logo
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP

ขอขอบคุณข้อมูลจาก http://www.moph.go.th/ops/iprg/include/admin_hotnew/show_hotnew.php?idHot_new=50602

“หมอสุรวิทย์” ชี้ขณะนี้ผู้สูงอายุไทยเกือบ 4 ล้านคน ป่วยโรคข้อเสื่อม

เตือนนั่งไขว่ห้างพับเพียบนาน กระเตงของที่เอวเสี่ยงขาโก่ง ระบุกินแคลเซียมเสริมป้องกันไม่ได้

          วันที่ 14 ตุลาคม 2555 ที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า กทม.นายแพทย์สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่ากระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมวันโรคข้อสากลเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา มหาราชินี และนิทรรศการให้ความรู้ด้านโรคข้อ จัดโดยมูลนิธิโรคข้อในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ภายใต้หัวข้อ“เข้าใจ เข้าถึง พร้อมรับสังคมผู้สูงอายุ” ซึ่งในวันนี้ได้จัดบริการให้คำปรึกษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลวิชัยยุทธ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ศูนย์สิรินธร และโรงพยาบาลราชวิถี โดยมีสมาชิกชมรมโรคข้อและประชาชนทั่วไปเข้าร่วมงานกว่า 1,000 คน

          นายแพทย์สุรวิทย์กล่าวว่า ขณะนี้โรคข้อเสื่อมกำลังคุกคามสุขภาพของประชากรทั่วโลก  องค์การอนามัยโลกหรือฮู(WHO) ระบุว่าปัจจุบันประชากรทั่วโลกป่วยเป็นโรคข้อ โรคกระดูกพรุน โรคกระดูกสันหลัง และโรคที่เกิดจากความผิดปกติของกล้ามเนื้อกว่า 40 ล้านคน คาดในอีก 10 ปีข้างหน้าจำนวนผู้ป่วยจะเพิ่มขึ้นเป็น 570 ล้านคนหรือเพิ่มขึ้นกว่า 14  เท่าตัวโดยราวครึ่งหนึ่งเป็นผู้สูงอายุ  และได้กำหนดให้วันที่ 12 ตุลาคมทุกปี เป็นวันโรคข้อสากล และประกาศให้พ.ศ. 2553-2563 เป็นทศวรรษแห่งการรณรงค์โรคกระดูกและข้อ  เพื่อให้ทุกประเทศทั่วโลกเร่งป้องกันแก้ไข เนื่องจากโรคนี้หากป่วยแล้ว จะเป็นโรคเรื้อรัง เดินอย่างทุกข์ทรมาน รักษาไม่หายขาด  

           นายแพทย์สุรวิทย์กล่าวต่อว่า  โรคข้อมีมากกว่า 100 ชนิด แต่ที่พบได้บ่อยคือ โรคข้อเสื่อม เข่าเสื่อม โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคกระดูกพรุน โรคปวดหลังปวดคอ โรคลูปัส โรคนิ้วล็อก โรคไหล่ติด และโรคกระดูกสันหลังติดแข็ง มักพบในผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป จากการประเมินสถานการณ์ในประเทศไทย พบว่าโรคนี้น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง    ทั่วประเทศพบผู้ป่วยโรคข้อปีละกว่า 6 ล้านคนและในจำนวนนี้ครึ่งหนึ่งเป็นผู้สูงอายุ ประมาณว่าขณะนี้ผู้สูงอายุไทยที่มีเกือบ 8 ล้านคน ร้อยละ 50 หรือประมาณเกือบ 4 ล้านคนป่วยเป็นโรคข้อ กล่าวได้ว่าในผู้สูงอายุทุกๆ 2 คน จะมีผู้เป็นโรคข้อ 1 คน อาการที่พบได้บ่อยคืออาการปวดจากข้อเสื่อม เข่าเสื่อม เข่าโก่ง เข่าเก  หากไม่ได้รับการรักษากระดูกจะถูกทำลายจนถึงขั้นพิการได้

            ทั้งนี้สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคข้อ มีทั้งเกิดมาจากกรรมพันธุ์ การเสื่อมตามวัย ความอ้วนหรือน้ำหนักตัวมากเกินไปทำให้กระดูกบิดผิดรูปจนกล้ามเนื้อเกิดการดึงรั้ง และเกิดจากอิริยาบถในชีวิตประจำวันที่ไม่ถูกวิธีได้แก่ การนั่งยองๆ นั่งขัดสมาธิหรือพับเพียบ และนั่งไขว่ห้างนานๆ ทำให้ผิวกระดูกอ่อนภายในข้อกระดูกเสื่อมเร็ว นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ที่นิยมใช้เอวกระเตงของ เช่นกระบุง ตะกร้า ถาดใหญ่ๆ หรือกระเดียดเด็กที่เอวเป็นเวลานาน จะทำให้น้ำหนักทิ้งลงที่ขาข้างเดียว  ทำให้ข้อกระดูกขาข้างนั้นเสื่อมเร็ว และทำให้ขาโก่งผิดรูปคือเข่าชิด ขาแบะออก และโก่งเข้าเป็นรูปไข่  ยิ่งอายุมากยิ่งเดินลำบาก และจะเกิดอาการปวดข้อจากการที่กระดูกข้อเสียดสีกัน ในการป้องกันและลดความเสี่ยงการเกิดโรคข้อขณะนี้  กระทรวงสาธารณสุขได้รณรงค์ให้ประชาชนใช้ส้วมห้อยขาแทนส้วมซึม และรณรงค์ให้ออกกำลังกาย เพิ่มความแข็งแรงกระดูกและกล้ามเนื้อ นายแพทย์สุรวิทย์กล่าว    

