logo
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP

       นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ช่วงหน้าร้อนจะมีการระเหยของแหล่งน้ำมาก ทำให้สารแขวนลอยและสารเคมีที่มีอยู่ในน้ำเข้มข้นมากขึ้น นอกจากนี้ อากาศที่ร้อนยังเหมาะแก่การเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์อาจก่อให้เกิดโรคระบาดได้ โดยเฉพาะโรคระบบทางเดินอาหาร เช่น อุจจาระร่วง บิด ไทฟอยด์ ซึ่งตั้งแต่ต้นปีทั่วประเทศพบผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันแล้ว 186,298 ราย เสียชีวิต 3 ราย การป้องกัน สธ.ได้ขอความร่วมมือหน่วยงานที่ให้บริการน้ำประปาทั้งใน กทม. ภูมิภาค และประปาหมู่บ้าน ให้ควบคุมกระบวนการผลิตและการตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานของน้ำประปาตามเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก คือให้มีสารคลอรีนซึ่งมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรคในน้ำ มีความเข้มข้นระหว่าง 0.2-0.5 มิลลิกรัมต่อลิตร (PPM) และกำชับให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ตรวจหาปริมาณสารคลอรีนตกค้างในน้ำประปาทุกชนิดในพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ประสบภัยแล้ง เพื่อเฝ้าระวังและคุ้มครองความปลอดภัยสุขภาพประชาชน
       
        ด้าน นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรณีที่มีการจัดรถบรรทุกน้ำเข้าไปช่วยเหลือในพื้นที่ภัยแล้ง จะต้องล้างทำความสะอาดรถทุกครั้ง ก่อนบรรทุกน้ำใส่รถ ควรเปิดน้ำให้ไหลเต็มที่ระยะหนึ่ง เพื่อระบายน้ำหรือสิ่งปนเปื้อนที่ค้างอยู่ทิ้งก่อน ดูแลความสะอาดและป้องกันการปนเปื้อนระหว่างการรับน้ำ การขนส่งและการจ่าย สิ่งที่พึงตระหนักก็คือไม่ควรเติมคลอรีนก่อนหรือระหว่างบรรทุกน้ำ เพระคลอรีนจะทำลายพื้นผิวภาชนะ ทำให้ผุกร่อนได้ ควรเติมคลอรีนในน้ำ ก่อนแจกจ่ายให้กับประชาชน โดยให้มีคลอรีนตกค้างในน้ำ 2ppm และหากนำน้ำจากรถบรรทุกไปเติมในภาชนะเก็บกักน้ำของชุมชน ได้แก่ ถังเก็บน้ำฝน จะต้องเติมคลอรีนให้ตกค้างในน้ำอยู่ระหว่าง 0.2-0.5 ppm โดยประชาชนที่มารับน้ำ ต้องใช้ภาชนะในการเก็บน้ำที่สะอาด มีฝาปิดมิดชิด และใช้น้ำอย่างประหยัด
       
        นพ.พรเทพ กล่าวว่า หากนำน้ำจากแม่น้ำลำคลองหรือบ่อน้ำตื้นมาใช้ ต้องเน้นความสะอาดเป็นพิเศษ เนื่องจากปริมาณน้ำในแม่น้ำลำคลองลดลง สาหร่ายจึงมีปริมาณเพิ่มขึ้น ทำให้น้ำมีกลิ่นและรสไม่พึงประสงค์ จึงควรปรับปรุงคุณภาพน้ำก่อน โดยเฉพาะน้ำบ่อตื้นที่ตั้งอยู่ในจุดไม่ถูกต้องตามหลักสุขาภิบาล คือ ไม่มีชานบ่อ ไม่มีฝาปิดบ่อ หรือตั้งอยู่ใกล้ห้องส้วม หรือใกล้ที่ทิ้งขยะและมลพิษต่างๆ ประชาชนต้องปรับปรุงคุณภาพน้ำโดยใช้สารส้มแกว่งในภาชนะที่เก็บน้ำ ตั้งทิ้งไว้ประมาณ 30 นาที จะทำให้สิ่งสกปรกที่อยู่ในน้ำจะแยกตัวจับเป็นกลุ่มก้อนเล็กๆ และตกตะกอนลงไปนอนอยู่ที่ก้นภาชนะ น้ำส่วนบนจะใสขึ้นและใช้การได้ แต่หากจะใช้น้ำดังกล่าวมาดื่ม จะต้องต้มให้เดือดนานอย่างน้อย 1 นาทีก่อน ความร้อนจะฆ่าเชื้อโรคที่อยู่ในน้ำได้ 100% และหากน้ำประปาที่ใช้มีกลิ่นของคลอรีน สามารถกำจัดกลิ่นง่ายๆ คือ รองน้ำใส่ภาชนะที่สะอาดทิ้งไว้ประมาณ 30 นาที กลิ่นคลอรีนจะหายไป

5 มีนาคม 2557

Next post > HITAP ต้อนรับ เจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขและบุคลากรด้านสาธารณสุขจากเวียดนาม ศึกษาดูด้านการประเมินฯ

< Previous post วิจัยชัด ปชช.รู้ตัวเสี่ยงโรค แต่ไม่ออกกำลังกาย อ้างไม่มีเวลา

Related Posts

ข่าวที่เข้าชมมากที่สุด ในรอบ 3 เดือน

HITAP เป็นข่าว ล่าสุด