logo

https://www.hitap.nethttps://www.hitap.nethttps://www.hitap.nethttps://www.hitap.net

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
“เมธีวิจัยอาวุโส” แถลงผลงาน เชื่อมงานวิจัย สู่นโยบาย ชู 2 โครงการเด่น – ตรวจตาเด็ก เพื่ออนาคตไทย และ ประเมินความคุ้มค่าการตรวจยีนป้องกันแพ้ยารุนแรง

วันที่ 13 สิงหาคม 2558 (นนทบุรี) ดร.นพ.ยศ ตีระวัฒนานนท์ หัวหน้าโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) ผู้รับทุน เมธีวิจัยอาวุโส สกว. สาขาเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข ปี 2555 และ รศ.ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) แถลงผลงานหลังสิ้นสุดโครงการเมธีวิจัยอาวุโส เพื่อพัฒนาศักยภาพนักวิจัยด้านการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพ HITAP มีผลงานวิจัยหลายชิ้นที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงนโยบายสาธารณสุขของประเทศ เช่น โครงการตรวจตาเด็ก เพื่ออนาคตไทย และการประเมินความคุ้มของการตรวจคัดกรองยีน HLA-B*1502 เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดผื่นแพ้ยารุนแรง จากยาคาบามาเซปีน ซึ่งทั้ง 2 โครงการอยู่ในระหว่างการดำเนินการเพื่อขยายผลในระดับประเทศ

ดร.นพ.ยศ กล่าวว่า “โครงการตรวจตาเด็ก เพื่ออนาคตไทย เกิดจากปัญหาการขาดระบบการตรวจรักษาความผิดปกติทางสายตา ในเด็กอายุ 3 – 12 ปี ซึ่งเป็นช่วงอายุสำคัญพัฒนาการทางสายตา หากไม่ได้รับการแก้ไข เสี่ยงต่อการพิการทางสายตาถาวร เราพบว่าเด็กไทย 1 ใน 10 มีความผิดปกติทางสายตา และร้อยละ 4 ของเด็กกลุ่มนี้สามารถกลับมาเห็นชัด หากได้รับการตรวจและให้แว่นตา”

“จากการศึกษาพบว่ามีเด็กประมาณ 570,000 คน มีสายตาผิดปกติ และจำเป็นต้องใส่แว่นสายตาจำนวน 350,000 คน ซึ่งมีเด็กประมาณ 80,000 คน ตัดแว่นใส่เองอยู่แล้ว แต่มีเพียง 20,000 คนเท่านั้นที่แว่นมีความถูกต้องตรงตามสายตา นอกจากนั้น นักทัศนมาตรศาสตร์ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเพื่อควบคุมมาตรฐานการตรวจคัดกรองสายตาในประเทศไทย ยังมีไม่เพียงพอต่อความต้องการในปัจจุบัน ทั้งนี้หากโครงการดังกล่าวพัฒนาเป็นนโยบายระดับชาติ จะทำให้เด็กในช่วงอนุบาล และประถมศึกษาราว 260,000 คน ได้รับแว่นตาเพื่อแก้ไขปัญหาการมองเห็น” ดร.นพ.ยศ กล่าว

HITAP ทำงานร่วมกับ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี เพื่อพัฒนารูปแบบการคัดกรองสายตาผิดปกติในเด็กอนุบาลและประถม พบว่าการให้ครูประจำชั้นช่วยคัดกรองสายตาเบื้องต้น ก่อนส่งต่อจักษุแพทย์เด็กเพื่อตรวจซ้ำและให้แว่นฟรี เป็นระบบที่เป็นไปได้ประเทศไทยที่มีจำนวนหมอตาเด็กไม่เพียงพอ ระบบนี้ใช้งบประมาณไม่สูงแต่สามารถแก้ปัญหาสายตาในเด็กก่อนที่จะสายเกินไป โครงการนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาให้เป็นนโยบายระดับชาติ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ภายในปีหน้า

