logo
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP

คณบดีแพทย์อาเซียน กับการเดินเข้าสู่เออีซี : โดย… พวงชมพู ประเสริฐ

                  นับเป็นประวัติศาสตร์หนึ่ง ของวงการแพทย์ในระดับภูมิภาคอาเซียน เมื่อคณบดีจากคณะแพทยศาสตร์ที่เก่าแก่ที่สุดใน 10 ประเทศอาเซียน รวม 12 สถาบัน และผู้นำ 17 สถาบันของคณะแพทยศาสตร์ในประเทศไทย มีการประชุมสุดยอดคณบดีอาเซียน: การรวมกันเพื่อความเป็นหนึ่งของโรงเรียนแพทย์อาเซียนครั้งแรก (The First ASEAN Deans Summit :Connecting ASEAN Medical Schools towards One Community) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 17-19 กันยายน 2555 โดยมีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลเป็นเจ้าภาพ

ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการเตรียมความพร้อมเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของเออีซี ซึ่งจะมีการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ และร่วมกันวางแผนยกระดับในหลายๆ ส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องหลักสูตรแพทยศาสตรศึกษา การเรียนการสอน การวิจัย และบริการทางการแพทย์ เป็นต้น ก่อเกิดความร่วมมือเป็นเครือข่ายทางการแพทย์ของอาเซียน นำสู่การพัฒนาองค์ความรู้ สร้างมาตรฐานทางการแพทย์ในภูมิภาคอาเซียนให้เป็นแบบเดียวกันหรือใกล้เคียง กัน เกิดประโยชน์ต่อประชาชนทั้งภูมิภาค

                ทั้งนี้ ก่อนเริ่มการประชุมคณบดีจาก 10 ประเทศเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนเข้าพบเพื่อสัมภาษณ์ โดยประเด็นหลักมีการสอบถามถึงความคิดเห็นเกี่ยวกับผลทางการแพทย์และสาธารณ สุขเมื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี ในปี 2558

                รศ.ดร.อายูป ซาดิค รองคณบดีฝ่ายการศึกษาและความสัมพันธ์ทั่วโลก สถาบันวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยบรูไน ดารุสสาลาม มองว่า เป็นโอกาสที่ดีมากที่จะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ซึ่งกันและกันอันจะ ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อทุกๆ คนในภูมิภาค และเป็นโอกาสที่ประเทศบรูไนจะได้ทำความร่วมมือทางการแพทย์และสาธารณสุขกับ ประเทศต่างๆ ต่อไปในอนาคต

               ศ.ซันบูนาท คา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ กัมพูชา และศ.ดร.สาโบ โอจาโน อธิการบดีมหาวิทยาลัยนานาชาติ กัมพูชา บอกว่า ประเทศกัมพูชาในอดีตมีความยากลำบากมากในเรื่องการแพทย์และสาธารณสุข เพราะเป็นช่วงรอยต่อของประเทศ ปี 2522 มีบุคลากรทางด้านนี้น้อยมาก และได้เริ่มผลิตแพทย์ทั่วไปเพื่อดูแลสุขภาพประชาชน กระทั่งปี 2537 จึงเริ่มมีการผลิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ แต่ยังมีความขาดแคลนเป็นจำนวนมาก การเข้าสู่เออีซีจะ ส่งผลให้นักเรียนแพทย์จากกัมพูชามีโอกาสไปศึกษาเรียนรู้จากประเทศสมาชิกอา เซียนมากขึ้น เพื่อเข้าสู่มาตรฐานด้านการแพทย์เดียวกันในภูมิภาค

              ศ.ปราติวิ ซูดาร์โมโน รองคณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยอินโดนีเซีย กล่าวว่า ม.อินโดนีเซียเป็น 1 ใน 74 มหาวิทยาลัยด้านการแพทย์ของประเทศอินโดนีเซียที่มีประชากรทั้งหมดกว่า 250 ล้านคน ดังนั้นการผลิตแพทย์อย่างมีคุณภาพและการรับรองมาตรฐานโรงเรียนแพทย์เป็นสิ่ง สำคัญ การเข้าสู่เออีซีจะ เป็นการยกระดับคุณภาพและมาตรฐานของโรงเรียนแพทย์ จึงอยากให้มีการแลกเปลี่ยนนักวิทยาศาสตร์และนักเรียนนักศึกษาในการทำงานด้าน วิจัยร่วมกันด้วย ไม่เพียงแต่เฉพาะแพทย์เท่านั้น

               ศ.วงสิน โพธิสานสัก คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ ลาว มองว่า ประเทศลาวเป็นประเทศเล็ก มีประชากรน้อยและค่อนข้างยากจน บุคลากรทางการแพทย์มีจำกัดและนักเรียนแพทย์มีน้อย ความขาดแคลนทางการแพทย์มีมากในชนบท แม้จะต้องการให้มีบุคลากรเพิ่มขึ้น แต่ยังจำกัดเรื่องงบประมาณและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ทันสมัย การเข้าสู่เออีซีจะนำสู่การพัฒนาบุคลากรในประเทศลาว

