logo
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP

ขอขอบคุณข้อมูลจาก http://www.thaipost.net/news/251012/64193

ห่วงพยาบาลเจอ 2 เด้ง เปิดเออีซีส่อตกงานอื้อ

    ดร.กฤษดา แสวงดี อุปนายกสภาการพยาบาล กล่าวปาฐกถาเรื่อง การเตรียมความพร้อมพยาบาลไทยสู่อาเซียน ตอนหนึ่งว่า จากการสำรวจความเข้าใจของบุคลากร 7 สาขาที่จะเปิดให้มีการเคลื่อนย้ายแรงงานได้หลังเปิดประชาคมอาเซียนนั้น พบว่า บุคลากรด้านการพยาบาลมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้เพียง 10% เท่านั้น ในขณะที่ความท้าทายในระบบบริการสุขภาพที่จะเกิดจากการรวมเป็นประชาคมนั้นมีหลายเรื่อง ทั้งโรคติดต่อ โรคอุบัติใหม่ และการควบคุมโรค การเคลื่อนย้ายแรงงานซึ่งถือเป็นเรื่องที่อ่อนไหวมาก เพราะปัจจุบันประเทศไทยยังขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์อีกเยอะ
    ทั้งนี้ การขาดแคลนกำลังคนเป็นเรื่องสำคัญ เพราะผู้ป่วยมากขึ้น โรคมีความซับซ้อนมากขึ้น ที่สำคัญคือการออกจากระบบของแรงงานภาครัฐ ซึ่งพบว่าการเติบโตของเศรษฐกิจโลกทำให้ตลาดงานเปิดมากขึ้น เมื่อมีเมดิคัลฮับ มีการส่งเสริมให้ต่างชาติเข้ามารักษาในประเทศไทย โดยส่วนใหญ่เป็นบริการของโรงพยาบาลเอกชน ทำให้ต้องใช้พยาบาลมากขึ้น ซ้ำเติมปัญหาความขาดแคลน แต่ตนยังไม่กังวลเรื่องพยาบาลจากต่างประเทศจะเข้ามาแย่งงานของพยาบาลในประเทศไทย เพราะยังมีข้อกำหนดเรื่องการสอบใบอนุญาตที่ต้องทำตามข้อกำหนดของประเทศไทยอยู่ แต่ไม่สามารถนิ่งนอนใจได้ว่าข้อกำหนดการขอใบอนุญาตจะคุ้มครองพยาบาลไทยได้ถึงเมื่อไหร่ เพราะหากบุคลากรในประเทศไทยเองไม่มีความพร้อมอาจจะมีการเรียกร้องให้มีการแก้ไขข้อกำหนด เพื่อให้มีการนำเข้าพยาบาลต่างประเทศเข้ามาทดแทน
    “เราต้องเตรียมความพร้อมของตัวเองให้เป็นคนที่มีคุณภาพ ภาษาต้องดี อย่าให้กลายมาเป็นอุปสรรค ที่ผ่านมาเคยมีคนถามว่าทำไมเราไม่ผลิตพยาบาลเพิ่มขึ้น ถ้าเหลือ เราก็ส่งออกได้ แต่ดิฉันตอบไปว่า เราเป็นผู้ผลิตนักวิชาชีพที่ต้องดูแลชีวิตคน ไม่ใช่ผลิตเครื่องจักร เราต้องการผลิตคนที่มีคุณภาพ มีสมรรถภาพสากล ไม่ใช่ผลิตเอาปริมาณ เพราะฉะนั้น เราต้องมาทบทวน ว่าเราพร้อมเพียงใด อะไรที่เป็นจุดแข็ง อะไรเป็นจุดอ่อน และจะพัฒนาอย่างไร” ดร.กฤษดากล่าว
    ศ.เกียรติคุณ ดร.วิจิตร ศรีสุพรรณ นายกสภาพยาบาล กล่าวว่า การก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนจำเป็นมากที่ต้องผลิตพยาบาลเพิ่มให้เพียงพอที่จะบริการผู้ป่วยที่เพิ่มมากขึ้นด้วย แต่ปัจจุบันยังมีปัญหาเรื่องการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ทั้งหมด โดยในส่วนของพยาบาลนั้น ขณะนี้ขาดแคลนพยาบาลทำงานอยู่ประมาณ 40,000 คน ในขณะที่กำลังการผลิตทำได้ปีละ 8,500 คน คาดว่าภายใน 4 ปีนี้น่าจะมีพยาบาลเพียงพอ แต่ต้องดึงคนให้อยู่ในระบบให้ได้
    “อาจารย์ที่สอนด้านการพยาบาลมีประมาณ 4,000 คน แต่ประมาณ 30% คือผู้ที่มีอายุเกิน 50 ปีขึ้นไป ในอีก 10 ข้างหน้าหากไม่มีตำแหน่งรองรับคนเหล่านี้ หรือตำแหน่งใหม่ให้คนก้าวเข้ามา จะทำให้อาจารย์สอนด้านการพยาบาลขาดแคลนได้เช่นกัน” นายกสภาการพยาบาลกล่าว
    ผู้สื่อข่าวถามถึงความคืบหน้ากรณีพยาบาลลูกจ้างเรียกร้องให้บรรจุเป็นข้าราชการ ศ.ดร.วิจิตรกล่าวว่า การเพิ่มอัตรากำลังคนของกระทรวงสาธารณสุขขึ้นอยู่กับ ก.พ. อีกทั้งยังเป็นนโยบายของรัฐบาลที่ไม่ให้เพิ่มอัตราข้าราชการ ซึ่งตนเห็นว่าต้องเปลี่ยนนโยบาย ว่าวิชาชีพใดที่ขาดแคลนไม่ต้องใช้ข้อกำหนดเหมือนวิชาชีพอื่น และที่ผ่านมาสภาการพยาบาลได้ทำหนังสือถึงรัฐบาลเพื่อชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของพยาบาลหลายครั้งแล้ว ก็ได้คำตอบเหมือนเดิม คือรับทราบและอยู่ระหว่างดำเนินการ แต่เมื่อวันที่ 22 ต.ค.ที่ผ่านมา ตนได้มีโอกาสได้พบกับนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี จึงได้สอบถามความคืบหน้าเรื่องดังกล่าว โดยนายกิตติรัตน์ได้แจ้งกับตนว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีความเป็นห่วงในเรื่องดังกล่าว จึงได้เร่งรัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินเรื่องให้แล้วเสร็จภายในสิ้นเดือน พ.ย.นี้.

25 ตุลาคม 2555

Next post > นักวิชาการจี้รัฐแก้กม.คุมการตลาดน้ำเมา

< Previous post ตะลึง..ผลสำรวจชี้ เด็กไทยเข้าถึงบุหรี่แบ่งมวนง่ายดาย มากกว่า 50% รุ่นพี่ขายให้รุ่นน้อง

Related Posts

ข่าวที่เข้าชมมากที่สุด ในรอบ 3 เดือน

HITAP เป็นข่าว ล่าสุด