logo

HITAP ร่วมมือกับกรมการแพทย์ จัดการประชุมผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในโครงการ “การพัฒนาแนวทางการประเมินความคุ้มค่าฯ ปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ เพื่อบรรจุในชุดสิทธิประโยชน์ ในระบบประกันสุขภาพของประเทศไทย”

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP

ขอขอบคุณข้อมูลจาก http://www.thaihealth.or.th/healthcontent/news/31721

เตือนกระแสผิวขาว..ภัยใกล้ตัว หวั่นอันตรายถึงขั้นป่วยโรคไต

          พล.ท.นพ.กฤษฎา ดวงอุไร นายกสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ในปัจจุบันได้เกิดกระแสความนิยมการมีผิวที่ขาว โดยเฉพาะจากการโฆษณาของผลิตภัณฑ์ทำให้ผิวขาวในสื่อต่างๆซึ่งไม่ได้เน้นแต่เฉพาะที่ใบหน้าและแขน ขา แต่ได้สร้างกระแสไปถึงที่ผิวบริเวณซอกแขน ข้อศอก หัวเข่า และจุดซ่อนเร้นอื่นๆทำให้เกิดคำถามขึ้นว่า ผลิตภัณฑ์เหล่านี้มีความจำเป็นหรือไม่อย่างไร และมีประสิทธิภาพแค่ไหน

         “ทางวิชาการผลิตภัณฑ์เหล่านี้ไม่ได้มีความจำเป็นแต่อย่างใด แต่โดยหลักการแล้วร่างกายของเราสามารถสร้างสีผิวขึ้นมา ซึ่งเป็นเสมือนการสร้างเกราะป้องกันอันตรายจากรังสี โดยเฉพาะรังสีอัลตราไวโอเลตหรือรังสียูวีในแสงแดด โดยตัวการที่ทำให้ผิวของเรามีสีที่แตกต่างกัน เช่น สีผิวสีขาว สีแทน หรือสีดำอย่างที่เห็น ก็คือเม็ดสีที่ทางวิชาการเรียกว่า เมลานิน ตัวเมลานินจะทำหน้าที่ดูดกลืนรังสียูวีเอาไว้ ไม่ให้ผ่านมาทำอันตรายถึงผิวหนังชั้นในและอวัยวะภายใน ดังนั้นการกระทำใดๆ ที่พยายามกำจัดปริมาณเมลานินเพื่อให้ผิวขาวขึ้นก็เท่ากับเป็นการลดเกราะคุ้มกันตามธรรมชาติที่เรามีอยู่” พล.ท.นพ.กฤษฎากล่าว

          พล.ท.นพ.กฤษฎากล่าวต่อว่า โดยทั่วไปผิวหนังของคนทั่วไปจะแบ่งตามความเข้มของผิวเป็น 6 ขั้น ของคนไทยจะอยู่ในส่วนของขั้นที่ 3-4 ซึ่งเป็นผิวหนังที่เหมาะกับการป้องกันแสงแดดได้ดี แต่สามารถเป็นฝ้าได้ง่ายมากที่สุดเพราะมีการสร้างเม็ดสีได้ดี ซึ่งการรักษาผิวพรรณด้วยการฟอกผิวขาว จำเป็นจะต้องศึกษาก่อนว่าผิวส่วนไหนบางกว่าปกติ ส่วนไหนต้องถูกกับรังสียูวีมากกว่าปกติ ไม่เช่นนั้นจะทำให้เกิดอาการผื่นคันแพ้ หรือบริเวณที่ถูกแสงแดดมักจะเป็นฝ้าได้ง่ายขึ้น ซึ่งการใช้ยารักษาฝ้าหรือทำให้หน้าขาวจะมีหลายประเภท อาทิ ยาชนิดทาจะค่อนข้างปลอดภัยมากกว่ายาชนิดอื่นๆหากทาบางๆ ก็จะดูดซึมลงไปเพียงแค่ผิวหนังชั้นต้น แต่หากตัวยาซึมเข้าไปสู่กระแสเลือดก็จะเกิดอันตรายไปสู่อวัยวะในร่างกายได้ ไม่แนะนำให้ใช้ชนิดรับประทานหรือฉีดเพราะจะทำให้ดูดซึมเข้าสู่ร่างกายสู่อวัยวะอื่นทำให้เป็นอันตรายได้ และยาทาควรได้รับการรับรองจาก อย.ก่อนมิฉะนั้นจะเป็นอันตรายต่ออวัยวะอื่นๆเช่น ไต หรือผิวหนังได้เช่นกัน

