logo
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
HITAP จัดประชุมนำเสนอผลงานและแถลงข่าว “เมธีวิจัยอาวุโส เชื่อมงานวิจัย สู่นโยบาย” ภายหลังจบโครงการ

เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 58 HITAP จัดประชุมนำเสนอผลงานภายหลังสิ้นสุดทุนโครงการเมธีวิจัยอาวุโส 3 ปี ภายใต้การสนับสนุนของโครงการเมธีวิจัยอาวุโส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เป็นเวลา 3 ปี HITAP พัฒนานักวิจัยหน้าใหม่ทั้งสิ้น 17 คน มีผลงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติทั้งสิ้น 15 เรื่อง และมีโครงการวิจัยภายใต้การสนับสนุนของเมธีวิจัยอาวุโสราว 60 โครงการในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โดยในการประชุมในครั้งนี้ได้หยิบยกงานวิจัยเด่น 2 โครงการที่ถูกขยายผลในระดับประเทศ ได้แก่ โครงการชัดแจ๋ว ตรวจตาเด็ก เพื่ออนาคตไทย และ การประเมินความคุ้มของการตรวจคัดกรองยีน HLA-B*1502 เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดผื่นแพ้ยารุนแรง จากยาคาบามาเซปีน

ดร.นพ.ยศ กล่าวว่า “โครงการตรวจตาเด็ก เพื่ออนาคตไทย เกิดจากปัญหาการขาดระบบการตรวจรักษาความผิดปกติทางสายตา ในเด็กอายุ 3 – 12 ปี ซึ่งเป็นช่วงอายุสำคัญพัฒนาการทางสายตา หากไม่ได้รับการแก้ไข เสี่ยงต่อการพิการทางสายตาถาวร เราพบว่าเด็กไทย 1 ใน 10 มีความผิดปกติทางสายตา และร้อยละ 4 ของเด็กกลุ่มนี้สามารถกลับมาเห็นชัด หากได้รับการตรวจและให้แว่นตา”

“จากการศึกษาพบว่ามีเด็กประมาณ 570,000 คน มีสายตาผิดปกติ และจำเป็นต้องใส่แว่นสายตาจำนวน 350,000 คน ซึ่งมีเด็กประมาณ 80,000 คน ตัดแว่นใส่เองอยู่แล้ว แต่มีเพียง 20,000 คนเท่านั้นที่แว่นมีความถูกต้องตรงตามสายตา นอกจากนั้น นักทัศนมาตรศาสตร์ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเพื่อควบคุมมาตรฐานการตรวจคัดกรองสายตาในประเทศไทย ยังมีไม่เพียงพอต่อความต้องการในปัจจุบัน ทั้งนี้หากโครงการดังกล่าวพัฒนาเป็นนโยบายระดับชาติ จะทำให้เด็กในช่วงอนุบาล และประถมศึกษาราว 260,000 คน ได้รับแว่นตาเพื่อแก้ไขปัญหาการมองเห็น” ดร.นพ.ยศ กล่าว

HITAP ทำงานร่วมกับ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี เพื่อพัฒนารูปแบบการคัดกรองสายตาผิดปกติในเด็กอนุบาลและประถม พบว่าการให้ครูประจำชั้นช่วยคัดกรองสายตาเบื้องต้น ก่อนส่งต่อจักษุแพทย์เด็กเพื่อตรวจซ้ำและให้แว่นฟรี เป็นระบบที่เป็นไปได้ประเทศไทยที่มีจำนวนหมอตาเด็กไม่เพียงพอ ระบบนี้ใช้งบประมาณไม่สูงแต่สามารถแก้ปัญหาสายตาในเด็กก่อนที่จะสายเกินไป โครงการนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาให้เป็นนโยบายระดับชาติ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ภายในปีหน้า

อีกหนึ่งผลงานที่เชื่อมงานวิจัย สู่นโยบาย คือ งานวิจัยเพื่อตอบคำถามของผู้บริหารระบบประกันสุขภาพว่า จะคุ้มค่าหรือไม่ หากประกันสุขภาพให้บริการตรวจคัดกรองยีน HLA-B*1502 เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดผื่นแพ้ยารุนแรงที่อาจทำให้ตาบอดหรือเสียชีวิต HITAP จึงประเมินความคุ้มค่าของการตรวจคัดกรองยีนดังกล่าวในผู้ป่วยที่ต้องรับยาคาร์บามาเซปีน ผลวิจัย พบว่า เมื่อพิจารณาค่าความเต็มใจจ่ายที่ใช้ในปัจจุบัน การคัดกรองยีน HLAB*15:02 ให้ผู้ป่วย ก่อนให้ยาคาบามาเซปีน มีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์เฉพาะผู้ป่วยภาวะ neuropathic pain แต่ไม่มีความคุ้มค่าสำหรับโรคลมชัก อย่างไรก็ตามเมื่อคณะอนุกรรมการพัฒนาสิทธิประโยชน์และระบบบริการพิจารณาความพร้อมในการให้บริการ และความเท่าเทียมในเข้าถึงบริการของผู้ป่วย จึงมีมติให้บริการตรวจคัดกรองยีน HLA-B*1502 เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดผื่นแพ้ยาชนิดรุนแรง เป็นสิทธิประโยชน์สำหรับผู้ป่วยที่ต้องเริ่มการรักษาด้วยยาคาร์บามาเซปีนในทุกกรณี

31 สิงหาคม 2558

Next post > ผู้เชี่ยวชาญร่วมประชุม พัฒนาโครงการ “ชัดแจ๋ว ตรวจตาเด็ก เพื่ออนาคตไทย”

< Previous post ผู้เชี่ยวชาญโรคหืดในเด็ก ร่วมประชุม จัดทำแนวทางการวินิจฉัย ดูแล และรักษา

Related Posts

ข่าวที่เข้าชมมากที่สุด ในรอบ 3 เดือน

ข่าวสาร HITAP ล่าสุด