ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
แฟ้มข้อมูลประกอบ:
ในระหว่างวันที่ 28 – 29 กุมภาพันธ์ 2555 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมสยามซิตี้ กรุงเทพฯ ผู้เชี่ยวชาญทั้งชาวไทยและต่างชาติ ร่วมประชุมระดมสมองเพื่อหาแนวทางสร้างเสริมสุขภาวะเด็กตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาจนเข้าโรงเรียนอนุบาล ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ “โครงการวิจัยอนาคตไทยเพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะเด็ก 0-5 ปี” เหตุที่ทำให้ต้องเพิ่มความเอาใจใส่ต่อเด็กในวัยนี้ ก็เนื่องด้วยโครงสร้างประชากรไทยกำลังเปลี่ยนแปลง ในขณะที่เด็กในวันนี้ คือผู้ใหญ่ในวันหน้าที่ต้องแบกรับภาระของชาติ แต่ข้อบ่งชี้หลายอย่างแสดงให้เห็นว่าเด็กไทยอาจยังไม่พร้อมเป็นกำลังของชาติ หากปัญหาไม่ได้รับการแก้ไข ก็คงพอมองเห็นภาพอนาคตของประเทศที่ไม่สดใสนัก
ข้อมูลจากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เผยให้เห็นแนวโน้มโครงสร้างของประชากรไทยที่กำลังจะเปลี่ยนไป ในอีก 20 ปี ข้างหน้า จะเกิดการพลิกผันแบบหน้ามือเป็นหลังมือ มีการคาดเดาว่า ในปี พ.ศ. 2578 อัตราส่วนวัยแรงงานต่อผู้สูงอายุจะลดลงเหลือเพียง 2 ต่อ 1 นั่นหมายถึง ผู้สูงอายุ 1 คนในเวลานั้น จะมีวัยแรงงานเป็นกำลังให้พึ่งพิง เพียง 2 คน! สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจากอัตราการเกิดที่ลดลงเรื่อยๆ ตั้งแต่ปี 2548 ซึ่งจะลดลงไปเกือบ 2 เท่าใน 20 ปีข้างหน้า ประกอบกับจำนวนผู้สูงอายุที่มากขึ้น เนื่องจากการที่คนมีอายุยืนยาวขึ้นนั่นเอง ตัวเลขเหล่านี้แสดงให้เห็นชัดเจนว่า คนวัยทำงานในอีก 20 ปีข้างหน้าจะต้องรับภาระหนักมากในการพัฒนาสังคมให้รองรับผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น คำถามที่น่าสนใจคือ เด็กยุคนี้ที่จะก้าวไปเป็นกำลังของชาติในวันข้างหน้า พร้อมหรือยังที่จะเข้ามารับช่วงที่พ่วงภาระใหญ่ในการดูแลกลุ่มคนในวัยกลางคนในวันนี้ที่กำลังจะก้าวไปเป็นกลุ่มผู้สูงอายุจำนวนมากในอนาคต ?
ดร.นพ.ยศ ตีระวัฒนานนท์ หัวหน้าโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) หนึ่งในคณะนักวิจัยในโครงการวิจัยอนาคตไทยเพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะเด็ก 0-5 ปี ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของ ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย กับ 3 หน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุข คือ กรมอนามัย โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ และโครงการพัฒนาเครื่องชี้วัดภาระโรคและปัจจัยเสี่ยงของประเทศไทย และสนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า “ข้อมูลของสถาบันวิจัยประชากรและสังคมชี้ให้เห็นว่า เด็กไทย ต้องได้รับการพัฒนาให้มีคุณภาพ ต้องเก่ง ดี และแข็งแรงกว่าคนรุ่นเดียวกันเมื่อ 50 ปีที่แล้วหลายเท่าตัวเพื่อที่จะดูแลสังคมในอนาคตได้ อย่างไรก็ดี ข้อมูลจากงานวิจัยอนาคตไทยเพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะเด็ก 0-5 ปี พบประเด็นที่น่าเป็นห่วงหลายประการ งานวิจัยชิ้นนี้เผยให้เห็นว่าเด็ก ๆ ในช่วงอายุ 0-5 ปี กำลังเติบโตมาท่ามกลางปัญหามากมายซึ่งส่งผลเสียทั้งด้านกายและจิตใจ”
“การเจริญเติบโตและพัฒนาการของสมอง การมองเห็น การได้ยิน การควบคุมอารมณ์ รวมทั้งทักษะด้านภาษาและสังคม ในช่วงอายุ 0-5 ปี เป็นต้นทุนสำคัญของการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพในอนาคต หลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว มีการวางโครงสร้างการดูแลสุขภาวะของแม่และเด็ก อย่างเป็นระบบ ไม่ว่าจะเป็น ญี่ปุ่น แคนาดา สหรัฐอเมริกา หรือไต้หวัน น่าที่ประเทศไทยจะศึกษาตัวอย่างดีๆ นี้ มาพัฒนานโยบายสร้างเสริมสุขภาวะและป้องกันโรคของคนกลุ่มนี้อย่างเป็นระบบ” รศ.พญ.ลัดดา เหมาะสุวรรณ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หนึ่งในคณะนักวิจัย กล่าว