          นายกสมาคมแพทย์ผิวหนังฯ กล่าวย้ำว่า หน้าที่โดยทั่วไปของผิวหนังคือ การปกป้องร่างกายจากรังสียูวี โดยเซลล์เม็ดสีจะช่วยป้องกันไม่ให้ผิวไหม้พอง เป็นมะเร็ง และไม่ให้ใยคอลลาเจนหรืออีลาสตินถูกทำลาย ซึ่งจะทำให้ผิวหนังเป็นริ้วรอย การปกป้องผิวให้พ้นจากแสงแดดจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด เพราะเป็นธรรมชาติ ปลอดภัย และประหยัดที่สุดในการรักษาสภาพผิวไม่ให้เข้มขึ้น ซึ่งยังช่วยป้องกันไม่ให้ใบหน้าเกิดฝ้า หรืออักเสบจากการถูกแดดเผาอีกด้วย แต่ถ้าไม่สามารถหลีกเลี่ยงแสงแดดได้ ก็ควรป้องกันผิวโดยการทาด้วยโลชั่นกันแดดอย่างสม่ำเสมอ ถ้ามีการใช้สารช่วยให้ผิวขาวร่วมด้วย ควรมุ่งหวังผลเพียงฟื้นฟูสภาพสีผิวของเราให้กลับคืนสู่สภาพเดิม ก็ถือว่าได้ผลดีที่สุดแล้ว

          นอกจากนี้ สูตรตำรับช่วยให้ผิวขาวที่ผสมสารมากชนิดและมีราคาแพง ไม่ได้เป็นตัวบ่งชี้ว่าประสิทธิภาพจะดีกว่าตำรับที่มีราคาถูกกว่าเสมอไป หลักการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ทำให้ผิวขาว ก็จะเหมือนกับหลักการเลือกใช้เครื่องสำอางทั่วๆไป คือ ใช้ผลิตภัณฑ์ที่ตัวเรารู้สึกว่าใช้แล้วดี คือไม่แพ้ ไม่มีอาการระคายเคือง และราคาไม่แพง ที่สำคัญคือผลิตภัณฑ์เหล่านี้ควรใช้มาตรการป้องกันแสงแดดร่วมด้วย ดังนั้นหากเรามีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง เกี่ยวกับสีผิวและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ก็จะทำให้มีวิจารณญาณเป็นของตัวเอง ไม่หลงเป็นเหยื่อของการโฆษณา และการสร้างค่านิยมเรื่องต้องผิวขาวเท่านั้นถึงจะสวยหรือดูดี เพราะถ้าแพ้ผลิตภัณฑ์ก็อาจมีอันตรายถึงเสียโฉมได้ ทางที่ดี อยู่อย่างสีผิวของเรา แต่เรียบเนียนและสุขภาพของผิวดีจะดีที่สุด

 

23 พฤศจิกายน 2555

Next post > กาชาด รณรงค์ป้องกันติดเชื้อเอชไอวี

< Previous post สธ.รณรงค์ “ ลอยกระทง ปลอดเหล้า” ปีนี้ 14 จังหวัด ส่งสายตรวจเหล้าทุกพื้นที่ 23-30 พ.ย.

Related Posts

ข่าวที่เข้าชมมากที่สุด ในรอบ 3 เดือน

HITAP เป็นข่าว ล่าสุด