logo
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP

              ปัญหาของสตรีวัยหมดประจำเดือน หรือที่เรียกกันว่า “วัยทอง” มีหลายประการด้วยกัน หากไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกวิธี อาจทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลงได้ ภาวะปัสสาวะเล็ด ราดเป็นอีกปัญหาใหญ่ที่หนักอกหนักใจสำหรับสตรีหลายๆ คน เกี่ยวกับเรื่องนี้ รศ.นพ.สุวิทย์ บุณยะเวชชีวิน หน่วยเวชศาสตร์อุ้งเชิงกรานสตรีและการผ่าตัดสร้างเสริม ภาควิชาสูติศาสตร์ นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้ความรู้ว่า

“ภาวะปัสสาวะเล็ดราด กลั้นไม่อยู่ ควบคุมไม่ได้ หรือที่เรียกว่า อาการช้ำรั่วนั้น เป็นเรื่องที่พบได้บ่อยในกลุ่มโรคระบบทางเดินปัสสาวะ มักพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โดยพบในผู้หญิง 25% ทั่วโลก ในต่างประเทศพบได้ประมาณร้อยละ 6 ของประชากร อาการดังกล่าวพบได้ในทุกกลุ่มอายุ ทั้งในเด็ก ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ สำหรับประเทศไทยมีอุบัติการณ์ประมาณร้อยละ 20 ของผู้หญิงตั้งแต่วัยเจริญพันธุ์ถึงวัยหมดประจำเดือน

                  ปัสสาวะเล็ด ราดอาจจะเป็นแค่เพียงหยดซึมเป็นช่วงๆ หรือตลอดเวลา หรือราดจนเปื้อนเสื้อผ้าภายใน โดยที่ผู้ป่วยไม่สามารถจะควบคุมหรือกลั้นเอาไว้ได้ บางท่านต้องใช้แผ่นรองซับปัสสาวะหรือสวมใส่ถุงเก็บปัสสาวะ สภาพดังกล่าวส่งผลทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลงเสียสุขภาพพลานามัย ต้องเฝ้าระวังดูแลรักษาตนเอง รวมทั้งเสียสุขภาพจิตที่ไม่สามารถปฏิบัติภารกิจได้ตามความต้องการ”

                  ภาวะปัสสาวะเล็ดแบ่งออกเป็น 3 ประเภทหลักๆ ได้แก่ 1.ไอจามปัสสาวะเล็ด ภาวะนี้สตรีจะมีปัสสาวะเวลามีความดันในช่องท้องเพิ่มขึ้นเช่นเวลาไอ จาม หรือออกกำลังกาย สาเหตุเนื่องมาจากกล้ามเนื้อหูรูดท่อปัสสาวะเสื่อมไม่สามารถปิดเวลามีความดันในกระเพาะปัสสาวะเพิ่ม ส่วนใหญ่สืบเนื่องมาจากกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานหย่อนตัวลงจากการคลอดบุตร การผ่าตัดในอุ้งเชิงกราน หรือภาวะขาดฮอร์โมนในวัยทอง

                  สำหรับอาการดังกล่าวนี้ แพทย์จะสามารถตรวจภายในเพื่อพิจารณาความรุนแรงของอาการ การรักษา ในกรณีที่เป็นไม่มากนัก อาจเริ่มด้วยการฝึกหัดบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน ด้วยวิธีที่ถูกต้องอย่างเคร่งครัด เป็นเวลาประมาณ 3 เดือน จะช่วยรักษาอาการที่ไม่รุนแรงมากนักให้หายขาดได้ การฝึกทำทุกวัน วันละ 20 นาที โดยสามารถไปปรึกษาแพทย์หรือพยาบาลตามโรงพยาบาลใกล้บ้านได้ การฝึกหัดดังกล่าวมีประโยชน์ในการป้องกันภาวะปัสสาวะเล็ด เวลาไอ จาม และเหมาะสมที่จะใช้กับสตรีทุกคนที่มีเพศสัมพันธ์แล้ว หรือภายหลังคลอดบุตร ในกรณีที่เป็นมากอาจต้องใช้การผ่าตัดรักษาโดยการใช้สายเทปคล้องท่อปัสสาวะ ซึ่งมีแผลเล็ก สามารถผ่าตัดและกลับบ้านได้ในวันเดียว

