HITAP Foundation รับรางวัลเกียรติยศ “5 ทศวรรษ ระบบยาประเทศไทย” พร้อมร่วมเสวนาทิศทางบัญชียาหลักแห่งชาติ

ประชุมผู้เชี่ยวชาญ การประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์สำหรับการใช้สารชีวภาพรักษาโรคข้ออักเสบโดยไม่ทราบสาเหตุในเด็กชนิด systemic เพื่อให้ข้อคิดเห็นต่อโครงร่างการวิจัย
เมื่อวันที่ 18 ม.ค. 2559 ดร.นพ.ยศ ตีระวัฒนานนท์ หัวหน้าโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ พร้อมด้วยทีมวิจัย HITAP ได้จัดประชุมผู้เชี่ยวชาญ ในโครงการ “การประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์สำหรับการใช้สารชีวภาพรักษาโรคข้ออักเสบโดยไม่ทราบสาเหตุในเด็กชนิด systemic” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการศึกษาเพื่อพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (UCBP) เพื่อนำเสนอโครงร่างการวิจัย รับฟังข้อคิดเห็น และปรึกษาแนวทางการดำเนินงาน โดยผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญจากคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี สมาคมรูมาติสซั่มแห่งประเทศไทย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ (PReMA) ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมในครั้งนี้ ทีมวิจัย HITAP จะปรับปรุงโครงร่างการวิจัย และดำเนินโครงการตามขั้นตอนต่อไป
สำหรับโรคข้ออักเสบโดยไม่ทราบสาเหตุในเด็กชนิด systemic หรือ systemic juvenile idiopathic arthritis (SJIA) นั้น ปัจจุบันยังไม่ทราบถึงสาเหตุและปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้เกิดโรคนี้อย่างชัดเจน ผู้ป่วยโรค SJIA จะมีอาการข้ออักเสบร่วมกับอาการทางระบบต่างๆ เช่น ไข้ ผื่น ต่อมน้ำเหลืองโต ตับม้ามโต เยื่อหุ้มหัวใจและเยื่อหุ้มปอดอักเสบ เป็นต้น การดำเนินของโรคนี้ค่อนข้างรุนแรง สามารถนำไปสู่ภาวะทุพพลภาพและการเสียชีวิตได้ ในประเทศไทยยาหลักสำหรับรักษาโรคนี้ที่ครอบคลุมโดยระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้แก่ nonsteroidal anti-inflammatory drugs (NSAIDs) glucocorticoid (GC) และ disease-modifying antirheumatic drugs (DMARDs) ซึ่งยาเหล่านี้มีข้อจำกัดในด้านประสิทธิภาพ และ/หรือ ความปลอดภัย ขณะที่ยากลุ่มใหม่คือ สารชีวภาพ (biologic agents) มีข้อมูลสนับสนุนว่ามีประสิทธิผลและความปลอดภัย แต่ก็มีข้อจำกัดในด้านของราคาที่ค่อนข้างสูง กอปรกับยังไม่เคยมีการประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ของการใช้สารชีวภาพในการรักษาผู้ป่วย SJIA ตามบริบทของประเทศไทย จึงเป็นที่มาของโครงการศึกษาวิจัยดังกล่าว