logo
https://www.hitap.net
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP

หนังสือพิมพ์: เดลินิวส์

ฉบับวันที่: 26 พฤษภาคม 2015

รักษาตับอักเสบซี ‘สธ.’ชี้ยาไทยราคาถูก นักวิจัยเร่งศึกษาเสนอเข้าบัญชียา

สธ.เผยผลวิจัยยารักษาไวรัสตับอักเสบซีสูตรผสม ให้ผลทำลายเชื้อไวรัสได้ดีกว่ายาจากต่างประเทศราคาถูก แถมมีผลข้างเคียงน้อยกว่า นักวิจัยเตรียมศึกษาความคุ้มค่าทั้งเรื่องคุณภาพชีวิต ค่าใช้จ่าย ต้นทุนการรักษา คาดแล้วเสร็จในสิ้นปี เตรียมเสนอเข้าบัญชียาหลักแห่งชาติ
ภายหลังจากเครือข่ายองค์กรต้านเอดส์ ออกมาเรียกร้องให้กระทรวงสาธารณสุขประกาศใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรหรือซีแอล เพื่อแก้ปัญหายารักษาไวรัสตับอักเสบซี ของบริษัทต่างชาติ ซึ่งมีราคาแพงถึงเม็ดละ 30,000 บาท หากรักษา 3 เดือน จะใช้เงินถึง 2.5 ล้านบาท
ความคืบหน้า เมื่อวันที่ 25 พ.ค. พญ. ธัญญรัตน์ อโนทัยสินทวี นักวิจัยโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพหรือไฮแทป กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการศึกษาผลการเปรียบเทียบยารักษาไวรัสตับอักเสบซี ว่าปัจจุบันการรักษาผู้ป่วยไวรัสตับ อักเสบซีมีการใช้ยาฉีดสูตรผสมระหว่างพิลกิเลเต็ด อินเตอร์ฟีรอน กับยาไรบาไวริน หรือ พีอาร์ ราคาอยู่ที่เข็มละ 3,000 บาท ต้องรักษาประมาณ 48 สัปดาห์ ค่าใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณ 1.5 แสนบาท แต่การรักษาด้วยยาฉีดดังกล่าวมีผลข้างเคียงมาก เช่น โลหิตจาง เหนื่อยล้า ซึมเศร้า ฯลฯ จึงเริ่มมองหายาตัวใหม่มาทดแทนโดยมียากินกลุ่มไดเร็ค แอคติ้ง แอนติไวรอล เอเจนท์ ซึ่งเป็นยายับยั้งการแบ่งตัวของเชื้อไวรัสตับอักเสบซีจึงมีประสิทธิผลสูงกว่า และพบอาการข้างเคียงน้อยกว่า
พญ.ธัญญรัตน์ กล่าวว่า ปัจจุบันมียากินกลุ่มใหม่นี้หลายตัว เช่น ยาโซฟอสบูเวียร์ ยาไซมิพรีเวียร์ ยาดาคลาทาสเวียร์ และยาเลดิพาสเวียร์ เป็นต้น ทีมวิจัยของไฮแทปจึงทบทวนผลการศึกษากว่า 846 ชิ้นทั่วโลก เปรียบเทียบประสิทธิภาพของยาสูตรพื้นฐาน พีอาร์ และยาตัวใหม่ ๆ ด้วยการวัดปริมาณเชื้อไวรัสหลังรับยาไปแล้ว 12 สัปดาห์และประเมินอาการข้างเคียงของยาต่อปริมาณเม็ดเลือดแดงต่ำ พบว่าผู้ป่วยตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาสูตรพีอาร์เดี่ยว ๆ ร้อยละ 52.62 ส่วนใช้ยาผสมระหว่างยาสูตรพีอาร์และโซฟอสบูเวียร์พบผู้ป่วยตอบสนองต่อการรักษาเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 84.03 การใช้ยาสูตรพีอาร์ร่วมกับยาไซมิพรีเวียร์พบผู้ป่วยที่ตอบสนองต่อการรักษาร้อยละ 81.85 และหากใช้ยาพีอาร์ร่วมกับยาดาคลาทาสเวียร์มีผู้ป่วยที่ตอบสนองต่อการใช้ยาร้อยละ 63.53 ตรงนี้จะเห็นว่าการใช้ยาสูตรผสมค่อนข้างได้ผลดีแต่ในประเทศไทยยังไม่มีการใช้ยาสูตรใหม่ ๆ
“ไฮแทปจะศึกษาความคุ้มค่าโดยดูจากคุณภาพชีวิต ค่าใช้จ่ายด้านต่าง ๆ ต้นทุนการตรวจรักษา รวมถึงโรคตับแข็งและมะเร็งตับซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสตับอักเสบซี เป็นต้น คาดว่าจะแล้วเสร็จปลายปีนี้ จากนั้นจะเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาว่าจะนำเข้าบัญชียาหลักแห่งชาติหรือไม่ต่อไป.”

 

เอกสารดาวน์โหลด

20 มกราคม 2025Download
27 พฤษภาคม 2558

Next post > ชง2ทางคุมราคายารพ.เอกชนออกใบสั่งยาคนไข้ซื้อเองคิดราคาต้นทุนโรงงาน

< Previous post Fact sheet: การประเมินความเป็นไปได้ของมาตรการตรวจคัดกรองมะเร็งช่องปากในชุมชน

Related Posts

ข่าวที่เข้าชมมากที่สุด ในรอบ 3 เดือน

HITAP เป็นข่าว ล่าสุด