อีกหนึ่งผลงานที่เชื่อมงานวิจัย สู่นโยบาย คือ งานวิจัยเพื่อตอบคำถามของผู้บริหารระบบประกันสุขภาพว่า จะคุ้มค่าหรือไม่ หากประกันสุขภาพให้บริการตรวจคัดกรองยีน HLA-B*1502 เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดผื่นแพ้ยารุนแรงที่อาจทำให้ตาบอดหรือเสียชีวิต HITAP จึงประเมินความคุ้มค่าของการตรวจคัดกรองยีนดังกล่าวในผู้ป่วยที่ต้องรับยาคาร์บามาเซปีน ผลวิจัย พบว่า เมื่อพิจารณาค่าความเต็มใจจ่ายที่ใช้ในปัจจุบัน การคัดกรองยีน HLAB*15:02 ให้ผู้ป่วย ก่อนให้ยาคาบามาเซปีน มีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์เฉพาะผู้ป่วยภาวะ neuropathic pain แต่ไม่มีความคุ้มค่าสำหรับโรคลมชัก อย่างไรก็ตามเมื่อคณะอนุกรรมการพัฒนาสิทธิประโยชน์และระบบบริการพิจารณาความพร้อมในการให้บริการ และความเท่าเทียมในเข้าถึงบริการของผู้ป่วย จึงมีมติให้บริการตรวจคัดกรองยีน HLA-B*1502 เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดผื่นแพ้ยาชนิดรุนแรง เป็นสิทธิประโยชน์สำหรับผู้ป่วยที่ต้องเริ่มการรักษาด้วยยาคาร์บามาเซปีนในทุกกรณี

ดร.นพ.ยศ กล่าวต่อว่า “ปัญหาค่าใช้จ่ายในระบบสุขภาพที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะที่ประเทศมีงบประมาณและทรัพยากรจำกัดในการให้บริการสุขภาพกับประชาชน การตัดสินใจใช้เงินกับผู้ป่วยโรคใดโรคหนึ่ง หรือยาตัวใดตัวหนึ่ง หมายถึงว่าคนอีกกลุ่มจะไม่ได้ใช้งบประมาณดังกล่าว ดังนั้นการตัดสินใจในระบบสุขภาพ มีขึ้นตลอดเวลา ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีข้อมูลวิชาการสนับสนุน แต่จะทำอย่างไรให้การตัดสินใจของผู้กำหนดนโยบายเหล่านั้นตั้งอยู่บนความโปร่งใส มีส่วนร่วม ตรวจสอบได้ และอาศัยข้อมูลวิชาการ”

“HITAP นำเสนอผลวิจัยดังกล่าวต่อ คณะอนุกรรมการพัฒนาสิทธิประโยชน์และระบบบริการ เพื่อพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รอบที่ 1 ของ พ.ศ. 2554 คณะอนุกรรมการฯ มติให้บริการตรวจคัดกรองยีน HLA-B*1502 เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดผื่นแพ้ยาชนิดรุนแรง เป็นสิทธิประโยชน์สำหรับผู้ป่วยที่ต้องเริ่มการรักษาด้วยยาคาร์บามาเซปีนในทุกกรณี”

เอกสารดาวน์โหลด

จดหมายเชิญสื่อมวลชน22 ธันวาคม 2024Download
กำหนดการแถลงข่าว22 ธันวาคม 2024Download
Fact Sheet_ผื่นแพ้ยา22 ธันวาคม 2024Download
Fact-Sheet_แว่นตา22 ธันวาคม 2024Download
7 สิงหาคม 2558

Next post > ดันตรวจยีนกันแพ้ยารุนแรงเข้าบัตรทอง

< Previous post ประชุมวิจัยโครงการงบจ่ายตามตัวชี้วัดเกณฑ์คุณภาพและผลงานบริการปฐมภูมิ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นปัญหาด้านสุขภาพ

Related Posts