ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
ขอขอบคุณข้อมูลจาก http://www.thaihealth.or.th/healthcontent/news/31727
เด็กไทยขาดวิตามินดีสูง เสี่ยงโรคเบาหวานชนิดที่ 1
รศ.ดร.วิสิฐ จะวะสิต ผู้อำนวยการสถาบันโภชนาการ ม.มหิดล กล่าวว่า ม.มหิดลได้ทำโครงการสำรวจภาวะโภชนาการและพัฒนาการของเด็กไทย อายุตั้งแต่ 6 เดือน-12 ขวบ ซึ่งอยู่ภายใต้โครงการสำรวจภาวะโภชนาการและสุขภาพเด็กในภูมิภาคอาเซียน (The South East Asia Nutrition Survey; SEANUTS) 4 ประเทศ คือ ไทย มาเลเซีย เวียดนาม และอินโดนีเซีย โดยในส่วนของประเทศไทยได้ทำการเก็บตัวอย่างเด็กจำนวน 3,100 คน ใน กทม. ลพบุรี เชียงใหม่ พังงา ศรีสะเกษ และกาฬสินธุ์ ตั้งแต่ ม.ค.2554-ก.ค.2555 เพื่อประเมินภาวะโภชนาการด้วยการวัดส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น น้ำหนัก ส่วนสูง เส้นรอบแขน เป็นต้น ร่วมด้วยการตรวจวัดความสมบูรณ์ของร่างกายด้านต่างๆ เช่น การวัดคุณภาพของกระดูก รวมถึงการวิเคราะห์ทางชีวเคมีในเลือด
“จากผลการสำรวจพบว่าทั้งประเทศไทยและมาเลเซีย ซึ่งถือเป็นประเทศที่มีความเจริญทางด้านเศรษฐกิจ มีเด็กที่มีภาวะขาดสารอาหารลดน้อยลงเหลือไม่ถึง 10% แต่ในทางกลับกัน พบว่ามีอัตราเด็กเป็นโรคอ้วนหรือน้ำหนักเกินเพิ่มขึ้น ส่วนประเทศเวียดนามและอินโดนีเซียกลับพบปัญหาเด็กผอม ขาดสารอาหารมากขึ้น”
รศ.ดร.วิสิฐกล่าวต่อว่า เมื่อดูเฉพาะผลสำรวจเด็กไทย ยังพบว่ายังประสบปัญหาขาดสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายต่ำกว่าเกณฑ์ โดยเฉพาะธาตุเหล็ก แคลเซียม วิตามินเอ ซีและดี ส่งผลให้เป็นโรคโลหิตจางเพิ่มขึ้น โดยเด็กใน กทม.เป็นโรคดังกล่าว 9% และต่างจังหวัด 18%
ผศ.ดร.นิภา โรจน์รุ่งวศินกุล หัวหน้าโครงการสำรวจภาวะโภชนาการการและสุขภาพเด็กในภูมิภาคอาเซียน และนักวิจัยสถาบันโภชนาการ ม.มหิดล กล่าวว่า จากการสำรวจเด็กไทยในช่วงอายุ 6 เดือน-12 ปี ด้วยการเก็บข้อมูลด้านการบริโภคอาหาร และการเก็บข้อมูลจากการสุ่มตรวจเลือด จากจำนวน 3,100 คน พบว่าเด็กในช่วงวัยดังกล่าวยังมีปัญหาโรคอ้วนสูงถึง 19% เนื่องจากพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่เน้นความสะดวกสบายเป็นหลัก ไม่คำนึงถึงประโยชน์ที่ร่างกายควรได้รับ
“นอกจากนี้พบว่ายังขาดสารอาหารที่จำเป็นบางตัว เช่น แคลเซียม ธาตุเหล็ก วิตามันเอ แต่ที่เพิ่งสำรวจพบคือเด็กไทยขาดวิตามินดีสูงเพิ่มขึ้นจากเมื่อ 10 ที่แล้วถึง 40% หรือในจำนวน 1 ใน 3 ของเด็กที่ได้ทำการสำรวจทั้งหมด และในอีก 3 ประเทศที่เข้าร่วมโครงการก็กำลังประสบปัญหาแบบเดียวกัน”
ผศ.ดร.นิภากล่าวต่อว่า วิตามินดีจะได้จากอาหารที่รับประทาน แต่แหล่งใหญ่เลยคือมาจากการสังเคราะห์ของแสงแดด ซึ่งจากพฤติกรรมการดำเนินชีวิตของเด็กที่เปลี่ยนไป การทำกิจกรรมต่างๆ มักจะทำในร่ม เช่น นั่งเรียนในห้องแอร์ รับประทานอาหารในห้องแอร์ แม้แต่การออกกำลังยังออกกำลังในห้องแอร์ ทำกิจกรรมกลางแจ้งน้อยลง ส่งผลให้เด็กไม่มีโอกาส หรือมีโอกาสน้อยมากในการรับวิตามินดีจากแสงแดด โดยเฉพาะเด็กในเมืองที่ค่อนข้างจะมีปัญหาดังกล่าวมากกว่าเด็กในชนบท
“นี่ถือเป็นครั้งแรกที่มีการพบว่ามีจำนวนเด็กเล็กขาดวิตามินดีในจำนวนที่สูง ซึ่งสามารถสันนิษฐานได้ว่า อนาคตผู้ใหญ่ก็จะมีแนวโน้มการขาดวิตามินดีที่สูงขึ้นเช่นกัน ซึ่งจะส่งผลต่อกระดูกและมีภูมิคุ้มกันต่ำ เสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ได้มากกว่าผู้ที่ไม่ขาดวิตามินดี ดังนั้นต้องมีการปรับพฤติกรรม โดยโรงเรียนควรปรับวิธีการเรียนพลศึกษาให้เป็นกลางแจ้งมากขึ้น ส่วนพ่อแม่ ผู้ปกครองต้องให้ลูกออกมาทำกิจกรรมกลางแจ้งบ้าง เช่น พาออกมาสนามหญ้า ออกมาวิ่งเล่นนอกบ้านบ้าง เพื่อให้ได้รับแสงแดดที่เพียงพอต่อความต้องการ โดยช่วงเวลาที่เหมาะสมคือช่วงเช้า หรือช่วงที่มีแดดอ่อนๆ” ผศ.ดร.นิภากล่าว
ด้าน นายสง่า ดามาพงษ์ ผู้ทรงวุฒิด้านอาหารและโภชนากรของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ตนได้นำข้อมูลการสำรวจภาวะโภชนาการของเด็กไทยไปหารือกับนักโภชนาการของประเทศมาเลเซีย พบว่าขณะนี้สุขภาพของเด็กไทยอันเป็นผลมาจากภาวะโภชนาการด้อยกว่าประเทศมาเลเซียและเวียดนามแล้ว หากยังไม่มีการแก้ไขหรือดำเนินการใดๆ คาดว่าในอนาคตอาจจะด้อยกว่าประเทศพม่าก็ได้ ดังนั้นเรื่องนี้ภาครัฐต้องวางนโยบายที่ชัดเจน จริงจัง โดยการนำข้อมูลด้านโภชนาการที่มีคนทำไว้แล้วมาสังเคราะห์และผลักดันต่อเนื่อง
26 พฤศจิกายน 2555