logo

HITAP ร่วมมือกับกรมการแพทย์ จัดการประชุมผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในโครงการ “การพัฒนาแนวทางการประเมินความคุ้มค่าฯ ปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ เพื่อบรรจุในชุดสิทธิประโยชน์ ในระบบประกันสุขภาพของประเทศไทย”

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
รับเด็กไทยมีปัญหารอบด้าน สธ. เอาจริง ร่วม สปสช. แก้ไข
แฟ้มข้อมูลประกอบ:

วันที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2555 ณ โรงแรมสยามซิตี้ รมช.สุรวิทย์ จับมือผู้บริหาร สปสช. กรมอนามัย และ ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ แถลงข่าวรรับแก้ปัญหาเด็ก 0-5 ปี ในเรื่องสำคัญ 6 ด้าน ตั้งแต่ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ป้องกัน คัดกรอง และรักษาโรค ไปจนถึงส่งเสริมพัฒนาการและพัฒนาศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก

รศ.พญ.ลัดดา เหมาะสุวรรณ ตัวแทนราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยซึ่งเป็นหนึ่งในทีมวิจัย นำเสนอผลวิจัยโดยระบุว่า ปัจจุบันเด็ก 0-5 ปี มีปัญหาสุขภาวะที่กระทบต่อร่างกายและพัฒนาการมากมายจะส่งผลให้กลายเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่มีคุณภาพและเกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ ซึ่งปัญหาเหล่านี้ได้แก่ ได้แก่ 1)การตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อม 2)ภาวะความผิดปกติแต่กำเนิด 3)พัฒนาการผิดปกติ 4)ภาวะพร่องโภชนาการและภาวะโภชนาการเกิน 5)ภาวะผิดปกติทางสายตาและการได้ยิน และ 6)การขาดคุณภาพของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก

นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า “เห็นด้วยกับผลการวิจัย ในฐานะผู้แทนจากฝ่ายการเมืองรัฐบาลจะรับไปประสานและหาวิธีแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการจัดการปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น และการพัฒนาศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ซึ่งเป็นปัญหาที่มีความซับซ้อนต้องการความร่วมมือและการดำเนินงานอย่างจริงจังจากทุกภาคส่วน”

นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แถลงต่อแนวทางแก้ไขของ สปสช. ต่อปัญหาภาวะความผิดปกติแต่กำเนิด ว่า “สปสช. ให้การสนับสนุนการคัดกรองความผิดปกติในเด็กแรกเกิดปีละหลายร้อยล้านบาท และรับว่าจำเป็นจะต้องนำผลการศึกษาวิจัยนี้ไปประกอบการปรับปรุงวิธีบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สปสช. จะทำงานใกล้ชิดกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบศูนย์พัฒนาเด็กเล็กกว่า 19,000 แห่งทั่วประเทศ ที่กำลังดูแลเด็ก 0-5 ปีกว่า 3.6 ล้านคน เพื่อพัฒนาทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ”

นอกจากนี้ จากผลการศึกษาระบุปัญหาสำคัญอย่าง ความผิดปกติการได้ยินและมองเห็นของเด็กไทย ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา ประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยเสนอว่า “ราชวิทยาลัยกุมารฯ สนับสนุนให้มีการเฝ้าระวังและติดตามพัฒนาการของเด็กเป็นระยะ เพื่อคัดกรองเด็กที่มีปัญหาด้านพัฒนาการ สำหรับเด็กที่มีปัญหาทางการได้ยินแต่กำเนิดหรือที่เกิดภายหลังจะต้องมีการตรวจคัดกรองตั้งแต่แรกเกิดถึงอายุสามปี ถ้าหูตึงเราสามารถใส่เครื่องช่วยฟังได้ ถ้าหูหนวกรุนแรงเราสามารถผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมได้ ความผิดปรกติในสายตาก็เช่นกันถ้ามีการตรวจคัดกรองตั้งแต่วัยก่อนเรียนหรือในระยะแรกที่เข้าเรียน และสนับสนุนแว่นสายตาช่วยเหลือเด็กให้เห็นและพัฒนาปกติได้ การตรวจคัดกรองต่างๆ จะช่วยให้เด็กได้พัฒนาเต็มศักยภาพ ถ้าเราวินิจฉัยได้ช้าเด็กเหล่านี้จะเสียโอกาสและสร้างปัญหาให้แก่ประเทศชาติในระยะยาว”

ดร.นพ.สมยศ ดีรัศมี อธิบดีกรมอนามัย แถลงถึงผลการทำงานการแก้ไขปัญหาการเจริญเติบโตและโภชนาการไม่เหมาะสมของเด็กไทย ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เช่น โครงการโรงพยาบาลสายใยรักแห่งครอบครัว และการพัฒนาคลินิกสุขภาพเด็กดีในโรงพยาบาลทุกแห่ง พบว่า แม้จะยังมีปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงาน แต่ขนาดของปัญหาลดลงรวมทั้งชุมชนและครอบครัวเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น ทั้งนี้กรมอนามัยเห็นว่าเด็กไทยทุกคนต้องได้รับบริการสุขภาพขั้นพื้นฐาน เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว กรมอนามัยจึงมุ่งมั่นพัฒนาศักยภาพของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทุกระดับสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับคลินิกสุขภาพเด็กดี เช่น ชุดประเมินพัฒนาการ เครื่องชั่งน้ำหนักและที่วัดส่วนสูงของเด็ก รวมทั้งสนับสนุนให้เด็กทุกคนได้รับยาน้ำเสริมธาตุเหล็กมากขึ้น ซึ่งกรมอนามัยรับเอาข้อเสนอแนะจากนักวิจัยไปดำเนินการและขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรม

ซึ่งทั้งหมดสนับสนุนข้อคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญชาวต่างชาติจากสิงคโปร์ แคนาดา ญี่ปุ่น และองค์การอนามัยโลกที่เห้นพ้องกันว่าข้อเสนอแนะจากผลการวิจัยดังกล่าวเป็นเรื่องที่ควรดำเนินการ อย่างไรก็ตามความท้าทายสำหรับประเทศไทยอยู่ที่ความร่วมมือของทุกภาคส่วน ตั้งแต่ผู้นำรัฐบาล ระบบประกันสุขภาพ ผู้ประกอบวิชาชีพ ไปจนถึงชุมชนและที่สำคัญที่สุดคือผู้ปกครอง

1 มีนาคม 2555

Next post > อนาคตไทย อาจต้องฝากไว้กับคนรุ่นใหม่ที่ยังไม่พร้อมเป็นกำลังของชาติ

< Previous post นักวิจัยชู 6 ประเด็นปัญหาสุขภาพ คุกคามพัฒนาการเด็กไทย ยื่นข้อเสนอต่อผู้เกี่ยวข้อง เร่งแก้ปัญหา

Related Posts

ข่าวที่เข้าชมมากที่สุด ในรอบ 3 เดือน

ข่าวสาร HITAP ล่าสุด