logo

HITAP ร่วมมือกับกรมการแพทย์ จัดการประชุมผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในโครงการ “การพัฒนาแนวทางการประเมินความคุ้มค่าฯ ปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ เพื่อบรรจุในชุดสิทธิประโยชน์ ในระบบประกันสุขภาพของประเทศไทย”

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP

“วิทยา” ให้ทีมเคลื่อนที่เร็ว 1,030 ทีม เฝ้าระวังโรคระบาดในพื้นที่น้ำท่วม ตลอด 24 ชม.

http://www.moph.go.th/ops/iprg/include/admin_hotnew/show_hotnew.php?idHot_new=40436

          รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข สั่งทีมเฝ้าระวังสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว 1,030 ทีมทั่วประเทศ เฝ้าระวัง ป้องกันโรคระบาดจากน้ำท่วม เช่นฉี่หนู อุจาระร่วง ตาแดง ไข้หวัดใหญ่ ไข้มาลาเรีย ไข้เลือดออก รวมทั้งโรคมือ เท้าปากในเด็กเล็ก ตลอด 24 ชั่วโมง หากพบมีผู้ป่วยแม้แค่ 1 ราย ให้ลงพื้นที่ควบคุมโรคไม่ให้แพร่ระบาด

          วันนี้ (28 สิงหาคม 2554) ที่ศูนย์ปฎิบัติการป้องกันช่วยเหลือ ฟื้นฟู ปัญหาอุทกภัย อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ร่วมต้อนรับนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ในพื้นที่ อ.บางระกำ และอ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก โดยกระทรวงสาธารณสุข จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ชุดใหญ่ พร้อมยาเวชภัณฑ์รักษาโรค ออกให้บริการประชาชน 3 จุด ที่วัดสุนทรประดิษฐ์ วัดย่านใหญ่ อ.บางระกำและวัดคลองเมม อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก พร้อมมอบยาชุดน้ำท่วมจุดละ1,000 ชุด รวม 3,000 ชุด

           นายวิทยา กล่าวว่า ตามที่นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ทุกกระทรวง ดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยแบบเบ็ดเสร็จที่จุดเดียว โดยใช้บางระกำโมเดลนั้น ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข ได้ใช้แผน“2P2R” ครบสูตร ตั้งแต่การเฝ้าระวัง (p:preparation) ป้องกันน้ำท่วมสถานบริการ ป้องกันความเสียหายเครื่องมือแพทย์ การสำรองยาและเวชภัณฑ์ ความพร้อมบุคลากร และการช่วยเหลือและบริการผู้ป่วย ระบบการแพทย์ฉุกเฉิน การตั้งศูนย์เตรียมความพร้อม ด้านการแพทย์และสาธารณสุข(R:Response)จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ตรวจรักษาผู้เจ็บป่วย และแผนฟื้นฟูระยะหลังน้ำท่วม (R=Recovery) เช่น การทำความสะอาด การปรับปรุงคุณภาพน้ำดื่มและน้ำใช้ การควบคุมโรคระบาดที่เกิดหลังน้ำท่วม การฟื้นฟูสภาพจิตใจผู้ประสบภัย ส่วนการป้องกันระยะยาวหลังน้ำท่วม (P=Prevention) ได้แก่ การประเมินและสรุปบทเรียนสำหรับเหตุการณ์น้ำท่วม การต่อเติมอาคารต้องให้สูงกว่าระดับน้ำที่เคยท่วม การประเมินสภาวะสุขภาพจิตของประชาชน และบุคลากรสาธารณสุข

           นายวิทยา กล่าวต่อว่า ในส่วนของการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่นั้น ขณะนี้มีทีมแพทย์ออกบริการทุกวัน วันละ 300 กว่าทีม มีผู้ป่วยสะสม 58,423 ราย โรคที่พบมากที่สุดคือน้ำกัดเท้า อย่างไรก็ตาม ได้สั่งการให้ทุกจังหวัดเฝ้าระวังโรคระบาดที่เกิดหลังน้ำท่วม เช่นโรคฉี่หนู ไข้เลือดออก ไข้มาลาเรีย ไข้หวัดใหญ่ ตาแดง รวมทั้งโรคมือเท้าปากในเด็กเล็กด้วย ถึงแม้ว่าไม่ใช่โรคที่มากับน้ำท่วมโดยตรงก็ตาม ซึ่งพบผู้ป่วยประปรายในปีนี้ แต่หากมีเด็กมาอยู่รวมกันจำนวนมากและมีเด็กบางคนมีเชื้ออยู่อาจติดกันได้ง่าย หรือในพื้นที่น้ำท่วมที่มีปัญหาขาดแคลนน้ำสะอาดในการล้างมือ ซักเสื้อผ้า ทำความสะอาดของใช้ เพราะโรคนี้ติดต่อกันโดยการรับเชื้อที่ติดอยู่ตามข้าวของเครื่องใช้เข้าทางปาก หรือแพร่ทางไอจามได้ด้วย ได้ให้ทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วที่มี 1,030 ทีมทั่วประเทศ เฝ้าระวัง ป้องกัน อย่างเต็มที่ตลอด 24 ชั่วโมง หากมีผู้ป่วยในพื้นที่แม้เพียงรายเดียวก็ตาม ให้ลงพื้นที่เพื่อควบคุม ป้องกันการแพร่ระบาดทันที จนถึงขณะนี้ยังไม่มีโรคระบาด

          สำหรับการดูแลด้านสุขภาพจิต ได้ตรวจคัดกรองประชาชนกลุ่มเสี่ยงเพื่อให้การดูแลต่อเนื่องเช่น ผู้สูงอายุที่ไม่คนดูแล ผู้พิการ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้ป่วยที่มีอาการทางจิตอยู่เดิม และครอบครัวผู้ที่สูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน และผู้ที่มาขอรับบริการด้านสุขภาพจิต ขณะนี้ได้ตรวจไปแล้ว 3,004 ราย พบมีอาการซึมเศร้า 639 ราย ต้องติดตามพิเศษเนื่องจากเสี่ยงฆ่าตัวตาย 144 ราย เฉพาะที่ อ.บางระกำตรวจทั้งหมด 1,464 ราย พบมีอาการซึมเศร้า 379 ราย เสี่ยงฆ่าตัวตาย 29 ราย ทั้งหมดนี้อยู่ในความดูแลของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน โดยจะติดตามอาการเป็นระยะๆ จนกว่าจะหายเป็นปกติ

29 สิงหาคม 2554

Next post > รมช.ต่อพงษ์ ผุด “อุดรโมเดล” ด้านสาธารณสุข ดึงเครือข่ายสังคมออนไลน์มาช่วยแก้ปัญหาสุขภาพช่วงน้ำท่วม

< Previous post สธ.เร่งฉีดวัคซีนหวัดใหญ่ 2009 กลุ่มเสี่ยง ครบ 2.5 ล้านโดส สิ้นเดือนนี้

Related Posts

ข่าวที่เข้าชมมากที่สุด ในรอบ 3 เดือน

HITAP เป็นข่าว ล่าสุด