logo

HITAP ร่วมมือกับกรมการแพทย์ จัดการประชุมผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในโครงการ “การพัฒนาแนวทางการประเมินความคุ้มค่าฯ ปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ เพื่อบรรจุในชุดสิทธิประโยชน์ ในระบบประกันสุขภาพของประเทศไทย”

สปสช. และ HITAP ขอเชิญท่านมาร่วมเป็นส่วนสำคัญในการยกระดับบริการสุขภาพของประเทศไทย ด้วยการตอบแบบสอบถามในหัวข้อ “การปฏิบัติงานตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว”

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP

หนังสือพิมพ์: เนชั่นสุดสัปดาห์

ฉบับวันที่: 20 พฤษภาคม 2016

อินโดฯ เริ่มนโยบายล้างไตช่องท้อง ชี้ประเทศไทยเดินถูกทาง

อินโดนีเซีย เริ่มนโยบายล้างไตช่องท้อง หลังประเทศไทยดำเนินนโยบายมาเกือบ 10 ปี เชื่อเดินถูกทาง พร้อมเป็นที่ยอมรับในระดับสากล

นโยบาย “ล้างไตผ่านช่องท้องเป็นทางเลือกแรก (PD First Policy)” แม้ว่าจะเป็นสิทธิประโยชน์สำคัญในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยไตวายเรื้องรังทั่วประเทศเข้าถึงการรักษาอย่างทั่วถึง แต่เป็นนโยบายหนึ่งที่ถูกโจมตีมาโดยตลอดในเรื่องคุณภาพและมาตรฐานการรักษา แต่หลังจากที่ประเทศไทยได้ดำเนินนโยบายนี้มาเกือบ 10 ปี ได้พิสูจน์แล้วว่าเป็นนโยบายที่มาถูกทาง ไม่เพียงแต่เป็นนโยบายที่ยอมรับระดับสากล ทั้งจากการประชุมวิชาการนานาชาติของสมาคมนานาชาติเพื่อการล้างไตผ่านช่องท้องในผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง (International Society for Peritoneal Dialysis : ISPD) แต่หลายประเทศที่ดำเนินโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้ให้ความสนใจ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาต่างเริ่มหันมาให้ความสนใจและเริ่มดำเนินนโยบายนี้

อินโดนีเซียเป็นประเทศหนึ่งซึ่งได้เริ่มดำเนินโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและใช้งบประมาณหลักจากภาษีประชาชนเช่นเดียวกับไทย แต่ด้วยประชากรที่มีจำนวนถึง 240 ล้านคน ทำให้ระบบยังครอบคลุมประชากรเพียงร้อยละ 60 เท่านั้น โดยได้มีการดำเนินโครงการที่ครอบคลุมถึงสิทธิประโยชน์การรักษาผู้ป่วยไตวายเรื่อรังระยะสุดท้าย แต่หลังจากได้ดำเนินโครงการในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา พบว่านอกจากค่าใช้จ่ายดูแลผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้ายจะสูงเป็นอันดับ 2 ของค่าใช้จ่ายทั้งระบบแล้ว การให้บริการยังไม่ครอบคลุมการดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังในระบบทั้งหมด ยังมีผู้ป่วยที่เข้าไม่ถึงการรักษา ดังนั้นจึงต้องมีการทบทวนและประเมินในเรื่องนี้เพื่อหาแนวทางที่เหมาะสม

ด้วยเหตุนี้ที่ผ่านมา “โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP)” จึงได้รับเชิญจากคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการประเมินเทคโนโลยี (the National Health Technology Assessment Committee) ของรัฐบาลอินโดนีเซียร่วมประเมินแนวทางและวิธีการดูแลผู้ป่วยไตที่เหมาะสม เพื่อแก้ไขปัญหางบประมาณดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเพิ่มการเข้าถึงการรักษาให้ผู้ป่วย

จากการลงพื้นที่ศึกษาพบว่า ปัญหาการดูแลผู้ป่วยไตของอินโดนีเซียมาจาก 3 ปัจจัยสำคัญ คือ

  1. การเปิดให้ผู้ป่วยและแพทย์เป็นผู้เลือกวิธีการล้างไตเอง ซึ่งแพทย์และหน่วยบริการส่วนใหญ่จะเลือกล้างไตด้วยเครื่องให้กับผู้ป่วย เนื่องจากจะมีรายได้จากการเบิกจ่ายค่าบริการจากระบบมากกว่าการให้บริการล้างไตทางช่องท้อง
  2. ภูมิประเทศมีสภาพเป็นเกาะถึง 14,000 เกาะ การขยายจัดตั้งศูนย์ล้างไตให้ครบทุกเกาะเป็นเรื่องที่ยาก นอกจากเครื่องไตมีมูลค่าที่สูงมากแล้ว ยังมีปัญหาบุคลากรให้บริการ
  3. ผู้ป่วยไตที่มีจำนวนมากและกระจายอยู่ทั่วประเทศที่มีสภาพเป็นเกาะ เป็นอุปสรรคต่อการเดินทางหลายครั้งต่อสัปดาห์เพื่อเข้าถึงบริการ

จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้จึงได้ข้อสรุปว่า อินโดนีเซียจำเป็นต้องปรับระบบการดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง และใช้นโยบายล้างไตผ่านช่องท้องเช่นเดียวกับประเทศไทย ซึ่งจะช่วยเพิ่มการเข้าถึงของผู้ป่วยไตและช่วยลดค่าใช้จ่ายดูแลผู้ป่วยไตในระบบได้ โดยผู้บริหารระดับสูงของอินโดนีเซียให้ความสนใจและต้องการเริ่มโครงการนำร่องเพื่อดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังตามแนวทางใหม่นี้ เพราะเป็นทางรอดเดียวของโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศในกลุ่มกำลังพัฒนา

นอกจากนี้ในการประชุมนานาชาติ “PD First Policy” ครั้งแรกภูมิภาคอาเซียนเมื่อปลายปี พ.ศ.2557 พบว่าหลายประเทศต่างเริ่มให้ความสนใจในนโยบายนี้ เพราะคาดว่าในอนาคตปัญหาผู้ป่วยไตวายเรื้อรังจะเป็นปัญหาสำคัญสำหรับทุกประเทศ เนื่องจากองค์การอนามัยโลกได้ระบุแล้วว่า ปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคเบาหวานทั่วโลกถึง 400 ล้านคน ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของโรคไต และใน 10 ปีข้างหน้า จำนวนผู้ป่วยเบาหวานจะเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว จึงเป็นสัญญาณว่าผู้ป่วยโรคไตจะมีจำนวนเพิ่มขึ้น ดังนั้นแนวโน้มประเทศต่างๆทั่วโลกจึงหันมาใช้นโยบายล้างไตผ่านช่องท้องเป็นทางเลือกแรกแน่นอน โดยเรื่องนี้ HITAP ได้จัดทำสรุปและนำเสนอตีพิมพ์ในวารสาร Health Research Policy and Systems

อย่างไรก็ตามแม้ว่าประเทศไทยจะมีความแตกต่างกับอินโดนีเซีย ทั้งสภาพภูมิอากาศ จำนวนประชากร แต่นโยบายล้างไตผ่านช่องท้องเป็นทางเลือกแรกถือเป็นแนวทางที่เหมาะสมกับไทย ซึ่งเป็นตามข้อเสนอที่ HITAP ได้ศึกษาและวิจัยเพื่อนำเสนอบรรจุเป็นสิทธิประโยชน์ก่อนหน้านี้ เพราะด้วยข้อจำกัดของบุคลากรทางการแพทย์และงบประมาณ อีกทั้งยังมีหลายพื้นที่ซึ่งมีความห่างไกลทำให้ยากต่อการเข้าถึงบริการเช่นกัน ซึ่งหากไม่ดำเนินนโยบายนี้คงไม่สามารถดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังได้อย่างทั่วถึง อีกทั้งการล้างไตผ่านช่องท้องยังถือเป็นมาตรฐานการดูแลผู้ป่วยโรคไตในหลายประเทศแม้แต่ประเทศพัฒนาแล้ว

ด้วยเหตุนี้ จึงอาจกล่าวได้ว่า PD First Policy ของประเทศได้เดินมาถูกทางแล้ว อย่างไรก็ตาม สปสช. กระทรวงสาธารณสุขและสมาคมวิชาชีพที่เกี่ยวข้องควรมุ่งมั่นในการพัฒนาระบบบริการตามนโยบายดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้นเพื่อรองรับความต้องการบริการทดแทนไตสำหรับผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคตเพราะประเทศไทยกำลังก้าวสู้สังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์ และประเทศไทยจะสามารถบอกชาวโลกได้อย่างภูมิใจว่าเรามีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ดี เพราะไม่มีคนไทยต้องล้มละลายจากบริการล้างไต เหมือนในอดีตและหลายประเทศในปัจจุบัน

23 พฤษภาคม 2559

Next post > HITAP เข้าร่วมประชุม HTAsiaLink ครั้งที่ 5 ณ ประเทศสิงคโปร์

< Previous post ไฮแทป ยืนยันประเทศไทยได้ประโยชน์ต่อรองราคาเลนส์แก้วตาเทียม

Related Posts

ข่าวที่เข้าชมมากที่สุด ในรอบ 3 เดือน

HITAP เป็นข่าว ล่าสุด