               เช่นเดียวกับ ดร.อลงกอน เพงสะหวัน รองคณบดีคณะการศึกษาหลังปริญญา มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว กล่าวว่า ประเทศลาวคงต้องมีการพัฒนาด้านการแพทย์และสาธารณสุขอีกมาก การเข้าร่วมเออีซีหวัง ว่าจะเกิดการร่วมมือพัฒนาด้านต่างๆ ในอาเซียน ซึ่งแต่ละประเทศมีเป้าหมายที่แตกต่างกัน แต่ไม่สามารถอยู่แบบโดดเดี่ยว จำเป็นต้องมีการร่วมมือพัฒนาทางการแพทย์ร่วมกัน

               ศ.อะดีบา บินติ คามารูลซามาน คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมาลายา มาเลเซีย กล่าวว่า การเข้าร่วมเออีซีเป็น ทั้งโอกาสและความท้าทายที่มีอยู่อีกมาก ซึ่งมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งในแต่ละประเทศมีความแตกต่างกันอยู่มาก มีทั้งมหาวิทยาลัยที่มีความก้าวหน้า จึงอาจเป็นมาตรฐานให้มหาวิทยาลัยในประเทศอื่นเข้ามาเทียบเคียง เพื่อก่อให้เกิดการพัฒนาของมหาวิทยาลัยในประเทศต่างๆ นอกจากนี้ ในการวิจัยพัฒนาเรื่องต่างๆ ควรมีการประสานความร่วมมือกันในภูมิภาค ไม่ต้องพัฒนาอย่างโดดเดี่ยว จะได้ไม่มีการวิจัยซ้ำซ้อน

              ศ.ทาน วิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ มัณฑะเลย์ และ ศ.อเย อเย มิน หัวหน้าภาควิชาพยาธิวิทยา โรงพยาบาลย่างกุ้ง และคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยย่างกุ้ง ประเทศพม่า เห็นตรงกันว่า ต้องการให้มีการพัฒนาเรื่องห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ร่วมกัน เนื่องจากพม่ามีความต้องการในเรื่องนี้มาก รวมถึงความร่วมมือด้านการศึกษาทั้งระดับปริญญาตรีและหลังปริญญาตรี ทั้งนี้ พม่าให้ความสำคัญในการสอนนักศึกษาแพทย์ให้ดูและผู้ป่วยด้วยหัวใจความเป็น มนุษย์ มีความเอื้ออาทร มีคุณธรรม จริยธรรมไม่ใช่เห็นผู้ป่วยเป็นรายกรณี

             ศ.แอกเนส ดี เมเจีย คณบดีวิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์ กล่าวว่า การหารือร่วมกันบางเรื่องเป็นเรื่องที่ง่าย แต่บางเรื่องเป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องหลักสูตรแพทยศาสตร์ ซึ่งในแต่ละประเทศมีความแตกต่างและคุณภาพที่แตกต่างกัน จึงเป็นเรื่องยากที่ประเทศหนึ่งจะให้การรับรองหลักสูตรของประเทศหนึ่ง จำเป็นอย่างยิ่งต้องมีการหารือร่วมกันถึงแนวทางที่จะให้การรับรองหรือยอมรับ หลักสูตรแพทยศาสตร์ของประเทศสมาชิก มิเช่นนั้นอาจจะไม่บรรลุวัตถุประสงค์หนึ่งของการเข้าสู่เออีซี ในเรื่องการเปิดกว้างให้เกิดการเคลื่อนย้ายของบุคลากรทางการแพทย์

             ขณะที่ ศ.โดว รุน โกะ รองคณบดีโรงเรียนแพทย์ ยง ลู ลิน มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ และศ.เงียน ดัค ฮิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ฮานอย ประเทศเวียดนาม กล่าวเพียงสั้นๆ ว่า ถึงเวลาแล้วที่ต้องมีความร่วมมือในด้านนี้ และหากต้องการให้การแพทย์และสาธารณสุขเดินไปอย่างเร็ว ก็ต้องเดินไปคนเดียว แต่หากต้องการไปให้ได้ไกลควรเดินไปด้วยกัน

              การ ประชุมครั้งนี้เป็นการเริ่มต้นการหารือ เรียนรู้ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นของคณบดีคณะแพทยศาสตร์ที่เก่าแก่ของประเทศอาเซียน และคงจะไม่หยุดอยู่เพียงครั้งเดียว เนื่องจากในการประชุมครั้งที่ 2 คณะแพทยศาสตร์ ม.มาลายา ประเทศมาเลเซีย เสนอตัวเป็นเจ้าภาพ การสานต่อความร่วมมือร่วมกันคงไม่ใช่เรื่องยาก เพื่อความเป็นหนึ่งเดียวของอาเซียน

…………………………………
(คณบดีแพทย์อาเซียน กับการเดินเข้าสู่
เออีซี : โดย… พวงชมพู ประเสริฐ )

 

 

http://bit.ly/OKCmQ3

21 กันยายน 2555

Next post > Headache cures: there's always an alternative to painkillers

< Previous post อย.เตือนฉีดสารแปลกปลอมอันตราย

Related Posts

ข่าวที่เข้าชมมากที่สุด ในรอบ 3 เดือน

HITAP เป็นข่าว ล่าสุด