logo
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP

        นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า สปสช.มีนโยบายให้ผู้เสพยาเสพติดเข้าถึงยาเมทาโดน ซึ่งเป็นอนุพันธ์ของฝิ่น ที่มีผลต่อสุขภาพน้อยมาแทนที่การเสพติดเฮโรอีนทั่วทั้งประเทศ เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องที่ต้องเร่งดำเนินการ โดยตั้งเป้าให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เข้ามาเป็นเครือข่ายบริการของโรงพยาบาลทุกแห่งในพื้นที่ เพราะสถานการณ์ทางการแพทย์ยอมรับว่า ผู้ติดยาโดยเฉพาะเฮโรอีนเป็นผู้ป่วยโรคเรื้อรังต้องการได้รับการบำบัด ซึ่ง สปสช.ได้ให้สิทธิประโยชน์กับผู้ป่วยเหล่านี้มาตั้งแต่ปี 2551 ในการเข้าถึงยาเมทาโดน แต่ระบบบริการยังมีไม่มาก ประมาณการว่าขณะนี้ทั้งประเทศมีผู้เสพติดยาเสพติดเฮโรอีนใช้ในการฉีดยา ประมาณ 40,000-50,000 ราย แต่มีผู้เข้าถึงเมทาโดน 3,000-4,000 รายเท่านั้น คือเพียง 10% เนื่องจากมีโรงพยาบาลให้บริการได้แค่กว่า 100 แห่งจากทั้งหมดของภาครัฐที่มีกว่า 1,000 แห่ง
       
        นพ.ประทีป กล่าวอีกว่า นโยบายขยายการบริการให้เข้าถึงยาเมทาโดน สปสช.ได้ให้โรงพยาบาลชุมชนเป็นหน่วยดูแลให้ครอบคลุมในเบื้องต้น และมี รพ.สต.เป็นเครือข่ายในพื้นที่ในรูปแบบของศูนย์โอโซน ภายใต้มูลนิธิ PSI ที่เน้นทำงานในชุมชน โดยจัดรูปแบบทำงานกับชุมชน ส่งผลให้กลุ่มเป้าหมายที่ติดยาเสพติดสามารถเข้าถึงบริการได้ดี และให้การดูแลรักษาต่อเนื่อง ส่งผลคุณภาพชีวิตเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น
       นพ.สรกิจ ภาคีชีพ แผนงานสนับสนุนระบบบริการเอดส์และยาเสพติด สำนักสนับสนุนเครือข่ายระบบบริการทุติยภูมิและตติยภูมิ กล่าวว่า ผู้ที่เคยติดยาเสพติดใช้รูปแบบที่ศูนย์โอโซนดำเนินการส่งผลให้ ผู้ติดยาเสพติดได้อยู่ใกล้ชิดครอบครัวและทำงานได้ใกล้บ้านเพื่อที่จะดูแลครอบครัว โดยที่ สปสช.จะนำรูปแบบนี้ไปใช้และขยายบริการให้เข้าถึงประชาชน เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการ ซึ่งในเบื้องต้นจะขยายการบริการในโรงพยาบาลชุมชน และเครือข่าย รพ.สต.เป็นฐานในการดำเนินการดูแลกลุ่มนี้ คาดว่าภายใน 3 ปีจะเห็นผลเป็นรูปธรรมมากขึ้น อย่างไรก็ตาม จะต้องดำเนินการร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และหน่วยงานภาคเอกชน เพื่อจะขยายการบริการได้ทั่วถึงและตรงกลุ่มเป้าหมายได้

14 ตุลาคม 2556

Next post > สธ.เตือนระวังไข้หวัดใหญ่ฤดูฝน แนะฉีดวัคซีนป้องกันโรค

< Previous post การอบรมการประเมินความคุ้มค่าทางการแพทย์และสาธารณสุข Health Economic Evaluation ครั้งที่ 9

Related Posts

ข่าวที่เข้าชมมากที่สุด ในรอบ 3 เดือน

HITAP เป็นข่าว ล่าสุด