logo
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP

กรมควบคุมโรค เผยโรคสเตรปโตคอกคัส อีไควน์ พบผู้ป่วยในไทยครั้งแรก

เตือนประชาชนเหนือ-อีสานกินเนื้อดิบเสี่ยงเสียชีวิตและหูหนวกถาวร

http://www.moph.go.th/ops/iprg/iprg_new/include/admin_hotnew/show_hotnew.php?idHot_new=40144

กรมควบคุมโรค ชี้แจงโรคสเตรปโตคอกคัส อีไควน์ พบผู้ป่วยในไทยครั้งแรก เตือนประชาชนที่นิยมรับประทานเนื้อดิบหรือสุกๆ ดิบๆ เช่น ลาบ หลู้  มีโอกาสเสียชีวิตหรือหูหนวกถาวร โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

วันนี้ (11 สิงหาคม 2554) นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรณีที่มีข่าว(3 พ.ค.-20 มิ.ย. 2554) มีการแพร่ระบาดของเชื้อ Streptococcus equi มีผู้ป่วย จำนวน 10 ราย ซึ่งมีโรคประจำตัว 6 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ และมีผู้เสียชีวิตแล้วจำนวน 4 ราย กระจายในพื้นที่หลายอำเภอของจังหวัดลำปาง โดยเชื้อชนิดนี้ เป็นเชื้อที่เพิ่งมีการตรวจพบในคนเป็นครั้งแรกในประเทศไทย และมีความใกล้เคียงอยู่ในกลุ่มเดียวกับเชื้อ Streptococcus suis ที่ทำให้เกิดโรคหูดับ  โรคนี้เป็นเชื้อแบคทีเรียชื่อ Streptococcus equi สายพันธุ์ย่อย zooepidemicus อยู่ในกลุ่มสเตรปโตคอกคัสกลุ่มซี ซึ่งพบว่าทำให้เกิดโรคทั้งในคนและในสัตว์ สำหรับโรคนี้เพิ่งมีการรายงานโรคครั้งนี้เป็นครั้งแรก เนื่องจากการตรวจปกติไม่มีการตรวจลงไปถึงในระดับสายพันธุ์ย่อย แต่ในครั้งนี้สามารถตรวจพบเชื้อชนิดนี้ได้ เพราะเป็นการตรวจตามโครงการเฝ้าระวังโรคทางห้องปฏิบัติการเป็นพิเศษ จากข้อมูลของกรมปศุสัตว์ไทยยังไม่เคยพบโรคนี้ในสัตว์เช่นกัน 


เชื้อ Streptococcus equisubsp. zooepidemicus เป็นชนิดที่ทำให้อาการรุนแรงที่สุดในกลุ่มของ Streptococcus equi การระบาดที่เกิดขึ้นในขณะนี้ถือว่ามีความรุนแรง เนื่องจากมีผู้เสียชีวิตหลายราย และกระจายอยู่ในพื้นที่ 4 อำเภอ ซึ่งในขณะนี้ยังไม่สามารถระบุถึงแหล่งโรคที่เป็นต้นเหตุของการระบาดได้อย่างชัดเจน ถึงแม้จะมีความเป็นไปได้ว่าผู้ป่วยอาจจะได้รับเชื้อมาจากการบริโภคเนื้อสุกรและเนื้อวัวที่ปรุงไม่สุก ดังนั้นมีความเป็นไปได้ที่จะมีผู้ป่วยรายใหม่รวมถึงมีการเสียชีวิตเกิดขึ้นอีก เจ้าหน้าที่สาธาณสุขในพื้นที่เกิดโรค และพื้นที่ใกล้เคียง ควรให้ความสำคัญและเฝ้าระวังโรคอย่างใกล้ชิด รวมถึง ควรมีการเฝ้าระวังโรคในสัตว์ด้วย ซึ่งโรคนี้เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนเท่านั้น ยังไม่มีรายงานการติดต่อระหว่างคนสู่คน


นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินการ ดังนี้ มอบหมายให้สำนักระบาดวิทยาร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลำปาง สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 จังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดลำปาง และโรงพยาบาลลำปาง ดำเนินการสอบสวนการระบาดของโรค เพื่อประเมินสถานการณ์การระบาดของโรค ออกหนังสือสั่งการสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลำปาง ให้เน้นการรณรงค์เรื่องการไม่รับประทานอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ โดยเฉพาะเนื้อหมูและเนื้อวัว ให้มีการเฝ้าระวังโรคอย่างต่อเนื่องในทุกอำเภอและดำเนินการสอบสวนโรคทันที่ที่พบผู้ป่วย


สำหรับโรคโรคสเตรปโตคอกคัส ซูอีส หรือโรคไข้หูดับ ส่วนใหญ่พบผู้ป่วยในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่รับประทานเนื้อหมูหรือเลือดหมูดิบ เช่น ลาบ หลู้ ที่นำเลือดหมูสดๆ มาราดบนหมูสุกก่อนรับประทาน แม้ว่าเนื้อจะสุก แต่เลือดดิบก็ทำให้เกิดโรคได้เหมือนกัน  ผู้ที่มีโอกาสเสี่ยงสูงต่อการติดโรคในภาวะปกติ ได้แก่ เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร คนทำงานในโรงฆ่าสัตว์ คนชำแหละเนื้อสุกร สัตวบาล และสัตวแพทย์ เชื้อจะเข้าสู่ร่างกายผ่านทางบาดแผล รอยถลอก หรือเยื่อบุตา รวมทั้งการบริโภคเนื้อหรือเลือดสุกรที่ไม่ผ่านการปรุงสุก


นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคนี้สามารถติดต่อได้ 2 ทาง คือ การรับประทานเนื้อสัตว์ที่ติดเชื้อ และการสัมผัสเนื้อที่ปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม การติดเชื้อในคน พบได้น้อยมาก แต่ทำให้คนมีอาการของโรคได้หลากหลาย เช่น อาการคออักเสบ อาการติดเชื้อที่เยื่อหุ้มสมอง การติดเชื้อในกระแสโลหิต อาการข้ออักเสบเป็นหนอง หรืออาการอักเสบที่เยื่อหุ้มหัวใจ และอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการอักเสบที่ไตได้ ในรายที่มีอาการรุนแรงอาจถึงขั้นเสียชีวิตเนื่องมาจากการติดเชื้อในกระแสโลหิต วิธีป้องกันเชื้อโรคทั้ง 2 โรคที่ดีที่สุด คือ การทำให้เนื้อสัตว์สุกด้วยความร้อนระดับ 70 องศาเซลเซียส นาน 10 นาที  ส่วนผู้ชำแหละหรือผู้สัมผัสเนื้อสัตว์ ควรสวมถุงมือป้องกันการติดเชื้อทุกครั้ง หากมีบาดแผลต้องปิดแผลให้มิดชิด หากประชาชนมีอาการป่วย เช่น มีไข้สูง ปวดศีรษะหลังกินหมูดิบภายใน 3 วัน ให้รีบไปพบแพทย์ด่วนและต้องบอกประวัติการกินหมูดิบให้ทราบ หากมาพบแพทย์เร็วจะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตและหูหนวกได้ หากประชาชนมีข้อสงสัยติดต่อได้ที่ศูนย์บริการข้อมูลฮ็อตไลน์ กระทรวงสาธารณสุข โทรศัพท์ 1422 และศูนย์ปฏิบัติการกรมควบคุมโรค โทรศัพท์ 0 2590 3333 begin_of_the_skype_highlighting              0 2590 3333      end_of_the_skype_highlighting  

 

16 สิงหาคม 2554

Next post > สธ.จัดหน่วยแพทย์ 129 ทีม ออกเยียวยาผู้ประสบภัยน้ำท่วม ยอดผู้ป่วยพุ่งใกล้ 3 หมื่นราย

< Previous post บอร์ด สปส.ไฟเขียวเพิ่มสิทธิโรคไต

Related Posts

ข่าวที่เข้าชมมากที่สุด ในรอบ 3 เดือน

HITAP เป็นข่าว ล่าสุด