logo
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP

เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการบริโภคยาสูบ พ.ศ…… พร้อมเสนอแก้ไขกฎหมาย 6 ประเด็นสำคัญน่าสนใจ อาทิ กำหนดสถานที่ห้ามขายบุหรี่ ฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 40,000 บาท และการห้ามขายบุหรี่ให้กับบุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี
       
       นับถึงปัจจุบันเป็นเวลาถึง 20 ปี ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ปัญหาในการควบคุมการบริโภคยาสูบได้มีพัฒนาการประเด็นปัญหาในหลากหลายประเด็นเพิ่มมากขึ้น กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการยกร่างพระราชบัญญัติควบคุมการบริโภคยาสูบ พ.ศ….. เพื่อปรับปรุงและแก้ไขกฎหมายในประเด็นปัญหาต่างๆ ให้มาตรการทางกฎหมายสามารถควบคุมการบริโภคยาสูบได้อย่างมีประสิทธิภาพ และคุ้มครองลูกหลานให้ปลอดภัยจากมหันตภัยร้ายนี้ 
       
       นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่าเวทีสาธารณะ “รับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อร่างพระราชบัญญัติควบคุมการบริโภคยาสูบ พ.ศ…..” กรมควบคุมโรค ได้ดำเนินการจัดเวทีสาธารณะเพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชน จำนวน 4 ภาค ซึ่งการรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ จัดในพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออก ซึ่งเป็นเวทีครั้งสุดท้าย เพราะก่อนหน้าที่ได้จัดเวทีมาแล้ว 3 ครั้ง คือ เวทีภาคใต้ เวทีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเวทีภาคเหนือ เพื่อให้ประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น ซักถามประเด็นข้อสงสัย และให้ข้อเสนอแนะต่างๆ รวมถึงการรับรู้และเข้าใจในกระบวนการยกร่างกฎหมาย สร้างความตระหนักถึงความสำคัญของร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว
       
       ด้านนพ.นพพร ชื่นกลิ่ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สาระสำคัญในร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ ครอบคลุมมาตรการคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ และการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ ประกอบด้วย 6 ประเด็นหลัก ได้แก่
       
       1. มาตรการห้ามโฆษณาผลิตภัณฑ์ยาสูบแบบเบ็ดเสร็จและการดำเนินกิจกรรมCSR เช่น การตัดแปลงตราสัญลักษณ์ยี่ห้อของผลิตภัณฑ์ยาสูบไปติดลงบนป้ายไฟฟ้าร้านอาหาร หรือการพิมพ์ลงจานอาหารในร้านอาหาร และการดำเนินกิจกรรมสร้างความรับผิดชอบต่อสังคมของธุรกิจยาสูบ หรือ Corporate Social Responsibility(CSR) เช่น การให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียน นักศึกษา การจัดกิจกรรมเพื่อประโยชน์สาธารณะ การบริจาคสิ่งของต่างๆ เป็นต้น
       
       2. มาตรการป้องกันการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ยาสูบของเด็กและเยาวชน โดยร่าง พ.ร.บ. ฉบับใหม่ได้กำหนดไว้ใน 2 ลักษณะ ดังนี้ (1)ห้ามขายผลิตภัณฑ์ยาสูบให้กับบุคคลที่อายุต่ำกว่า 20 ปี ซึ่งหากฝ่าฝืนจะได้รับโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท (2)ห้ามยินยอมหรืออนุญาตให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ขายผลิตภัณฑ์ยาสูบ ซึ่งหากผู้ใดไม่ว่าจะเป็นนายจ้าง หรือพ่อแม่ยินยอมให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ขายผลิตภัณฑ์ยาสูบ จะได้รับโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท
       
       3. การกำหนดสถานที่ห้ามขายผลิตภัณฑ์ยาสูบ ประเด็นนี้ถือเป็นเรื่องใหม่อีกหนึ่งประเด็นที่ถูกบรรจุลงในร่างพ.ร.บ. ฉบับใหม่นี้ เนื่องจากแต่เดิมกฎหมายกำหนดเพียงสถานที่ห้ามสูบบุหรี่เท่านั้น ซึ่งสถานที่และบริเวณโดยรอบของสถานที่ห้ามจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยาสูบ ได้กำหนดไว้ ดังนี้ วัด/ศาสนสถาน สถานบริการสาธารณสุข เช่น โรงพยาบาล ร้านขายยา เป็นต้น สถานที่ราชการ รัฐวิสาหกิจ และสถานศึกษา หากผู้ใดฝ่าฝืนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยาสูบในสถานที่ดังกล่าว มีโทษปรับไม่เกิน 40,000 บาท
       
       4. การออกใบสั่งหรือใบเปรียบเทียบปรับ โดยพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งถือเป็นมิติใหม่ในการบังคับใช้กฎหมาย เพราะการออกใบสั่งเปรียบเทียบปรับโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ. จะเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการบังคับใช้กฎหมายได้จริงจังมากยิ่งขึ้น
       
       5. การลดแรงจูงใจของผู้บริโภคยาสูบ โดยมาตรการกำหนดให้ซองบุหรี่ที่จำหน่ายในประเทศไทยต้องเป็นซองแบบเรียบ หรือที่เรียกว่า Plain packaging ซึ่งเป็นซองที่ปราศจากสีสัน ลดแรงกระตุ้นหรือจูงใจนักสูบ ดังที่ประเทศออสเตรเลียได้ริเริ่มแล้ว
       
       6. การเพิ่มอัตราโทษค่าปรับในฐานความผิดต่างๆ ให้สูงขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะทางเศรษฐกิจยุคปัจจุบัน เช่น กฎหมายฉบับเดิมการสูบบุหรี่ในสถานที่ห้ามสูบ มีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท ร่างกฎหมายฉบับใหม่ได้เพิ่มขึ้นเป็น 5,000 บาท เป็นต้น
       
       ทั้ง 6 ประเด็นนี้ เป็นเพียงบางส่วนในร่างพระราชบัญญัติควบคุมการบริโภคยาสูบ พ.ศ….. และจำเป็นต้องอาศัยประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ร่วมแสดงความคิดเห็นและให้ข้อเสนอแนะต่างๆ เพื่อให้การยกร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้สมบูรณ์ที่สุด เพราะการจะทำให้สังคมไทยปลอดบุหรี่ตามกฎหมาย จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยความร่วมมือจากประชาชนและภาคีเครือข่ายให้มีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่อง ทั้งการปฏิบัติตามกฎหมายและการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกันในการดำเนินมาตรการทางกฎหมาย เพื่อให้สามารถควบคุมการบริโภคยาสูบได้อย่างมีประสิทธิภาพ
       
       สำหรับประชาชนที่สนใจสามารถร่วมแสดงความคิดเห็นผ่านทางไปรษณีย์มาที่ สำนักควบคุมการบริโภคยาสูบ กรมควบคุมโรค ถนนติวานนท์ ตำบลตลาดขวัญ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี 11000 หรือส่งอีเมล์มาที่ [email protected] หรือ www.tobaccohearing.com  ภายในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2555 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 02 580 9264, 02 580 9237 ในวันและเวลาราชการ

 

http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9550000113712

15 กันยายน 2555

Next post > สธ.พบผู้ป่วยพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมมากกว่า 1 หมื่นราย

< Previous post Yosemite extends hantavirus warning; 9th infection confirmed

Related Posts

ข่าวที่เข้าชมมากที่สุด ในรอบ 3 เดือน

HITAP เป็นข่าว ล่าสุด