ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
ขอขอบคุณข้อมูลจาก http://news.thaipbs.or.th/content/%E0%B8%9E%E0%B8%B6%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%9A%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%88%E0%B8%B3%E0%B8%97%E0%B8%B3-%E0%B8%A5%E0%B8%B3%E0%B9%84%E0%B8%AA%E0%B9%89%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%B1%E0%B8%A1%E0%B8%9E%E0%B8%B2%E0%B8%95
พึ่งยาระบายเป็นประจำทำ “ลำไส้เป็นอัมพาต”
นายแพทย์สุขประเสริฐ จุฑากอเกียรติ อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลเวชธานี เปิดเผยว่า “ท้องผูกเรื้อรัง” ปัจจุบันแนวโน้มพบในคนที่อายุน้อยหรือวัยทำงานมากขึ้น โดยเฉพาะผู้หญิงซึ่งมักจะกลั้นอุจจาระ ไม่กล้าเข้าห้องน้ำสาธารณะเนื่องจากกลัวสกปรก หรือชีวิตประจำวันที่เร่งรีบทำให้ไม่มีเวลาเข้าห้องน้ำ ทำให้เกิดภาวะท้องผูกได้บ่อย นอกจากนั้นมักจะหันไปพึ่งยาระบายเพื่อการขับถ่ายและการลดความอ้วน
ความจริงแล้วภาวะท้องผูกเรื้อรังเกิดจาก สาเหตุหลักๆ 3 ประการ คือ ลำไส้ใหญ่เคลื่อนไหวช้าลง, หูรูดทวารหนักทำงานผิดปกติและโรคลำไส้แปรปรวน กลุ่มที่เกิดจากลำไส้ใหญ่เคลื่อนไหวช้า มักมีอาการปวดถ่ายอุจจาระน้อยครั้งหรือแทบไม่มีความรู้สึกอยากถ่ายเลยเป็นเวลาหลายวัน กลุ่มที่เป็นลำไส้แปรปรวนนั้นแต่เดิมเป็นกลุ่มที่ไม่ทราบสาเหตุของโรค แต่ปัจจุบันพบว่ามีความสัมพันธ์กับแบคเรียในลำไส้บางชนิด ที่ผลิตก๊าซมีเทน ซึ่งก๊าซมีเทนทำให้การเคลื่อนไหวของลำไส้ช้าลง ส่งผลให้เกิดภาวะท้องผูกตามมา
ส่วนกลุ่มที่หูรูดไม่ยอมเปิดขณะทำการเบ่งถ่าย มักมีอาการถ่ายไม่ค่อยสุด รู้สึกอุจจาระมาติดค้างที่ทวารหนักแต่ไม่ออก บางคนต้องใช้น้ำฉีด ใช้ลูกยางสวน การทำดีท็อกซ์หรือแม้กระทั่งใช้นิ้วล้วงออก การใช้ยาระบายเป็นเพียงการรักษาที่ปลายเหตุโดยเฉพาะยาประเภทกระตุ้นการบีบตัวของลําไส้ใหญ่ ถ้าใช้ต่อเนื่องเป็นเวลานาน อาจทำให้ลำไส้ไม่บีบตัว และอาจต้องเพิ่มปริมาณยามากขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้การรักษาท้องผูกเรื้อรังที่ไม่ถูกวิธี อาจส่งผลเสียต่อร่างกายได้ เช่น การสวนทวารหนักหรือดีท็อกซ์อาจเสี่ยงลำไส้ทะลุ ทวารหนักเป็นแผลอักเสบ ลำไส้ไม่สามารถบีบตัวได้จากการใช้ยากระตุ้นลำไส้ หรือการเบ่งแรงและนานก็อาจทำให้เกิดโรคริดสีดวงทวารได้
สาเหตุอื่นๆรวมทั้งปัจจัยเสริมที่ทำให้เกิดท้องผูก ได้แก่ การรับประทานอาหารที่มีกากใยปริมาณน้อย การดื่มน้ำเปล่าไม่เพียงพอ ขาดการออกกําลังกาย นั่งทํางานอยู่กับที่ทั้งวัน การรับประทานยาหรือวิตามินแร่ธาตุบางชนิดที่ลดการเคลื่อนไหวของลําไส้ รวมถึงโรคภัยบางชนิด เช่น โรคต่อมธัยรอยด์ทำงานน้อยลง นอกจากนั้นมะเร็งลําไส้ใหญ่เองก็เป็นสาเหตุของท้องผูกได้เช่นกัน
