logo
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
HITAP จัดอบรม HTA Workshop และ HTA forum เรื่อง “มองรอบด้าน การใช้ข้อมูล HTA ในระบบสุขภาพไทย”

วันที่ 13-15 มีนาคม 2556 HITAP จัดอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง การประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพ (HTA Workshop) และ เวทีอภิปราย “มองรอบด้าน การใช้ข้อมูล HTA ในระบบสุขภาพไทย” (HTA Forum) โดยมีผู้เข้ารับการอบรมและผู้ร่วมเวทีอภิปรายราว 60 ท่าน จากหน่วยงานราชการ บุคลากรสาธารณสุข ภาคอุตสาหกรรม และนักศึกษา

ช่วงแรกของการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการบรรยายและฝึกปฏิบัติเบื้องต้นเกี่ยวกับการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพ (HTA Workshop) ในช่วงนี้ผู้เข้าอบรมจะได้เรียนรู้ตั้งแต่ความเป็นมาของศาสตร์ที่เรียกว่าการแระเมินเทคโนโลยีทางสุขภาพ ไปจนถึงการลงมือปฏิบัติการทำแบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ในเบื้องต้น รวมทั้งฟังบรรยายและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อการนำผลประเมินฯไปใช้ในการสนับสนุนการตัดสินใจเชิงนโยบาย

ในช่วงท้ายของการอบรมมีการจัดเวทีอภิปราย มองรอบด้าน การใช้ข้อมูล HTA ในระบบสุขภาพไทย” ทั้งนี้ได้รับเกียรติจาก

ตัวแทนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของการทำประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์ 6 มุมมองได้แก่ ผู้กำหนดนโยบาย ตัวแทนหน่วยงานประกันสุขภาพ  ตัวแทนผู้บริหารโรงพยาบาล ตัวแทนผู้ประกอบวิชาชีพ ตัวแทนผู้ประกอบการ และตัวแทนภาคประชาชนและสื่อมวลชน

นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์  เลขาธิการมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ กล่าวในมุมมองของผู้มีประสบการณ์ด้านการกำหนดนโยบายด้านสุขภาพว่า ผมฝันเห็นกลไกที่มีคนมาประเมินความคุ้มค่าโดยใช้มุมมองทางสังคม เพราะตามธรรมชาติของการทำการประเมิน ผลที่ได้จะแตกต่างขึ้นอยู่กับว่ามองผ่านมุมมองของใคร ซึ่งการเริ่มต้นประเมินที่ใช้มุมมองที่แตกต่างกันย่อมให้ผลที่ต่างกันไป”

ตัวแทนผู้ประกอบวิชาชีพ  พญ.ขวัญใจ วงศ์กิตติรักษ์ จักษุแพทย์เด็ก สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าว่า แพทย์คุ้นเคยกับการใช้หลักฐานวิชาการสนับสนุนการตัดสินใจ (Evidence-based medicine) ซึ่งมีพื้นฐานเดียวกันกับแนวคิด HTA พญ.ขวัญใจ ให้ข้อเสนอแนะที่น่าสนใจว่าหน่วยงานที่จะมาทำหน้าที่ประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์ ต้องมีความโปร่งใส และทำงานผ่านกระบวนการการมีส่วนร่วมให้มากที่สุด

พญ.กิติมา ยุทธวงศ์ ประธานเจัาหน้าที่บริหาร สมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ นำเสนอมุมมองผู้ประกอบการ ผู้ผลิตเทคโนโลยี ต่อการใช้ HTA ในประเทศไทยว่า แนวคิด HTA มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือเป็นเครื่องมือที่เข้ามาช่วยตรวจทาน และ สร้างมาตรฐาน ให้เกิดการตัดสินใจบนหลักฐานวิชาการอย่างแท้จริง ส่วนข้อเสียที่อาจเกิดขึ้นคือการชะลอเข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ ๆ ทางการแพทย์

ภญ.เนตรนภิส สุชนวนิช ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า HTA เป็นศาสตร์ที่ไม่สามารถอยู่ด้วยตัวมันเองได้ นำไปใช้ร่วมกับเรื่องอื่นๆ เช่นการเจรจาต่อรองราคายา การประกาศสิทธิเหนือสิทธิบัตรยา การจัดซื้อกลาง (Central Procurement) จึงจะก่อประโยชน์สูงสูง เฉพาะตัวของ HTA เอง หากไม่ได้นำไปบูรนาการก็จะเป็นเพียงข้อมูลบนโต๊ะ และไม่ถูกนำมาใช้

20 มีนาคม 2556

Next post > HITAP นำทีมนักวิจัย สนับสนุนประเทศฟิลิปปินส์ทำการประเมินความคุ้มค่าของวัคซีน 2 ตัว

< Previous post ผู้เชี่ยวชาญโรคกระดูกพรุน ร่วมประชุม HITAP พิจารณาผลวิจัยเบื้องต้น

Related Posts

ข่าวที่เข้าชมมากที่สุด ในรอบ 3 เดือน

ข่าวสาร HITAP ล่าสุด