logo
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
HITAP นำเสนอผลการประเมินความคุ้มค่ายารักษาโรคกระดูกพรุนในเวที Think Tank

วันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ.2556 ทีมนักวิจัย HITAP นำโดย ดร.นพ.ยศ ตีระวัฒนานนท์ และ ภญ.ปฤษฐพร กิ่งแก้ว เข้าร่วมการประชุมเพื่อนำเสนอผลงานในเวที Think Tank ร่วมกับทีมนักวิจัยจากสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) โดย ภญ.ปฤษฐพร กิ่งแก้ว นำเสนองานวิจัยเรื่อง “การประเมินความคุ้มค่ายารักษาโรคกระดูกพรุนในหญิงวัยหมดประจำเดือน”

ในปี พ.ศ. 2550  HITAP ได้เคยทำการประเมินต้นทุนประสิทธิผลและต้นทุนอรรถประโยชน์ของการคัดกรองและการใช้ยาเพื่อป้องกันกระดูกหักในหญิงวัยหลังหมดประจำเดือนที่เป็นโรคกระดูกพรุน ผลวิจัยพบว่า ณ เวลานั้นยังไม่มียาตัวไหนที่คุ้มค่าที่จะนำมารักษาโรคกระดูกพรุนในผู้ที่ไม่เคยกระดูกหักและเคยกระดูกหักมาก่อน  ทั้งนี้หัวข้อวิจัยดังกล่าวถูกหยิบขึ้นมาวิจัยอีกครั้งจากการประชุมคัดเลือกหัวข้องานวิจัยเมื่อปี พ.ศ. 2554 เนื่องจากว่ายาบางตัวหมดสิทธิบัตรแล้วประกอบกับมียาใหม่หลายชนิดที่ยังไม่ได้รับการประเมิน จึงต้องการศึกษาอีกครั้งว่าจะมียาตัวใดบ้างที่คุ้มค่าและควรบรรจุในชุดสิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

การศึกษาเรื่อง “การประเมินความคุ้มค่ายารักษาโรคกระดูกพรุนในหญิงวัยหมดประจำเดือน” จึงเกิดขึ้นภายใต้การสนับสนุบจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ภญ.ปฤษฐพร กิ่งแก้ว นักวิจัยหลักในโครงการนำเสนอว่า เป็นธรรมชาติที่มวลกระดูกของคนเราจะลดน้อยลงตามอายุที่มากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดโอกาสกระดูกหักได้ โดยองค์การอนามัยโลกได้กำหนดเกณฑ์วินิจฉัยผู้ที่เป็นโรคกระพรุน ว่าหมายถึงผู้ที่ความหนาแน่นของมวลกระดูกน้อยกว่า – 2.5 BMD (Bone Mineral Density)  T-score ในประเทศไทยกว่าครึ่งของหญิงอายุ 70 ปี เป็นโรคกระดูพรุน ซึ่งจะส่งผลต่อโอกาสในการเกิดกระดูกหัก โดยเฉพาะกระดูกบริเวณสันหลัง ข้อมือและสะโพก มากกว่าคนปกติ

จากการศึกษาในครั้งนี้ โดยการประเมินความคุ้มค่าด้านต้นทุนและผลลัพธ์เทียบยา 9 ชนิดกับการให้แคลเซียมและวิตามินดี พบว่ามียา 1 ชนิดที่มีความคุ้มค่าคือ การรักษาด้วยยา Alendronate ในหญิงวัยหมดประจำเดือนอายุ 65 ปีขึ้นไปที่มีความหนาแน่นของมวลกระดูก น้อยกว่า –2.5 มีความคุ้มค่าในมุมมองของสังคม (105,000 บาทต่อปีสุขภาวะที่เพิ่มขึ้น) ทั้งนี้ ดร.นพ.ยศ ตีระวัฒนานนท์ ย้ำว่ายาดังกล่าวเป็นยา “ลดโอกาสกระดูกหัก” ในผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนเท่านั้น แต่มีปัจจัยที่เกี่ยวข้องมากมายที่ส่งผลให้ผู้หญิงเกิดโอกาสกระดูกหักได้

อย่างไรก็ตาม มีข้อคิดเห็นและหลายประเด็นที่น่าสนใจจากผู้เข้าร่วมประชุม อาทิ ความแตกต่างระหว่างราคาและคุณภาพของยาชื่อสามัญและยาต้นแบบ รวมถึงประเด็นที่ว่าการลดโอกาสกระดูกหักในผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนนั้น ยังมีวิธีการดูแลเบื้องต้นที่ควรคำนึงถึง คือการระมัดระวังไม่ให้หกล้มหรือเกิดอุบัติเหตุ หรือการออกกำลังกายแบบแบกรับน้ำหนัก (Weight-bearing exercise) เช่น การเดิน การวิ่ง การกระโดดเชือก ซึ่งการใช้ยาควรเป็นปัจจัยเสริมหรือทำทั้งสองเรื่องควบคู่กันไป


 

20 พฤษภาคม 2556

Next post > HITAP ร่วม “สานงาน เสริมพลัง ร่วมสร้างประเทศไทยให้น่าอยู่” กับ สสส.และภาคีเครือข่าย

< Previous post HITAP ระดมผู้เชี่ยวชาญร่วมวางโครงร่างงานวิจัยใหม่

Related Posts

ข่าวที่เข้าชมมากที่สุด ในรอบ 3 เดือน

ข่าวสาร HITAP ล่าสุด