ส่วนการรักษานั้น นพ.บุญเลิศ อิมราพร อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลเวชธานีเผยว่า ภาวะท้องผูกเรื้อรังควรได้รับการแก้ไขที่ต้นตอของสาเหตุ โดยต้องอาศัยเครื่องมือทางการแพทย์ช่วยวินิจฉัยแยกโรคและให้การรักษาที่ตรงจุด โดยทั่วไปแพทย์อาจพิจารณาใช้การส่องกล้องลำไส้ใหญ่กรณีที่สงสัยมะเร็งลำไส้ใหญ่หรือลำไส้อุดตัน แต่ส่วนใหญ่แล้วผลการตรวจส่องกล้องมักไม่พบสาเหตุของภาวะท้องผูกเรื้อรัง และผู้ป่วยมักได้รับคำแนะนำให้ปฏิบัติตัวร่วมกับการกินยาระบายเหมือนเดิม
จากเหตุดังกล่าว วงการแพทย์จึงพยายามคิดค้นวิธีการวินิจฉัยที่แม่นยำและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยปัจจุบัน UCLA สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นสถาบันรักษาโรคทางเดินอาหารชั้นนำเป็นที่ยอมรับทั่วโลก มีการจัดระบบการดูแลผู้ป่วยท้องผูกเรื้อรังอย่างครบวงจร โดยการวินิจฉัยความผิดปกติของระบบขับถ่ายด้วยการตรวจการทำงานของหูรูดทวารหนัก (Anorectal manometry) การตรวจการเคลื่อนไหวของลำไส้ใหญ่(Colonic transit time) และการตรวจปริมาณแบคทีเรียในลำไส้ (Hydrogen breath test)
ทำให้แยกสาเหตุของโรคท้องผูกได้ โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลักดังกล่าวข้างต้น คือ หูรูดไม่คลายตัวขณะเบ่งอุจจาระ ลำไส้ใหญ่ไม่บีบตัว และปริมาณแบคทีเรียบางชนิดที่ผลิตก๊าชมีเทน ส่งผลให้เกิดภาวะท้องผูกและท้องอืด
เมื่อค้นพบสาเหตุที่เกิดความผิดปกติแล้ว สามารถทำการรักษาที่ต้นตอของความผิดปกติได้ เช่น การฝึกเบ่งเปิดหูรูดทวารหนัก ซึ่งวิธีนี้สามารถรักษาให้ผู้ป่วยหายขาดได้ถึงร้อยละ 60-70 หรือการพิจารณาให้ยาฆ่าเชื้อ ยาปฏิชีวนะ กำจัดเชื้อแบคทีเรีย สามารถรักษาภาวะท้องผูกและท้องอืดให้หายขาดได้ ทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ป้องกันภาวะแทรกซ้อนของโรคท้องผูก โดยไม่ต้องพึ่งยาระบายอีกต่อไป
ผู้เชี่ยวชาญโรคทางเดินอาหารทั้งสองท่าน ย้ำเป็นเสียงเดียวกันว่า การป้องกันภาวะท้องผูกสามารถทำได้เองโดยใช้หลัก “3 อ” คือ อาหารเพิ่มอาหารที่มีกากใยมาก เช่น พรุน เป็นผลไม้ที่มีกากใยมากมีฤทธิ์ระบายตามธรรมชาติ ดื่มน้ำให้เพียงพอในแต่ละวัน และออกกำลังกาย ให้กล้ามเนื้อหูรูดและลำไส้มีการเคลื่อนไหวเพื่อบีบตัวขับถ่ายได้ดีขึ้น
ที่สําคัญควรขับถ่ายให้เป็นเวลา ไม่ควรอ่านหนังสือ หรือทํากิจกรรมอย่างอื่นไปด้วยขณะขับถ่าย ควรใช้ยาระบายเป็นทางเลือกสุดท้าย ถ้าจําเป็นต้องใช้ ไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน หากปฏิบัติได้ตามนี้จะช่วยให้สามารถขับถ่ายได้เป็นปกติโดยไม่ต้องพึ่งยาระบาย
29 พฤศจิกายน 2555