logo

HITAP ร่วมมือกับกรมการแพทย์ จัดการประชุมผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในโครงการ “การพัฒนาแนวทางการประเมินความคุ้มค่าฯ ปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ เพื่อบรรจุในชุดสิทธิประโยชน์ ในระบบประกันสุขภาพของประเทศไทย”

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP

Credit by http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9550000069307

      วานนี้ (6 มิ.ย.)นพ.พูลชัย จิตอันตวิทยา ที่ปรึกษาภาคีวิชาชีพหมออนามัยแห่งประเทศไทย กล่าวในงานเสวนา “ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม ระบบสุขภาพมาตรฐานเดียว” ที่โรงแรมริชมอน นนทบุรี ซึ่งจัดขึ้นโดยความร่วมมือของชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ และผู้ประสานงานโครงการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก 1 ล้านราย ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ว่า จากอันตรายของมะเร็งปากมดลูก ทำให้ที่ผ่านมา สปสช.เน้นการตรวจคัดกรองเพื่อป้องกันการเกิดโรค โดยในปี 2554 สปสช.มีโครงการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก 1 ล้านราย ซึ่งการจะตรวจจำนวนนี้ต้องหากระบวนการตรวจที่ใช้เวลาเพียง 1 นาทีเท่านั้น เน้นลงพื้นที่ตรวจคัดกรอง มีเจ้าหน้าที่คอยลงทะเบียน ลดขั้นตอนการตรวจต่างๆ ทำให้ใช้เวลาน้อยลง อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา พบว่า สาวโรงงานเป็นกลุ่มเสี่ยงหนึ่งที่ทำงานตั้งแต่อายุน้อย และงานหนัก จนแทบไม่มีเวลาดูแลตัวเอง ขณะเดียวกัน พบว่า เมื่อทำงานอายุน้อยก็มีแฟนเร็วขึ้น โอกาสเสี่ยงก็มีมากกว่าคนทั่วไป
       
       นพ.พูลชัย กล่าวด้วยว่า ด้วยเหตุนี้ได้เข้าไปตรวจในโรงงานแห่งหนึ่งในนิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งสามารถตรวจผู้มีสิทธิ 4,218 ราย ใน 10 คืน พบว่า มี 3 ราย เป็นมะเร็งระยะเริ่มต้น และ 44 ราย เป็นระยะที่กำลังจะเป็นมะเร็ง โดยทั้ง 47 รายนั้น มีสิทธิในระบบประกันสังคมกับโรงพยาบาล (รพ.) เอกชน 6 แห่ง และจากการดำเนินการตรวจตั้งแต่กรกฎาคม 2554 รายงานผลต้นเดือนกันยายน 2554 หลังจากนั้น ได้ให้คำปรึกษาว่า ต้องรักษาอย่างไรต่อไป แต่ปัญหาคือ ผู้ตรวจทั้ง 47 รายมีสิทธิรักษาตามประกันสังคมใน รพ.6 แห่ง ซึ่งปกติจะรักษาด้วยวิธี LEEP คือ แพทย์จะใช้กล้องส่องปากมดลูกและปาดผิวของปากมดลูกที่เป็นรอยโรคออก ซึ่งวิธีนี้เป็นการรักษาระยะเริ่มแรก หากรักษาทันก็หายขาด ที่สำคัญ เครื่องมือถูกมากประมาณหมื่นบาท แต่ปรากฏว่า รพ.ดังกล่าวซึ่งมีเตียง 100 เตียงขึ้นไป กลับบอกไม่มีเครื่องมือนี้ ซึ่งตามขั้นตอน รพ.ต้องส่งต่อ แต่ รพ.ไม่ยอมรับผลตรวจคัดกรอง ถ้าอยากรักษาต้องตรวจใหม่ และต้องจ่ายเอง เพราะผู้ประกันตนสงสัย ไม่ใช่หมอสงสัย ซึ่งผู้ประกันตนก็ยอมจ่ายค่าตรวจเอง 700 บาท ใช้เวลา 1 เดือน กว่าจะรู้ผลสรุป คือ ทั้ง 47 คนต้องตรวจใหม่ และมี รพ.ธรรมศาสตร์ เข้ามารับช่วงรักษาต่อ โดยเพิ่งได้รับการรักษาเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา แต่ยังเหลืออีก 4 คน เท่ากับเป็นการเสียเวลา และทำให้ภาวะโรครุนแรงขึ้นเรื่อยๆ
นพ.พูลชัย กล่าวเพิ่มว่า ในระบบประกันสังคมไม่มีการตรวจคัดกรอง ส่วนการรักษานั้น ที่ผ่านมา มักเป็นการรักษามะเร็งระยะลุกลามมากกว่า เนื่องจาก รพ.เอกชนส่วนใหญ่ไม่มีเครื่องมือ LEEP ซึ่งอาจมาจากไม่เน้นการตรวจคัดกรองระยะแรก ทำให้การรักษาระยะแรกไม่มีเตรียมการ ดังนั้น จึงอยากเสนอแนะให้ สปส.ให้ความสำคัญ กับการตรวจคัดกรองด้วย ไม่ใช่มุ่งการรักษาระยะลุกลามเท่านั้น เพราะโรคนี้ทรมานไม่แพ้โรคอื่นๆ ดังนั้น รัฐบาลควรมีนโยบายรักษาโรคมะเร็งปากมดลูกให้ได้มาตรฐานเดียวทั้ง 3 ระบบด้วย
       
       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายในงานได้มีการเสนอปัญหาจากภาคประชาชนเกี่ยวกับนโยบายลดความเหลื่อมล้ำการให้บริการผู้ป่วยฉุกเฉิน 3 กองทุน คือ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ประกันสังคม และสิทธิสวัสดิการข้าราชการ
       
       โดย นายนิมิตร์ เทียนอุดม เลขาธิการชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน กล่าวว่า นโยบายลดความเหลื่อมล้ำกรณีผู้ป่วยฉุกเฉินมาตรฐานเดียวนั้นถือว่าดี แต่ทางปฏิบัติมีปัญหาโดยเฉพาะผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินจากอุบัติเหตุรถยนต์ ซึ่งไม่รวมในนโยบายดังกล่าว สิ่งสำคัญผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินต้องยืนยันไม่จ่ายให้กับทาง รพ.เอง โดยต้องยืนยันว่า อยู่ในนโยบายรัฐบาล ซึ่งทราบมาว่า ล่าสุด ทางรองปลัดกระทรวงการคลัง และ สปสช.อยู่ระหว่างหารือว่าจะทำอย่างไรในการรวมเอา พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 เข้าร่วมนโยบายดังกล่าว เพราะที่ผ่านมาทางกองทุนผู้ประสบภัยจากรถ ระบุว่า ไม่สามารถเข้าร่วมได้ เพราะกองทุนนี้จะให้เฉพาะผู้ที่ประสบภัยโดยตรง
 

7 มิถุนายน 2555

Next post > สธ.ปลุกกระแสเต้น “ฮูลาฮูป” สลายพุง หนุน รพ.ในสังกัดเปิดลานบริการ

< Previous post รพ.พระมงกุฎฯ อวดนวัตกรรมการผ่าตัดโรคอ้วน สำเร็จกว่า 80%

Related Posts

ข่าวที่เข้าชมมากที่สุด ในรอบ 3 เดือน

HITAP เป็นข่าว ล่าสุด