ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยและคณะกรรมการกลางอิสลามประจำจังหวัด เข้าพบ รมว.วิทยา
ขานรับนโยบายรัฐบาล สนับสนุนให้มัสยิดเป็นศูนย์กลางบำบัดฟื้นฟูตามหลักศาสนาอิสลามผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดในชุมชน
http://www.moph.go.th/ops/iprg/include/admin_hotnew/show_hotnew.php?idHot_new=41075
นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขให้สัมภาษณ์ว่าคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยและคณะกรรมการกลางประจำจังหวัด ได้เข้าพบแสดงความยินดีในโอกาสเข้ารับตำแหน่งและแสดงความขอบคุณโครงการต่างๆที่กระทรวงสาธารณสุข จัดทำขึ้นเพื่อพี่น้องชาวมุสลิม อาทิ โครงการผลิตพยาบาลวิชาชีพ 3,000 คน แก้ไขปัญหาขาดแคลนพยาบาลในจังหวัดชายแดนใต้ โครงการครัวฮาลาล และโครงการพัฒนามัสยิดเป็นศูนย์บำบัดและฟื้นฟูผู้เสพยาเสพติดตามหลักศาสนาอิสลามประจำอำเภอ
นายวิทยากล่าวว่าขณะนี้รัฐบาลได้กำหนดให้การแก้ไขปัญหายาเสพติดเป็นวาระแห่งชาติกระทรวงสาธารณสุขได้เร่งสนองนโยบายโดยเร่งขยายการบำบัดฟื้นฟูผู้ติดสารเสพติด โดยในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวไทยมุสลิมและเป็นพื้นที่ที่มีปัญหาการแพร่ระบาดยาเสพติดอยู่ในเกณฑ์สูงของประเทศ จัดทำโครงการ“มัสยิดศูนย์ส่องทางสู่ชีวิตใหม่:ปูซัดเกอฮีดูปันบารู”เป็นศูนย์บำบัดฟื้นฟูยาเสพติดใกล้บ้านใกล้ใจ เป็นทางเลือกหนึ่งให้ผู้เสพยาเสพติด ได้เข้าสู่กระบวนการบำบัดมากยิ่งขึ้น เป็นการคืนบุตรหลานที่ผ่านการบำบัดฟื้นฟูแล้ว กลับคืนสู่ครอบครัว โดยมีโรงพยาบาลชุมชนในพื้นที่เป็นพี่เลี้ยง และให้อสม.ติดตามผลการบำบัด
สถิติการบำบัดในช่วงปีงบประมาณ 2550-2554 มีผู้เข้ารับการบำบัดรักษายาเสพติดใน 7 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ สงขลา สตูล ตรัง พัทลุง ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ทั้งหมด 25,758 คน ในจำนวนนี้ร้อยละ 73 เป็นชาวมุสลิม 18,834คน เป็นเพศชายร้อยละ 93 อยู่ในกลุ่มอายุ 7-17 ปี มากที่สุดคือร้อยละ 58 รองลงมาคือกลุ่มอายุ 18-25 ปี ร้อยละ 34 ยาเสพติดที่ใช้มากอันดับ 1 คือกัญชาร้อยละ 46 รองลงมาคือยาบ้าร้อยละ 33 และอื่นๆเช่น กระท่อม สี่คูณร้อย ร้อยละ 18 อาชีพส่วนใหญ่ ว่างงานร้อยละ 45 รับจ้างร้อยละ 38 เป็นนักเรียน นักศึกษาร้อยละ 17
นายวิทยากล่าวต่อว่า กิจกรรมที่ใช้บำบัดฟื้นฟูผู้เสพยาเสพติดของมัสยิด จะสอดคล้องกับหลักศาสนาและวิถีชุมชนของชาวไทยมุสลิม ประกอบด้วย 5 กิจกรรม ได้แก่
1.ใช้หลักศาสนบำบัด ได้แก่ การละหมาดหลักศาสนาอิสลามกับยาเสพติดถือว่าการติดยาเป็นทำลายความเป็นมนุษย์ ฝึกการอ่านอัลกุรอานฝึกการท่องจำอายะฮฺกุรสีย์
2.ใช้องค์ความรู้และทักษะด้านยาเสพติด เช่น ให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายและการลงโทษผู้ที่ติดยาเสพติด ความรู้เรื่องยาเสพติดการสร้างทักษะชีวิต การทำกลุ่มบำบัด กลุ่มจิตบำบัด กลุ่มให้คำปรึกษา การจัดการด้านอารมณ์ การใช้ชีวิตด้านบวกและด้านลบ
3.ใช้กีฬา สันทนาการ ทัศนศึกษา การบำเพ็ญประโยชน์ให้กับสังคม เช่น การฝึกระเบียบวินัย ออกกำลังกาย เล่นกีฬา สันทนาการ ศึกษาดูงานที่สถานที่บำบัดยาเสพติด สถานพินิจ เพื่อให้ได้สัมผัสถึงความเป็นจริงของผู้ที่ติดยาเสพติด การบำเพ็ญประโยชน์สังคมร่วมกันพัฒนาศาสนสถาน หรือสถานที่สาธารณประโยชน์
4.การสร้างสัมพันธภาพกับครอบครัว เช่น กิจกรรมครอบครัวสัมพันธ์ครอบครัวบำบัด การทำหน้าที่ของครอบครัว
5.การฝึกอาชีพ และการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์การบรรยายโดยวิทยากรในพื้นที่ที่ประสบความสำเร็จในชีวิตและหน้าที่การงานที่ดี ทั้งนี้ ผู้นำศาสนา อิหม่าน และคอเต็บ เป็นบุคคลที่มีความสำคัญมากในการบำบัด ต้องให้ความเห็นชอบว่าศาสนาสามารถขัดเกลาความเป็นมนุษย์ คำสอนทางศาสนาที่ลึกซึ้ง เป็นการฟื้นฟูความคิด จิตวิญญาณ และช่วยให้กระบวนการบำบัด ที่มีข้อจำกัดด้านทรัพยากร ให้สามารถขยายการบำบัดไปครอบคลุมทุกชุมชนทุกพื้นที่ได้
26 กันยายน 2554