รศ.พญ.ลัดดา เสริมว่า “ปัจจัยที่บั่นทอนคุณภาพเด็กไทย ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะเมื่อเด็กเริ่มเข้าสังคม หรือเริ่มเป็นวัยรุ่น อย่างที่หลาย ๆ ฝ่ายกังวล หากเริ่มตั้งแต่ในครรภ์มารดาเลยทีเดียว” งานวิจัยชิ้นนี้ชี้ให้เห็น 6 ปัญหาหลักที่ต้องเร่งแก้ไข เริ่มตั้งแต่ แม่ที่ไม่พร้อม โดยเฉพาะปัญหาพ่อ-แม่วัยรุ่น เด็กที่เกิดจากแม่วัยรุ่น มีแนวโน้มน้ำหนักน้อยหรือเกิดก่อนกำหนด อวัยวะบางส่วนพัฒนาไม่เต็มที่ อีกทั้งพ่อ-แม่ยังประสบปัญหาชีวิตรอบด้าน อาจไม่มีเวลาและขาดทักษะในการเลี้ยงดู เด็กที่เกิดมาจึงเสี่ยงที่จะมีพัฒนาการไม่สมบูรณ์และปัญหาสุขภาพในระยะยาว”
ปัญหาถัดมาคือ การคัดกรองความผิดปกติของเด็กในครรภ์และแรกคลอด แม้จะมีการกำหนดเป็นบริการมาตรฐาน แต่การดำเนินงานยังไม่ครอบคลุม ด้วยไม่สามารถติดตามให้มีการตรวจคัดกรองและให้คำแนะนำกับพ่อ-แม่ทุกคู่อย่างสมบูรณ์ ส่งผลให้เด็กไทยจำนวนไม่น้อยเกิดมาพร้อมกับการเป็นโรคโลหิตจาง (ธาลัสซีเมีย) โรคเอ๋อ (ภาวะพร่องไทรอยด์ฮอร์โมน) และ ดาว์นซินโดรม ทั้งๆ ที่ภาวะความผิดปกติเหล่านี้ สามารถป้องกันได้ด้วยการตรวจคัดกรองแต่เนิ่น ๆ
เมื่อเติบใหญ่ ก็ยังพบว่าเด็กไทยมีปัญหา การเจริญเติบโตและพัฒนาการไม่เป็นไปตามวัย น้ำหนัก ส่วนสูงต่ำกว่ามาตรฐาน หรือมีปัญหาพัฒนาการล่าช้าโดยเฉพาะด้านภาษา มีปัญหาด้านการเรียนรู้และสมาธิสั้น นอกจากนี้ยังพบเด็กจำนวนมากมี ความผิดปกติด้านการได้ยินและมองเห็น โดยที่ไม่ทราบเลยว่าสิ่งเหล่านี้คือความผิดปกติ เพราะรัฐไม่จัดบริการตรวจค้นหาปัญหาเหล่านี้ ทั้งนี้หากได้รับการตรวจและมีขั้นตอนการส่งต่อรักษา จะช่วยให้เด็กกลับมามีชีวิตปกติได้ รศ.พญ.ลัดดา กล่าว
นอกจากนี้ ยังพบปัญหาคุณภาพของศูนย์เด็กเล็ก ซึ่งเป็นสถานที่ดูแลเด็ก 3 – 5 ปี จำนวนกว่า 50 % ของประเทศ การสำรวจของกรมอนามัยชี้ว่า เด็กในศูนย์ฯ จำนวนมากไม่ได้รับการดูแลอย่างถูกต้อง เนื่องจากแออัด ขาดบุคลากรที่มีความรู้ ขาดงบประมาณและการจัดการที่มีประสิทธิภาพ สุดท้ายเป็นปัญหาที่หลายฝ่ายเริ่มหันมาให้ความสนใจ คือ เด็กไทย มีโภชนาการไม่เหมาะสม มีทั้งขาดและเกิน โดยเฉพาะโรคอ้วนที่พบมากขึ้นจนน่าเป็นห่วง ปัญหาดังกล่าว มีสาเหตุจากการเลี้ยงดูของครอบครัวและปัจจัยแวดล้อมที่มีผลต่อพฤติกรรมการกินและการเคลื่อนไหวร่างกายของเด็ก และการดำเนินมาตรการป้องกันในระบบบริการสุขภาพต่างๆที่มีอยู่ยังไม่ดีพอ
พญ.นิพรรณพร วรมงคล นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ สำนักที่ปรึกษา กรมอนามัย หนึ่งในคณะนักวิจัยยังระบุว่า “จากการทบทวนสถานการณ์ นโยบายและมาตรการด้านสุขภาวะของเด็ก 0 – 5 ปี เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับนโยบาย ในประเทศอื่นๆ เช่น แคนาดา ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ไต้หวัน สิงคโปร์และประเทศในกลุ่มตะวันออกกลาง พบว่าประเทศไทยจำเป็นต้องมีการผลักดันให้มีการปรับปรุงการสร้างเสริมสุขภาพสำหรับเด็กวัย 0 – 5 ปี โดยเร่งด่วน และทำอย่างเป็นระบบ โดยมีความร่วมมือกันตั้งแต่ผู้ปกครอง ศูนย์เด็กเล็ก โรงพยาบาล องค์กรปกครองท้องถิ่น จนถึงผู้กำหนดนโยบายระดับชาติ เช่น กระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นต้น”
ข้อมูลเหล่านี้เหมือนจิ๊กซอว์ที่ทำให้การคาดการณ์อนาคตประเทศไทยปรากฏขึ้นเป็นภาพที่น่ากังวล ประชากรวัยทำงานจะต้องแบกรับภาระการเลี้ยงดูผู้สูงอายุมากขึ้น ขณะเดียวกันปัจจัยสังคมในปัจจุบันก็ส่งผลให้เด็กที่จะเติบโตขึ้นรับช่วงการดูแลบ้านเมืองของเรามีคุณภาพน้อยลง หากยังไม่มีการเอาจริงเอาจังจากทุกภาคส่วนในการพัฒนาคนรุ่นใหม่ให้มีทั้งกำลังและคุณภาพ ก็อาจต้องเตรียมนับถอยหลังกันได้
1 มีนาคม 2555