logo

HITAP ร่วมมือกับกรมการแพทย์ จัดการประชุมผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในโครงการ “การพัฒนาแนวทางการประเมินความคุ้มค่าฯ ปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ เพื่อบรรจุในชุดสิทธิประโยชน์ ในระบบประกันสุขภาพของประเทศไทย”

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP

 พบโรคเมลิออยโดสิส ทำคนไทยตายมากเป็นลำดับ 3 รองจากเอดส์ และวัณโรค เฉลี่ยปีละกว่า 2,000 คน กรมวิทย์ จับมือ ม.ขอนแก่น พัฒนาชุดทดสอบอ่านเชื้อรวดเร็ว ช่วยแพทย์วิเคราะห์โรค
       
       เมื่อวันที่ 24 ก.ค.ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการและการวิจัย ด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์และการสาธารณสุข ระหว่างกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กับมหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อวิจัยพัฒนาชุดทดสอบเพื่อตรวจหาแอนติเจน และภูมิต้านทานต่อเชื้อโรคเมลิออยโดสิส โดยมี นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นประธาน
       
       ผศ.ดร.สุรศักดิ์ วงศ์รัตนชีวิน ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคเมลิออยโดสิส กล่าวว่า เชื้อ โรคเมลิออยโดสิส เป็นเชื้อแบคทีเรียที่พบได้ทั่วไปในพื้นดิน และแหล่งน้ำ เป็นเชื้อที่มีความทนทานต่อสภาพแวดล้อม โดยเฉพาะดินที่มีความเป็นกรด หรือความเค็ม โดยเชื้อดังกล่าวพบมากที่สุดในพื้นที่ภาคอีสาน เนื่องจากมีลักษณะเป็นดินร่วนปนทราย และบริเวณด้านล่างของชั้นดินเป็นแอ่งเกลือ ซึ่งมีความเค็มสูง โดยในฤดูร้อน เชื้อจะอยู่ลึกลงไปในชั้นดินประมาณ 30-40 เซนติเมตร ส่วนในฤดูฝนจะพบเชื้อบริเวณหน้าดินเพิ่มมากขึ้น 50-60% เมื่อผู้ป่วยได้รับเชื้อดังกล่าว ร้อยละ 50 จะเกิดอาการคล้ายปอดบวม วัณโรค และไข้หวัด หากมีการติดเชื้อในกระแสเลือด ทำให้มีโอกาสเสียชีวิตได้ภายใน 1-3 วัน และหากติดเชื้อแบบไม่เฉียบพลัน เชื้อจะเข้าไปหลบอยู่ในอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย ทำให้เกิดอาการเรื้อรังและเป็นซ้ำได้ ซึ่งยังไม่มีข้อมูลทางการแพทย์ ว่า เชื้อหลบอยู่อย่างไรในร่างกายและจะกำจัดอย่างไร
       
       ผศ.ดร.สุรศักดิ์ กล่าวอีกว่า โรคดังกล่าวจะติดเชื้อจากการสัมผัสกับดินและน้ำที่มีเชื้อ โดยเฉพาะเมื่อมีบาดแผล หรือ เชื้อเข้าทางปาก จมูก จำนวนมาก โดยมีกลุ่มเสี่ยง คือ ผู้ป่วยเรื้อรังเบาหวาน ธารัสซีเมีย ภูมิต้านทานต่ำ ซึ่งมักพบว่า กลุ่มที่ติดเชื้อส่วนใหญ่เป็นชาวนา ชาวสวน และผู้ป่วยเรื้อรังกลุ่มดังกล่าว ดังนั้น หากเป็นกลุ่มเสี่ยง หรือมีบาดแผลที่เท้า ที่มือ ควรใส่รองเท้าบูท ถุงมือยาง เพื่อป้องกันการสัมผัสโรค นอกจากนี้ ยังพบว่าเชื้อสามารถอยู่ในแหล่งน้ำได้เป็นเวลานาน การดื่มน้ำที่มีเชื้อโดยตรงจึงสามารถติดเชื้อได้ด้วย ทั้งนี้ จาก ข้อมูลสำนักระบาดวิทยา พบว่า โรคเมลิออยโดสิส เป็นโรคที่ทำให้คนไทยเสียชีวิตเป็นอันดับ 3 รองจากโรคเอดส์ และวัณโรค โดยแต่ละปีจะพบผู้ป่วยไม่ต่ำกว่า 5 พันราย ในจำนวนนี้ มีอัตราการเสียชีวิตประมาณ 40-50% หรือประมาณ 2,000 คนต่อปี โดยจังหวัดที่มีผู้ป่วยจำนวนมากที่สุด คือ จ.อุบลราชธานี อุดรธานี ขอนแก่น
       
       นพ.บุญชัย กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่างกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กับมหาวิทยาลัยขอนแก่น ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคเมลิออยโดสิส จะมีการร่วมมือในการวิจัยโครงการ “วิจัยและพัฒนาผลิตชุดทดสอบเพื่อตรวจหาแอนติเจน และแอนติบอดีต่อเอกซ์โซโพลีแซกคาไรด์ ของเชื้อ Burkholderia pseudomallei ด้วยเทคนิค Immunochromatography” เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่ติดเชื้อ จะมีอาการไข้ หนาวสั่น และมีอาการเหมือนติดเชื้อทั่วไป เช่น อ่อนเพลีย ไอ ทำให้แพทย์ไม่สามารถวินิจฉัยโรคได้ ต้องอาศัยการตรวจทางห้องปฏิบัติการเท่านั้น ที่ต้องใช้เวลาในการเพาะเชื้อ 48-72 ชั่วโมง จึงมีการพัฒนาชุดตรวจที่อ่านเชื้อได้รวดเร็วภายใน 15-20 นาที และแยกระหว่างผู้ที่เคยติดเชื้อ หรือ ติดเชื้อในระยะเฉียบพลันได้ จึงมีประโยชน์ต่อการรักษา เพราะโรคดังกล่าวมีระยะเวลาดำเนินโรคที่รวดเร็ว หากวิเคราะห์ได้เร็วก็จะเป็นผลดีต่อการรักษา

 

http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9550000091050

25 กรกฎาคม 2555

Next post > คาดไม่เกิน 5 ปี คนไทยมีวัคซีนป้องกันมือเท้าปาก

< Previous post เตรียมศึกษา “ตำรับยาเบญจามฤต” หลังพบมีประสิทธิภาพกำจัดเซลล์มะเร็ง

Related Posts

ข่าวที่เข้าชมมากที่สุด ในรอบ 3 เดือน

HITAP เป็นข่าว ล่าสุด