logo
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP

วันที่ 20 ก.ย. ศ.เกียรติคุณ นพ.จำลอง ดิษยวณิช อาจารย์ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และประธานการจัดวิปัสสนากรรมฐาน สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึงการแก้ไขภาวะความตื่นตระหนกและภาวะโรคซึมเศร้า โดยการวิปัสสนากรรมฐาน สามารถช่วยเยียวยา รักษาจิตใจให้หายจากภาวะโรคตื่นตระหนกและซึมเศร้าได้ โรคตื่นตระหนกหรือที่เราเรียกว่าโรคแพนิค (Panic) เป็นโรคชนิดหนึ่งที่มีมานานแล้ว แต่ประชาชนทั่วไปมักไม่ค่อยรู้จักและยังไม่มีชื่อโรคอย่างเป็นทางการในภาษา ไทย บางคนอาจเรียกโรคนี้ว่า ‘หัวใจอ่อน’ หรือ ‘ประสาทลงหัวใจ’ แต่จริงๆ แล้วโรคนี้ไม่มีปัญหาอะไรที่หัวใจ และ ไม่มีอันตราย เวลามีอาการผู้ป่วย จะรู้สึกใจสั่นหัวใจเต้นแรง อึดอัด แน่นหน้าอก หายใจไม่ทัน หรือหายใจไม่เต็มอิ่ม ขาสั่น มือสั่น มือเย็น บางคนจะมีอาการวิงเวียนหรือมึนศีรษะ ท้องไส้ปั่นป่วน ขณะมีอาการผู้ป่วยมักจะรู้สึกกลัวด้วย
 
 “ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษา รายหนึ่งเป็นนักเรียนวันรุ่นชั้น ม.5 มีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องความรัก การเรียน รวมทั้งปัญหาครอบครัว วันหนึ่งเกิดอาการครุ่นคิดในขณะที่เรียนในห้องเรียน ทำให้คิดถึงเหตุการณ์ที่ทะเลาะกัน บทเรียนที่อาจารย์สอนหนังสือก็ไม่เข้าใจ มีอาการเหม่อลอย แน่นหน้าอก ใจเต้น ใจสั่น หายใจลำบาก หน้ามืด วิงเวียนศีรษะ มือเกร็งชาตามมือและเท้า เป็นมากขึ้นๆจนไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ และมีความรู้สึกว่าตัวเองกำลังจะเป็นบ้า กำลังจะเสียสติ อาการรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ สุดท้ายเกรงมากขึ้นก็ล้มลงไป เพื่อนรีบพาไปปฐมพยาบาลที่ห้องพยาบาล อาการเกิดขึ้น 10 นาที  ก็ดีขึ้นและอาการทุเลาหายไป เหตุการณ์ทำนองนี้พบได้บ่อยในปัจจุบัน อีกรายหนึ่ง เป็นแม่บ้าน ทำงานอยู่ในโรงงานทอผ้า พอกลับมาที่บ้านก็มีปัญหาเรื่องสามี เพราะสามีเป็นคนเจ้าชู้ ดื่มเหล้า เล่นการพนัน พอกลับมาก็อาละวาด เมื่อตัวเองอยู่ในเหตุการณ์ดังกล่าว ก็เกิดอาการไม่สบายใจ หน้ามืด ใจสั่น เหมือนตนเองกำลังจะแย่ กำลังจะหมดสติ อันนี้เราเรียกว่าโรคตื่นตระหนกหรือโรคแพนิคเราพบค่อยข้างจะบ่อย
 
 สาเหตุ โรคตื่นตระหนกหรือโรคแพนิคนั้นมาจากความเครียด ความวิตกกังวล ความไม่สบายใจทุกเรื่องเก็บสะสมไปที่จิตใต้สำนึกของเรา จนวันหนี่งระเบิดออกมาเป็นอาการทางร่างกาย ใจเต้น  ใจสั่น  แน่นหน้าอก สิ่งที่สำคัญ คนที่เป็นโรคตื่นตระหนกจะเกิดอาการกลัวว่าตัวเองจะเป็นบ้า กลัวเสียสติ กลัวจะตายหัวใจจะหยุดเต้น การรักษาทางการแพทย์แบ่งการรักษาออกได้เป็น 2 ทางคือร่างกายและจิตใจ ทางจิตใจ แพทย์ก็จะให้คำแนะนำ ในการดำเนินชีวิต แต่ทางร่างกายเป็นการรักษาที่ได้ผลดีและเร็วที่สุด คือการใช้ยา หมอจะให้ยาลดความเครียดความวิตกกังวล มียาบางตัวจะแก้อาการโรคตื่นตระหนกโดยเฉพาะ พอทานยาได้ซักระยะก็จะดีขึ้น และบางรายการรักษาทำให้หายได้  แต่ส่วนใหญ่การใช้ยาอย่างเดียวไม่เพียงพอเพราะคนไข้มีปัญหาทางด้านจิตวิทยา บางรายมีปัญหาการเรียน ความรัก ครอบครัว ดังนั้นต้องช่วยกันลดต้นตอของปัญหาจะดีที่สุด
 
 “นอกจากการรักษาทาง ด้านจิตใจและร่างกายแล้ว การวิปัสสนากรรมฐานเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ทำให้ผู้ป่วยโรคตื่นตระหนก มีอาการหายขาดทุเลาลง ที่ผ่านมาได้ผลดี วัตถุประสงค์ของการวิปัสสนาคือ  ให้คนที่เข้ามารับการฝึกอบรม ได้รู้วิธีขจัดปัญหากับตัวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบัน คนที่มีความเครียดหรือปัญหาวิตกกังวลมากมาย ถ้ารู้จักการเจริญสติ เจริญวิปัสสนากรรมฐานก็สามารถเอาประสบการณ์ความรู้ที่ได้จากการฝึกอบรม มาประยุกต์ใช้ในการลดความเครียดความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำลงได้  และทำให้การดำเนินชีวิตของเราดีขึ้น ต่างประเทศให้ความสนใจเป็นอย่างมาก ในเรื่องการวิปัสสนากรรมฐาน และการพัฒนาสติ การเจริญสติ มีการสัมภาษณ์สอบอารมณ์ หลังจากเสร็จจากการปฏิบัติธรรมจิตใจจะดีขึ้น คนที่เป็นโรคตื่นตระหนก ซึมเศร้าเมื่อมาปฏิบัติธรรมหลายท่านกลับไปยังสามารถนำไปปฏิบัติที่บ้านได้”

 

http://www.khaosod.co.th/view_newsonline.php?newsid=TVRNME9ERXdOVEUwTXc9PQ==

20 กันยายน 2555

Next post > Pill Found Promising In Treatment Of M.S.

< Previous post เผยคนไทยป่วยทางจิตกว่า 3 แสนราย เตรียมสร้าง รพ.รักษาอีก 1 แห่ง

Related Posts

ข่าวที่เข้าชมมากที่สุด ในรอบ 3 เดือน

HITAP เป็นข่าว ล่าสุด