จิตประไพ สาขาวิชาศัลยศาสตร์ยูโรวิทยา ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในงาน “40 ปี งานเปลี่ยนอวัยวะศิริราช” เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า รพ.ศิริราชทำการปลูกถ่ายอวัยวะให้แก่ผู้ป่วยเฉลี่ยปีละ 80 ราย โดยอวัยวะที่ทำการปลูกถ่ายมากที่สุดคือ ไต ซึ่งตลอดระยะเวลา 40 ปีที่ผ่านมา ปลูกถ่ายไปแล้วกว่า 1,000 ราย รองลงมาคือตับ ปลูกถ่ายไปแล้วกว่า 100 ราย ส่วนตับอ่อน หัวใจ และลำไส้เล็ก ยังมีการปลูกถ่ายน้อย อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการปลูกถ่ายอวัยวะไปแล้วเป็นจำนวนมาก แต่ประเทศไทยถือว่ายังมีการบริจาคอวัยวะน้อยมาก เนื่องจากยังมีความเชื่อว่าบริจาคแล้วชาติหน้าจะมีอวัยวะไม่ครบ ซึ่งตนไม่อยากให้คิดเช่นนั้น เพราะการบริจาคอวัยวะถือเป็นการทำบุญที่ยิ่งใหญ่
       
       นพ.ศิรส กล่าวอีกว่า ปัจจุบันโรงพยาบาลแต่ละแห่งได้รับอวัยวะมาปลูกถ่ายจากผู้ป่วยสมองตาย ซึ่งขณะมีชีวิตได้แสดงความจำนงกับศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย โดยเมื่อตรวจสอบแล้วพบว่าอวัยวะเข้ากันได้กับผู้ป่วยรายใดของโรงพยาบาลใดก็จะติดต่อไปยังโรงพยาบาลแห่งนั้น และอีกส่วนได้รับมาจากผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งอวัยวะที่สามารถให้แก่กันได้ขณะมีชีวิตคือ ไต และ ตับ แต่สามารถให้กันได้เฉพาะญาติพี่น้องเท่านั้น เนื่องจากยังติดในข้อกฎหมายอยู่ ไม่เหมือนในต่างประเทศที่สามารถบริจาคให้ใครก็ได้
       
       นพ.ศิรส กล่าวด้วยว่า สำหรับข้อกังวลที่ว่าบริจาคไตข้างหนึ่งแล้วจะส่งผลให้ร่างกายทรุดโทรมนั้นไม่ใช่เรื่องจริง เพราะผู้ที่จะบริจาคอวัยวะได้นั้นต้องมีร่างกายที่แข็งแรง และยังมีผลวิจัยจากต่างประเทศชี้ชัดว่า หากผู้บริจาคมีการดูแลสุขภาพอย่างดี มาตรวจร่างกาย ตรวจเลือดเป็นประจำทุกปี และระมัดระวังเรื่องอาหาร โดยเฉพาะเรื่องไม่กินหวานและเค็มมากเกินไป พบว่า จะมีอายุยืนยาวกว่าอายุเฉลี่ยของประชากรในประเทศ โดย รพ.ศิริราช จะมีโปรแกรมเช็กสุขภาพสำหรับผู้ที่บริจาคอวัยวะโดยเฉพาะ หากลืมมาตรวจสุขภาพก็จะมีบริการตามให้มาตรวจสุขภาพด้วย
       
       “ผู้ที่รับการปลูกถ่ายอวัยวะไปแล้ว อวัยวะนั้นถือว่าเป็นสิ่งแปลกปลอม ภูมิต้านทานในร่างกายก็จะต่อสู้ทำให้อวัยวะไม่เข้ากับร่างกาย จึงจำเป็นต้องให้ยากดภูมิต้านทาน ทำให้ผู้ได้รับการปลูกถ่ายเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย แต่ถึงขั้นเสียชีวิตนั้นยอมรับว่ามีโอกาสเกิดขึ้นได้ แต่น้อยมากคือ 10% เท่านั้น สาเหตุมาจากได้รับการปลูกถ่ายแล้วแต่ไม่ดูแลสุขภาพร่างกาย แต่ส่วนใหญ่ผู้ได้รับการปลูกถ่ายมักจะดูแลร่างกายตัวเองอย่างดี เพราะการได้รับอวัยวะมาถือเป็นโชคอย่างหนึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่ก็พยายามจะรักษาอวัยวะให้อยู่กับร่างกายไปนานๆ” นพ.ศิรส กล่าว
       
       นพ.ศิรส กล่าวต่อว่า ผู้รับการปลูกถ่ายจะต้องมีวินัยในการกินยา และมาพบแพทย์เพื่อตรวจสภาพร่างกายตามนัดอย่างสม่ำเสมอ ก็จะช่วยให้อวัยวะใหม่ที่ได้รับการปลูกถ่ายอยู่กับร่างกายไปได้อีกนาน แต่ทั้งนี้ ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นด้วย เช่น อายุของผู้รับการปลูกถ่าย โรคเดิมของผู้รับการปลูกถ่าย คุณภาพของอวัยวะที่บริจาค เป็นต้น สำหรับค่าใช้จ่ายการปลูกถ่ายอวัยวะนั้นถือเป็นโชคดีของคนไทยที่ทั้งสามกองทุนสุขภาพคือ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ สามารถให้เบิกได้ทั้งหมด

22 ตุลาคม 2556

Next post > ไฟเขียว 12 บทบาทใหม่ สธ.

< Previous post สธ.เตือนระวังไข้หวัดใหญ่ฤดูฝน แนะฉีดวัคซีนป้องกันโรค

Related Posts

ข่าวที่เข้าชมมากที่สุด ในรอบ 3 เดือน

HITAP เป็นข่าว ล่าสุด