logo
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
ประชุมผู้เชี่ยวชาญนำเสนอผลเบื้องต้น โครงการอนาคต อย. อนาคตผู้บริโภค

ผู้เชี่ยวชาญเสนอให้ อย. พัฒนาบทบาทการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพก่อนการออกสู่ตลาดให้ดียิ่งขึ้น ลดบทบาทด้านการส่งเสริมการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพและควบคุมโฆษณาและส่งเสริมการขาย และควรเพิ่มภาคีในส่วนท้องถิ่น ควรมีหน่วยงานใหม่ทำหน้าที่เยียวยาผู้บริโภค ส่วนระบบคุ้มครองผู้บริโภคที่ดีควรมีห้องปฏิบัติการที่เพียงพอ มีตัวชี้วัดที่เชื่อมโยงสุขภาพของผู้บริโภค พัฒนาผู้บริโภคให้มีอำนาจต่อรองมากขึ้น และเห็นด้วยหากหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพจะมีสถานะเป็นหน่วยงานอิสระ แต่ต้องมีกลไกการตรวจสอบที่ดี

เมื่อวันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2558 ดร.อินทิรา ยมาภัย นักวิจัย HITAP ได้นำเสนอข้อค้นพบและข้อเสนอแนะเพื่อพัฒนาระบบและโครงสร้างการคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพในประเทศไทยต่อผู้เชี่ยวชาญเพื่อขอความคิดเห็นเพื่อนำไปพัฒนาข้อเสนอแนะต่อระบบและโครงสร้างการคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพในอนาคต ซึ่งเป็นเป้าหมายของโครงการวิจัย โดยผู้เชี่ยวชาญได้อภิปรายในประเด็นต่อไปนี้ คือ ศักยภาพของระบบคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพทั้ง 8 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ ยา ยาเสพติด วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท สารระเหย วัตถุอันตราย เครื่องสำอาง เครื่องมือแพทย์ และอาหาร กิจกรรมหลักในการคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพของหน่วยงานกำกับดูแล และข้อจำกัดของการดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพในปัจจุบัน

ผู้เข้าร่วมให้ความเห็นว่า การคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพแต่ละประเภทมีปัญหาต่างกัน บางประเภทควรให้เป็นหน้าที่ของหลายหน่วยงานเช่นในปัจจุบันต่อไป แต่ควรให้มีการพัฒนาโยบายในแนวทางนโยบายเดียว (single policy) เพื่อให้หลายหน่วยงานสามารถทำงานไปในทิศทางเดียวกันได้ เช่น ผลิตภัณฑ์วัตถุอันตรายและอาหาร บางผลิตภัณฑ์ต้องการกำลังคนเพิ่มเติมเช่นมีผู้เชี่ยวชาญมากกขึ้น ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ด้านเครื่องมือแพทย์ ขณะที่บางผลิตภัณฑ์ขาดความชัดเจนของมาตรฐาน เช่น เครื่องสำอาง

ส่วนกิจกรรมหลักที่หน่วยงานกำกับดูแลการคุ้มครองผู้บริโภคควรทำ ได้แก่ การกำหนดมาตรฐาน การตรวจสอบความปลอดภัยและคุณภาพก่อน-หลังออกสู่ตลาด ซึ่งผู้เข้าร่วมเห็นว่า องค์การอาหารและยา ไม่ควรลดบทบาทการตรวจสอบความปลอดภัยและคุณภาพก่อน ก่อนการออกสู่ตลาด ควรทำงานตรวจสอบทั้งก่อนและหลังออกสู่ตลาดควบคู่กันไป และควรให้ส่วนภูมิภาคและท้องถิ่นเข้ามาช่วยกำกับดูแลมากขึ้น นอกจากนี้ อย. ควรให้ความสำคัญกับผู้บริโภคมากขึ้นโดยเฉพาะการให้ความรู้และข้อมูลข่าวสาร

ส่วนบทบาทที่ อย. ควรลดหรือเลิก ได้แก่ การส่งเสริมให้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพ คุ้มค่า และคุ้มครองผลประโยชน์ของผู้บริโภค โดยควรให้มีหน่วยงานอื่นรับผิดชอบ ส่วนกิจกรรมการควบคุมโฆษณาและส่งเสริมการขายนั้นไม่ควรเป็นบทบาทของ อย. เพราะมีหน่วยงานอื่นรับผิดชอบอยู่แล้ว นอกจากนี้ควรมีหน่วยงานต่างหากแยกออกมาจาก อย. ทำหน้าที่ดูแลเรื่องการชดเชย เยียวยา คืนสินค้า รวมถึงซ่อมแซมสินค้าในกรณีชำรุด ส่วนการพัฒนาขีดความสามารถระบบคุ้มครองผู้บริโภคนั้น ควรเน้นไปที่การเพิ่มห้องปฏิบัติการและบุคลากรที่เชี่ยวชาญ

ในการประเมินผลการทำงานของการคุ้มครองผู้บริโภคตัวชี้วัดจะต้องเชื่อมโยงกับการวัดผลสุขภาพของประชาชนเป็นหลัก ไม่ใช่ความสำเร็จของการดำเนินงานของหน่วยงาน และต้องคำนึงถึงความสามารถในการแข่งขันทางการค้าของผู้ประกอบการด้วย ระบบคุ้มครองผู้บริโภคที่ดีควรเพิ่มอำนาจต่อรองให้กับผู้บริโภค ทำให้ผู้บริโภครู้เท่าทันผลิตภัณฑ์ หน่วยงานรัฐบาลควรทำหน้าที่ในการให้ข้อมูลสินค้าที่ทันสมัยและสืบค้นได้ง่ายเพื่อให้ผู้บริโภคสามารถสืบค้นได้อย่างทันท่วงที ส่วนเรื่องการแยกหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพออกมาเป็นหน่วยงานอิสระนั้น ผู้เข้าร่วมเห็นว่า อาจจะสามารถช่วยแก้ไขปัญหาได้ส่วนหนึ่งในเรื่องความคล่องตัวในการบริหารจัดการและการเพิ่มงบประมาณและบุคลากร อย่างไรก็ตามมีข้อควรระวังถึงความเป็นอิสระมากเกินไป ดังนั้นหากจะเป็นองค์กรอิสระควรจะมีระบบตรวจสอบที่ดี

ท่านสามารถติดตามรายงานการประชุมได้ที่ https://www.hitap.net/research/fda

10 กันยายน 2558

Next post > สปสช. พิจารณาชุดสิทธิประโยชน์การคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรงและการตรวจป้องกันการเกิดซ้ำของทารกที่มีโครโมโซมผิดปกติ

< Previous post ประชุมผู้เชี่ยวชาญ มองระบบคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ในอนาคต

Related Posts

ข่าวที่เข้าชมมากที่สุด ในรอบ 3 เดือน

ข่าวสาร HITAP ล่าสุด