ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
ตัวแทนของรัฐบาล กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการคลัง นักวิชาการ และองค์กรด้านสุขภาพ ราว 800 คนกว่า 63 ประเทศ ร่วมแถลงการณ์สนับสนุนการพัฒนาระบบการจัดลำดับความสำคัญ เพื่อสนับสนุนระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ยั่งยืน ในการประชุมวิชาการนานาชาติรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2559 เรื่องจัดลำดับความสำคัญ เพื่อประกันสุขภาพที่ยั่งยืน วันที่ 30 มกราคม 2559
การจัดลำดับความสำคัญของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นสิ่งสำคัญมาก และมีผลให้การตัดสินใจของผู้กำหนดนโยบายมีความชัดเจนมากขึ้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับหลักฐานเชิงประจักษ์ และความคุ้มค่า โดยที่ขั้นตอนของการประเมินผลนั้นมีความสำคัญกับหลักฐาน ซึ่งการจัดลำดับความสำคัญจึงทำให้เกิดความเข้มแข็งของระบบสาธารณสุข ทั้งนี้ ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นสิทธิที่ประชาชนในประเทศจะใช้บริการทางสุขภาพได้ตามที่รัฐบาลสนับสนุน แต่ด้วยงบประมาณและทรัพยากรที่จำกัด การคัดเลือกบริการที่เหมาะสมจึงต้องนำกระบวนการที่เรียกว่าการจัดลำดับความสำคัญมาช่วยให้เกิดความสมดุล และสิ่งที่สำคัญลำดับต้นคือชุดสิทธิประโยชน์ที่ได้รับการสนับสนุนโดยภาครัฐ ซึ่งท้ายที่สุดแล้วระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะไม่มีทางล้มละลาย หากมีการเลือกใช้ชุดสิทธิประโยชน์ให้เหมาะสมและเกิดความคุ้มค่าที่สุด
โดยผู้เข้าร่วมประชุมเห็นชอบร่วมกันที่จะพัฒนากระบวนการจัดลำดับความสำคัญที่มีความเสมอภาค โปร่งใส่ เป็นระบบและใช้หลักฐานในการตัดสินใจเชิงนโยบายด้านสุขภาพ เพื่อระบบประกันสุขภาพที่ยั่งยืน ทั้งนี้มีผู้ร่วมอภิปรายได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวได้อย่างน่าสนใจ ดังนี้
เอมี่ คอร์ รัฐมนตรีอาวุโส Ministry of the Environment and Water Resources & Ministry of Health ประเทศสิงคโปร์กล่าวในที่ประชุมว่า สิงคโปร์กำลังพัฒนาการใช้การประเมินเทคโนโลยีด้านสุภาพ เพื่อสนับสนุนการจัดลำดับความสำคัญสำหรับชุดสิทธิประโยชน์ของระบบประกันสุขภาพของประเทศโดยเน้นเรื่องความคุ้มค่าและความเหมาะสม
“หากไม่มีข้อมูลหลักฐานที่ดี เราในฐานะผู้กำหนดนโยบายจะไม่สามารถจัดลำดับความสำคัญอย่างมีประสิทธิภาพได้” ซุมยา สวามินาทาน Director General, Ministry of Health and Family Welfare ประเทศอินเดีย กล่าว
นอกจากนี้ในการประชุมยังมีการนำเสนอเรื่อง “หลักฐานที่ใช้ในการจัดลำดับความสำคัญในปัจจุบันเหมาะสมหรือไม่?: ผู้กำหนดนโยบายต้องการหลักฐานอะไรบ้างสำหรับการจัดลำดับความสำคัญในอนาคต” ซึ่งเป็นการนำเสนอมุมองของผู้กำหนดนโยบาย ทั้งจากกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการคลัง และแหล่งทุนที่สนับสนุนระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า เกี่ยวกับหลักฐานที่ช่วยในการตัดสินใจจัดลำดับความสำคัญเพื่อพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
น.พ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วย กระทรวงสาธารณสุข ประเทศไทย กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า “ปัจจุบันมีเทคโนโลยีด้านสุขภาพเกิดขึ้นมากมาย ในระดับสากลให้การยอมรับการใช้ข้อมูลด้านการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบาย แต่สิ่งที่สำคัญไม่แพ้การประเมินความคุ้มค่า คือ การสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกขั้นตอนของกระบวนการจัดลำดับความสำคัญ”
Mark Blecher ที่ปรึกษาอาวุโสของ South Africa Treasury Department ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้กระทรวงการคลังของประเทศแอฟริกาใต้ที่ทำหน้าที่ควบคุมการใช้จ่ายของรัฐบาล กล่าวว่า “สำหรับหลายประเทศ ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นการลงทุนที่แพงและเป็นภาระต่องบประมาณ อย่างไรก็ดีการจัดให้มีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าสามารถทำได้ แต่ต้องพิจารณาเรื่องความคุ้มค่า สร้างระบบที่สามารถควบคุมต้นทุนและคุณภาพบริการได้ อย่างเช่นประเทศไทยซึ่งนับเป็นตัวอย่างที่ดีของการจัดการระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่เป็นไปได้จริง”
Jeanette Vega ผู้อำนวยการ Fondo Nacional de Salud หน่วยงานจัดสรรงบประมาณด้านสุขภาพภาครัฐของประเทศชิลี ให้ข้อสรุปในช่วงท้ายว่า “สิ่งที่ยังขาดที่สุดในตอนนี้คือ ความเชื่อมโยงระหว่าง การจัดลำดับความสำคัญและระบบประกันสุขภาพ และความเชื่อมโยงระหว่างการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงจากสาธารณะสู่การปฏิบัติ”
3 กุมภาพันธ์ 2559