                  2.กระเพาะปัสสาวะไวเกิน คืออาการปวดปัสสาวะบ่อยในเวลากลางวันหรือกลางคืน ปวดแล้วต้องรีบเข้าห้องน้ำหากไปไม่ทันอาจมีปัสสาวะราด ได้ การรักษาภาวะนี้ ทำได้โดยการใช้ยารับประทานและพฤติกรรมบำบัด รวมทั้งการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต เช่น การควบคุมน้ำหนัก ระวังอย่าให้ท้องผูก งดสูบบุหรี่ งดเครื่องดื่มชา กาแฟ น้ำอัดลม ที่ทำให้ปัสสาวะบ่อย

                  และ 3.กระเพาะปัสสาวะบีบตัวไม่ได้ดีจากโรคทางระบบประสาทหรือเบาหวาน หรือภาวะปัสสาวะคั่งค้างทำให้ปัสสาวะลำบากไม่สุด อาจมีปัสสาวะเล็ดหลังปัสสาวะหลังถ่ายเรียบร้อยแล้วโดยปัสสาวะเล็ด ราดมักพบในสตรีวัยหมดประจำเดือน หรือวัยทอง ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป หรือหลังคลอดบุตรแล้ว การรักษาจะทำโดยการรักษาตามสาเหตุ หรือถ้าระบบประสาทเสียไป อาจต้องสวนปัสสาวะด้วยตนเองเพื่อไม่ให้การคั่งของปัสสาวะ

                  นอกจากนั้น อาการปัสสาวะเล็ดราดของสตรีวัยทอง อาจมีปัญหาจากการอักเสบของกระเพาะปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะบ่อย ปวดแสบ เล็ดราด หรือขัดกะปริดกะปรอย เนื่องมาจากการอักเสบติดเชื้อซึ่งอาจจะเกิดขึ้นหลังมีเพศสัมพันธ์ หรืออั้นปัสสาวะไว้มากจนเกินไป การอักเสบนี้รักษาและป้องกันได้โดยพยายามถ่ายปัสสาวะทิ้งทันทีเมื่อปวดปัสสาวะเต็มที่ ในรายที่ดื่มน้ำน้อย และมีโอกาสเสี่ยงต่อการอักเสบดังที่กล่าวข้างต้น ควรดื่มน้ำเพิ่มขึ้น เพื่อให้ปัสสาวะมากขึ้นในช่วงที่มีการอักเสบ หลีกเลี่ยงภาวะไอ ในรายที่มีปัสสาวะเล็ดเล็กน้อยหรืออยู่ในระหว่างรอการรักษาอาจใช้แผ่นซึมซับปัสสาวะช่วยลดความไม่สบายตัวในการดำเนินชีวิตประจำวันได้

                   รศ.นพ.สุวิทย์ ฝากทิ้งท้ายถึงสตรีวัยทองว่า สตรีวัยทองควร ดูแลรักษาสุขภาพตนเองเป็นประจำ โดยการได้รับอาหารครบทุกหมู่ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและเหมาะสมกับวัย เพื่อทำให้กล้ามเนื้อและกระดูกแข็งแรง การไหลเวียนโลหิตดีขึ้น คบค้าสมาคมกับเพื่อนฝูง ฝึกสมาธิ เพื่อทำจิตใจให้ร่าเริงแจ่มใส ไม่เครียด พักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้สุขภาพแข็งแรง เป็นการป้องกันการเกิดภาวะปัสสาวะเล็ด

                     “แม้ว่าภาวะปัสสาวะเล็ด จะไม่อันตราย แต่ก็ลดคุณภาพชีวิตประจำวันของเราไปได้มาก หากมีอาการดังกล่าวให้รีบปรึกษาแพทย์ และเริ่มต้นตรวจรักษาไปทีละขั้นตอน เพราะภาวะปัสสาวะเล็ด นั้นสามารถรักษาได้ และไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัวหรือน่าอับอาย หากคุณผู้หญิงมีความรู้ความเข้าใจ และพร้อมจะรับมือกับปัญหาได้อย่างถูกต้อง ก็จะสามารถใช้ชีวิตทุกวันด้วยความมั่นใจได้ครับ” รศ.นพ.สุวิทย์กล่าวทิ้งท้าย

…………………………………….
(เคล็ดลับ!! รับมือ ภาวะ
ปัสสาวะเล็ดราด’สตรีวัยทอง’ : โดย… ทีมข่าวสาธารณสุข)

 

http://bit.ly/PxEcVL
           

20 สิงหาคม 2555

Next post > U.S. health panel likely to make HIV tests routine

< Previous post นับแกะเอาไม่อยู่ ! โรคนอนไม่หลับกลายเป็นปัญหาทั่วโลก ต้นเหตุโรคซึมเศร้า-วิตกจริต

Related Posts

ข่าวที่เข้าชมมากที่สุด ในรอบ 3 เดือน

HITAP เป็นข่าว ล่าสุด