“MIDAS Medical Innovation Hackathon 2025” เวทีขับเคลื่อนนวัตกรรมทางการแพทย์ สู่สิทธิประโยชน์ของคนไทย

หนังสือพิมพ์: ข่าวสด
ฉบับวันที่: 28 พฤษภาคม 2015
น.ส.ชุติมา คำดี นักวิจัยโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายสุขภาพ (HITAP) กล่าวถึงโครงการวิจัยเรื่องการประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ของการคัดกรองมะเร็งช่องปาก เพื่อนำไปสู่การผลักดันการคัดกรองมะเร็งช่องปาก ว่า ปัจจุบันมะเร็งช่องปากพบมากเป็นอันดับ 6 หรือร้อยละ 4.8 ของมะเร็งที่พบในประเทศไทย จากรายงานอุบัติการณ์มะเร็งของไทย ปี 2550-2552 โดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติพบว่า มีอุบัติการณ์มะเร็งช่องปาก 8.8 รายต่อแสนประชากร เป็นชายและหญิง 4.9 และ 3.9 รายต่อแสนประชากรตามลำดับ จากอุบัติการณ์และข้อมูลประชากรไทยในปี 2556 ของกรมการปกครอง ไทยจะมีผู้ป่วยมะเร็งช่องปากรายใหม่ประมาณ 5,700 รายทั่วประเทศ
น.ส.ชุติมากล่าวต่อว่า ปัจจุบันการคัดกรองมะเร็งช่องปากทำได้ง่าย แต่ไทยยังไม่มีมาตรการคัดกรอง ซึ่งหากพบตั้งแต่ระยะแรกจะเพิ่มโอกาสการรักษาได้ โดยการ คัดกรองมะเร็งช่องปากด้วยสายตาโดยผู้ที่ได้รับการ ฝึกอบรมมาโดยเฉพาะ มีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ ลดอัตราการตายได้อย่างมีนัยสำคัญ ในประชากรที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ผู้ที่สูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์ แต่ปัจจุบันไทยไม่มีมาตรการคัดกรองมะเร็งช่องปากที่เป็นระบบ ส่งผลให้มีผู้ป่วยหนึ่งในสามเท่านั้น ที่มาพบแพทย์ในระยะก่อนการเกิดโรคและพัฒนาเป็นมะเร็ง การวิจัยความคุ้มค่าดังกล่าวจะหาความเป็นไปได้ โดยเปรียบเทียบ ประสิทธิภาพการคัดกรองระหว่างทันตาภิบาล กับอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ที่ผ่านการอบรมเหมือนกันว่า มีความแม่นยำในการคัดกรองต่างกันหรือไม่ รวมทั้งหาต้นทุนการคัดกรอง เพื่อนำไปวิเคราะห์ความเป็นไปได้ ในการลงทุนโดยรัฐ ว่าหากทำโครงการจะเกิดความคุ้มค่าและช่วยลดอัตราการเจ็บป่วยอย่างไร เพื่อเพิ่มโอกาส คัดกรองระดับชุมชน ซึ่งจะใช้ทดลองที่ จ.ร้อยเอ็ด โดยมีกรอบทำวิจัยให้เสร็จในเดือนพ.ย. โดยการศึกษานี้ จะเป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจ ของผู้กำหนดนโยบายด้านสุขภาพของประเทศต่อไป