        ทางด้านเภสัชกรหญิงกุสุมาลย์  ไตรวิทยานุรักษ์ เลขาธิการมูลนิธิโรคข้อในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี กล่าวว่า ในคนปกติที่ไม่เป็นโรคข้อ กระดูกจะมีผิวกระดูกอ่อนซึ่งมีลักษณะใสเป็นมันเรียบคลุมอยู่ มีหน้าที่คือรับแรงกระแทกที่เกิดขึ้นในข้อต่อ และทำให้ข้อต่อมีการเคลื่อนไหวได้อย่างสมดุลสม่ำเสมอไม่เจ็บปวด แต่หากเป็นโรคข้อจะมีอาการที่สังเกตได้ง่าย คือปวดเจ็บบวมแดงที่บริเวณข้อโดยเฉพาะที่ข้อเข่า ผู้ป่วยจะเดินกระเผลก ข้อเข่าฝืดงอได้ไม่เต็มที่นั่งยองๆลำบาก หากเป็นมากจะนั่งยองๆไม่ได้เลย บางคนจะปวดมากขึ้นเวลาขึ้นบันได หรือบางคนจะรู้สึกปวดมากในเวลากลางคืน การรับประทานอาหารเสริมที่มีแคลเซียม มีส่วนเพิ่มความแข็งแรงให้กระดูกได้ แต่ไม่สามารถป้องกันการเกิดโรคข้อได้

         “คนทั่วไปเมื่อป่วยเป็นโรคข้อและกระดูกมักไม่ค่อยใส่ใจที่จะรักษา เมื่อมีอาการเริ่มแรกมักเข้าใจว่าเป็นโรคธรรมดาทั่วไป ทนไปก่อนไม่นานคงหายเอง และคิดว่าเป็นโรคของผู้สูงอายุเท่านั้น ซึ่งเป็นการเข้าใจผิดจนทำให้กระดูกเสื่อมลงเรื่อยๆและรุนแรงขึ้นอาจพิการถาวรได้” เภสัชกรหญิงกุสุมาลย์กล่าว

          เภสัชกรหญิงกุสุมาลย์กล่าวต่อว่า วิธีการป้องกันโรคข้อที่ดีที่สุดคือการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้ข้อต่อต่างๆของร่างกายได้มีการเคลื่อนไหว ทำให้การยืดหยุ่นของข้อและกล้ามเนื้อแข็งแรงดีขึ้นช่วยคงสภาพการเคลื่อนไหวของข้อ ซึ่งการออกกำลังกายที่เหมาะสมได้แก่ การเดิน การว่ายน้ำ ขี่จักรยาน เต้นแอโรบิก อย่างไรก็ดีควรเลือกวิธีการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับร่างกายตัวเอง การไม่ออกกำลังกายจะทำให้กล้ามเนื้อที่หุ้มอยู่บริเวณรอบๆข้ออ่อนแรง ข้อจะฝืด กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นจะยึดติด เมื่อขยับจะรู้สึกปวด หรือที่เรียกกันทั่วไปว่าข้อติด

           สำหรับผู้ที่ป่วยเป็นโรคข้อแล้ว ควรปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์ ลดหรืองดอาหารที่ทำให้น้ำหนักขึ้นได้ง่าย เช่นอาหารที่มีรสหวานรสมัน หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่อาจทำให้ข้อได้รับความกระทบกระเทือน หรือเกิดการกระแทก เช่น ยกหรือแบกของหนักมากๆ หรือเล่นกีฬาที่มีการวิ่งกระโดด หมั่นบริหารข้อ รับประทานยาตามกำหนดและหากเกิดอาการผิดปกติจากการรับประทานยาต้องรีบปรึกษาแพทย์ทันที

16 ตุลาคม 2555

Next post > Sitting for long periods 'is bad for your health'

< Previous post “หมอสุรวิทย์” เข้มมาตรการตรวจอาหารเจปลอดภัย ตามนโยบาย “ครัวไทย สู่ครัวโลก”

Related Posts

ข่าวที่เข้าชมมากที่สุด ในรอบ 3 เดือน

HITAP เป็นข่าว ล่าสุด