logo


ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
‘ผู้ป่วยโรคเลือด’ กับการรักษาด้วยการ ‘ปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด’ ในระบบ ‘บัตรทอง’…สิทธิที่เราร่วมกำหนด

การรักษาผู้ป่วยโรคเลือดด้วยวิธีการ “ปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด” ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) เป็นหนึ่งในอีก หลายปัญหาสุขภาพ ที่ถูกนำเสนอเข้าสู่คณะอนุกรรมการเพื่อการพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ ในระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่ผ่านมาคณะอนุฯ มีมติเห็นชอบในหลักการให้บรรจุการรักษาด้วยวิธีปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดสำหรับ ผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียรุนแรง อายุไม่เกิน 8 ปี ที่มีญาติพี่น้องบริจาค ผู้ป่วยโรคไขกระดูกฝ่อชนิดรุนแรง ผู้ป่วยโรคโกเชอร์ ผู้ป่วยโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องแต่กำเนิด ซึ่งการเสนอประเด็นปัญหาสุขภาพเพื่อเข้าสู่การประเมิน สามารถทำได้ผ่านกระบวนการพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ ในระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า

การเข้าถึงบริการสุขภาพสำหรับประชาชนเป็นสิ่งที่สำคัญ เพื่อพัฒนาระบบบริการและสร้างความเสมอภาคระหว่างการบริการสุขภาพทั้ง 3 ระบบประกันสุขภาพภาครัฐ (หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ และประกันสังคม) ภายใต้ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2545 ที่เน้นให้หน่วยงานที่ดูแลระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ สปสช. มีระบบการพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งหนึ่งในระบบที่นำมาใช้ คือ โครงการศึกษาเพื่อพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เนื่องจากยังมีมาตรการด้านสุขภาพที่สำคัญบางส่วนยังไม่ครอบคลุมในชุดสิทธิประโยชน์ฯ หรือครอบคลุมแล้วแต่มีราคาแพง ผู้ป่วยไม่สามารถเข้าถึงการรักษาเป็นสาเหตุให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการเข้าถึงและไม่ได้รับบริการที่มีความจำเป็น เกิดการเรียกร้องในการปรับปรุงชุดสิทธิประโยชน์ในระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าบ่อยครั้ง จึงเป็นที่มาของการนำเสนอหัวข้อปัญหาเพื่อการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพขึ้น ที่ผ่านมา มีการเสนอให้ศึกษาเรื่องการรักษาด้วยการปลูกถ่ายไขกระดูกในหลายโรค หลังผ่านการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพ และความเป็นไปได้เชิงปฏิบัติ ผลการศึกษาถูกนำเสนอไปยังคณะอนุกรรมการพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์และระบบบริการ สปสช.

นายสุรเดช ดวงทิพย์สิริกุล นักวิจัยโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) กล่าวถึงการปลูกถ่ายไขกระดูก ว่า “ปี 2554 คณะอนุกรรมการฯ มีมติเห็นชอบในหลักการให้การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด เป็นสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สำหรับผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียรุนแรง อายุไม่เกิน 8 ปี และมีญาติพี่น้องบริจาค (หัวข้อนี้เสนอ โดยกลุ่มผู้ป่วย) และการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด เป็นสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สำหรับ โรคที่พบน้อย 3 โรค ได้แก่ โรคไขกระดูกฝ่อชนิดรุนแรง โรคโกเชอร์ และโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องแต่กำเนิด และได้ขยายการปลูกถ่ายไขกระดูกครอบคลุมโรคดังกล่าวแล้ว ยกเว้นโรคธาลัสซีเมีย และปัจจุบันมีการเสนอหัวข้อเพื่อการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพ เกี่ยวข้องกับการรักษาด้วยการปลูกถ่ายไขกระดูก ในกลุ่มผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง และ โรค มัลติเพิล มัยอิโลมา คือการประเมินเรื่อง การเพิ่มการระดมจำนวนของ hematopoietic stem cells (HSCs) ไปยัง peripheral blood ด้วยยา Plerixafor เพื่อทำการเก็บและทำ autologous transplantation ต่อไปในผู้ป่วย lymphoma and multiple myeloma (MM) โครงการนี้เสนอเข้ามาโดยภาคอุตสาหกรรม ในปี 2557 กำลังอยู่ในช่วงดำเนินการวิจัย คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2559”

สำหรับโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในฐานะฝ่ายเลขานุการ ของคณะทำงานโครงการศึกษาเพื่อพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ฯ มีหน้าที่จัดทำข้อมูลการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพ ตามมาตรฐานการทำวิจัยที่คณะอนุกรรมการฯ กำหนดไว้ ซึ่งข้อมูลการประเมินฯ ที่ HITAP จัดทำนั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งในการประกอบการตัดสินใจ โดยจะถูกนำเสนอต่อคณะอนุกรรมการฯ เพื่อพิจารณาบรรจุสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ในระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า อย่างไรก็ตามข้อมูลด้านการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพเป็นเพียงหนึ่งในอีกหลายข้อมูลที่ผู้กำหนดนโยบายนำมาประกอบการตัดสินใจ นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องความเท่าเทียมในการเข้าถึงการรักษาพยาบาล จริยธรรม และผลกระทบงบประมาณต่าง ๆ

อย่างไรก็ดี เพื่อให้เกิดกระบวนการเลือก สิทธิประโยชน์ เข้าระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่มีความครอบคลุม เป็นระบบ โปร่งใส มีประสิทธิภาพ และอยู่บนพื้นฐานของหลักฐานเชิงวิชาการ จึงมีการวางระบบการเสนอหัวข้อเข้าสู่การทำประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์ โดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้ง 7 กลุ่ม ได้แก่ ผู้กำหนดนโยบาย ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ นักวิชาการ ภาคประชาสังคม กลุ่มผู้ป่วย ภาคอุตสาหกรรมด้านยาและเครื่องมือแพทย์ และประชาชนทั่วไป สามารถยื่นเสนอหัวข้อเพื่อทำการประเมินหัวข้อ/ปัญหาสุขภาพ ก่อนนำเสนอสู่ คณะอนุกรรมการพัฒนาสิทธิประโยชน์และระบบบริการ สปสช. ซึ่งหากท่านเห็นว่าควรขยายการปลูกไขกระดูกไปยังโรคอื่น ๆ หรือควรมีการเพิ่มชุดสิทธิประโยชน์อื่น ๆ สามารถมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ฯ โดยเสนอหัวข้อ หรือปัญหาสุขภาพ ผ่านช่องทางตัวแทนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียซึ่งเป็นตัวแทนของท่าน เพื่อเสนอหัวข้อ เข้าสู่การประเมินได้ สำหรับกลุ่มแพทย์/ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ สามารถเสนอผ่านออนไลน์ได้ทันที ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.ucbp.net

28 สิงหาคม 2558

Next post > HITAP จัดประชุมนำเสนอผลการศึกษาการจัดทำคุณลักษณะที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพของ Stent และ balloon ต่อผู้เชี่ยวชาญ

< Previous post แบบประเมินคุณภาพชีวิตช่วยคิดความคุ้มค่าการแพทย์

Related Posts