logo
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP

http://bit.ly/LTTG5I

แพทย์แนะรัฐบาล สร้างความเสมอภาคผู้ป่วยมะเร็ง ชี้ 3 กองทุนต่างกันมาก เข้าไม่ถึงยาจำเป็นที่มีราคาแพง ระบุผู้ป่วยบัตรทองรันทดสุด บัตรทองไม่ครอบคลุม ยาจำเป็นบางชนิดอยู่นอกบัญชียาหลัก ผู้ป่วยไม่มีเงิน ต้องนอนรอความตาย

 ศ.นพ.ธานินทร์ อินทรธรกำชัย นายกสมาคมโลหิตวิทยาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งในแต่ละกองทุนยังมีความแตกต่างกันมาก เช่น การรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลือง ชนิด บีเซลล์ ซึ่งเป็นชนิดที่พบมากถึง 80 % ในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ทั้งนี้ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พบว่า การรักษาโดยใช้ แอนติบอดี้ ที่จำเพาะต่อเซลล์มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด บี เซลล์ คือ Rituximab  ซึ่งเป็นยามาตรฐานสำหรับรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่ใช้กันทั่วโลก ร่วมกับการให้เคมีบำบัด สามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยให้หายขาดได้  อย่างไรก็ตามยาดังกล่าวมีราคาแพง เข็มละ 80,000 บาท คนไข้ต้องรักษาถึง 6 ครั้ง ทำให้ยาดังกล่าวไม่ถูกบรรจุลงในระบบบัญชียาหลักทำให้ผู้ป่วยบัตรทองไม่ได้ รับยาดังกล่าว ต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง ขณะที่ผู้ป่วยในระบบกองทุนสวัสดิการข้าราชการสามารถเบิกค่ายาได้ตามปกติ แต่หากเป็นระบบประกันสังคมขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ว่าจะรักษาหรือไม่ เพราะยามีราคาแพงซึ่งหมายถึงต้นทุนรักษาของรพ.นั้นเอง

 
“ที่ผ่านมาทางสมาคมฯได้พยายามผลักดันให้ผู้กำหนดนโยบายบรรจุยาดังกล่าว ลงไปในระบบบัญชียาหลัก เพราะเห็นว่ายาดังกล่าวสามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยให้หายขาดได้ แม้จะมีราคาแพง แต่สัดส่วนผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองในบ้านเรายังไม่สูงมากเมื่อเทียบกับ มะเร็งชนิดอื่น เช่น มะเร็งปอด มะเร็งปากมดลูก หรือมะเร็งเต้านม แต่เมื่อใช้ยานี้กับผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลือง สามารถรักษาจนหายขาดแล้วไม่จำเป็นต้องได้รับยาอีก ซึ่งต่างจากโรคอื่นๆ เช่น โรคไตหรือเบาหวาน ที่ต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง จึงถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า”ศ.นพ.ธานินทร์ กล่าว
 
ศ.นพ.ธานินทร์ กล่าวว่า  นอกจากมะเร็งต่อมน้ำเหลืองแล้ว การรักษาโรคมะเร็งโลหิตชนิดเฉียบพลัน โดยการปลูกถ่ายไขกระดูก ก็ยังมีความเหลื่อมล้ำในเรื่องของค่ารักษาพยาบาลใน 3 กองทุนเช่นกัน ซึ่งหากเป็นผู้ป่วยในกองทุนสวัสดิการข้าราชการจะสามารถเบิกค่ารักษาได้ ขณะที่บัตรทอง จะเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลแบบระบบเหมาจ่าย  ซึ่งจำนวนเงินที่ได้ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายจริง ทำให้โรงพยาบาลต้องแบบรับภาระขาดทุน  ส่งผลให้มีโรงพยาบาลบางแห่งแก้ปัญหาโดยการให้ผู้ป่วยร่วมจ่าย ซึ่งยอมรับว่าเป็นวิธีที่ไม่ถูกต้อง  เพราะเป็นการผลักภาระให้ผู้ป่วย  ดังนั้นกรมบัญชีกลางจึงควรปรับอัตราค่ารักษาแบบเหมาจ่ายให้มีความเหมาะสม มากขึ้น และเห็นว่า ขณะที่รัฐบาลซึ่งกำลังเดินหน้าลดความเหลื่อมล้ำใน 3 กองทุน ควรพิจารณาเร่งแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำให้กับผู้ป่วยมะเร็งด้วย โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยบัตรทอง ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ของประเทศ และส่วนใหญ่มีฐานะยากจน
18 มิถุนายน 2555

Next post > มติ สปสช.เห็นชอบเก็บค่ารักษาพยาบาล - 6 เดือนแรกเริ่มเก็บ ร.พ.ขนาดใหญ่ก่อน

< Previous post สธ.เล็งเพิ่มบุคลากรสาธารณสุข ก่อนเปิดประชาคมอาเซียน

Related Posts

ข่าวที่เข้าชมมากที่สุด ในรอบ 3 เดือน

HITAP เป็นข่าว ล่าสุด