logo
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP

 สธ.ร่วมมือกับ กทม.และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานอาหารปลอดภัยในตลาดสามย่าน เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภค รวมถึงตลาดสดที่ผ่านการรับรองมาตรฐานตลาดสด น่าซื้อ ของกรมอนามัย ภายใต้สโลแกน “ผู้บริโภคมั่นใจ อาหารปลอดภัย ในตลาดสด น่าซื้อ เพื่อส่งเสริมครัวไทยสู่ครัวโลก”
       
       วันนี้ (15 ส.ค.) นายแพทย์ สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมช.สธ.) เปิดเผยภายหลังจากการตรวจเยี่ยมการดำเนินงานอาหารปลอดภัยในตลาดสด ณ ตลาดสามย่าน เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ว่า จากนโยบายของรัฐบาลที่จะส่งเสริมครัวไทย สู่ครัวโลก เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจแก่ประชาชนและนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวเมืองไทย สามารถเลือกซื้อสินค้าอาหารได้อย่างมั่นใจ รวมทั้งเพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภคภายในประเทศที่นิยมใช้ บริการตลาดตามวิถีไทย ซึ่งเป็นมาตรการที่สร้างให้เกิดความปลอดภัยด้านอาหารอย่างยั่งยืน ทั้งสินค้าที่ส่งออกจากประเทศไทยและสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศ เช่น ผักผลไม้ ควรมีคุณภาพดี ปราศจากสารเคมี สารฆ่าแมลง นำมาจากแหล่งผลิตที่มีการรับรองหรือเชื่อถือได้
       
       นายแพทย์ สุรวิทย์ กล่าวต่อว่า ตลาด สามย่านนับเป็นตลาดที่ให้ความสำคัญด้านความสะอาดของสถานที่ การจำหน่ายอาหารที่ปลอดภัย การคุ้มครองผู้บริโภค และแบ่งแยกสัดส่วนของตลาดไว้อย่างชัดเจน ซึ่งชั้นที่ 1 ประกอบด้วย แผงจำหน่ายสินค้า ชั้นที่ 2 เป็นร้านอาหารและร้านค้าพื้นที่พิเศษ ชั้นลอยเป็นสำนักงานและห้องประชุมเพื่อการพัฒนาตลาด ด้วยการจัดโครงสร้างและการบริหารจัดการที่ดีนี้ ตลาดสามย่านจึงได้รับรางวัลจากกรมอนามัยและหน่วยงานต่างๆ มากมาย อาทิ ผ่านเกณฑ์ตลาดสด น่าซื้อในระดับดีมาก การรับรองมาตรฐานอาหารสะอาด รสชาติอร่อย (Clean Food Good Taste) สำหรับศูนย์อาหาร การรับรองอาหารปลอดภัย (Food Safety) สำหรับแผงจำหน่ายสินค้า มาตรฐานส้วมสะอาด พอเพียง ปลอดภัย (HAS) รวมทั้งยังเป็นศูนย์การเรียนรู้ ตลาดสด น่าซื้อ รักษ์สิ่งแวดล้อม ด้านระบบบำบัดน้ำเสียที่ทันสมัย และการแยกขยะเพื่อนำมาย่อยสลายได้ก๊าชชีวภาพ หรือไบโอแก๊ส นับว่าเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่ตลาดอื่นๆ ซึ่งสามารถนำไปปฏิบัติตามได้

    “ทั้งนี้ การพัฒนาตลาดสดให้ได้เกณฑ์ มาตรฐานตลาดสด น่าซื้อทั้ง 3 ด้านของกรมอนามัย ที่ได้กำหนดไว้ในกฏกระทรวง คือ 1) ด้านสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม เช่น โครงสร้างตลาดมีความมั่นคงแข็งแรง การรักษาความสะอาด การระบายอากาศ การรวบรวมขยะ การกำจัดน้ำเสีย การจัดวางสินค้าให้เป็นระเบียบเรียบร้อย และสุขวิทยาส่วนบุคคลของผู้ขายของ 2) ด้านความปลอดภัยของอาหาร แผงขายอาหารในตลาดผ่านเกณฑ์การตรวจสอบสารปนเปื้อนในอาหาร เช่น ตรวจไม่พบสารฟอร์มาลิน สารกันรา สารบอแรกซ์ สารฟอกขาว ยาฆ่าแมลง และตรวจไม่พบสารเร่งเนื้อแดงในเนื้อหมู และ 3) ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ผู้ประกอบกิจการตลาด ต้องจัดให้มีกิจกรรมด้านการคุ้มครองผู้บริโภค เช่น การจัดบอร์ดให้ความรู้แก่ผู้บริโภคในเรื่องเกี่ยวกับอาหารปลอดภัย จัดให้มีจุดทดสอบสารปนเปื้อนที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และจัดให้มีเครื่องชั่งกลางที่ได้มาตรฐานไว้บริการผู้บริโภค” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าว
       
       นายแพทย์ สุรวิทย์ กล่าวด้วยว่า จากการดำเนินงานตลาดสด น่าซื้อ ของกรมอนามัย ในปี 2554 พบว่า ตลาดประเภทที่ 1 (ตลาดที่มีโครงสร้างอาคาร) ทั่วประเทศมีจำนวน 1,533 แห่ง ผ่านเกณฑ์ตลาดสด น่าซื้อ จำนวน 1,302 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 84.93 แบ่งเป็นระดับดีมาก จำนวน 228 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 14.87 ระดับดี จำนวน 1,074 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 70.06 กระทรวงสาธารณสุขจึงต้องเร่งพัฒนาตลาดสดที่ยังไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานให้ถูก สุขลักษณะ เพื่อสร้างความมั่นใจด้านอาหารปลอดภัย หนุนครัวไทยสู่ครัวโลก รวมทั้งป้องกันการเกิดโรคระบาดต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นด้วย

 

http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9550000100503

16 สิงหาคม 2555

Next post > ผลวิจัยชี้คนไทยเจ็บเพราะเหล้า บุหรี่ ซิ่ง อ้วน

< Previous post นักวิจัยชี้"ไมเกรน" ไม่เกี่ยวข้องกับความจำ

Related Posts

ข่าวที่เข้าชมมากที่สุด ในรอบ 3 เดือน

HITAP เป็นข่าว ล่าสุด