logo
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
ครั้งแรกของไทย! “ศิริราช” เจ๋ง ผ่าตัด “บวมน้ำเหลือง” สำเร็จ

วันนี้ (10 ส.ค)  นพ.ธีรวัฒน์ กุลทนันทน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล กล่าวในการแถลงข่าว “ศิริราชผ่าตัดแขนขาบวมจากทางเดินน้ำเหลืองอุดตันสำเร็จเป็นครั้งแรกของไทย” ว่า   จากการที่วงการแพทย์มีความนิยมในการใช้กล้องผ่าตัดมาโดยตลอดนั้น ถือว่ามีการพัฒนาศักยภาพอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด คณะแพทย์จาก รพ.ศิริราช ได้มีการผ่าตัดรักษาผู้ป่วยภาวะบวมน้ำเหลืองตามร่างกาย  เช่น แขน ขา ด้วยวิธีการต่อหลอดน้ำเหลืองเข้าหลอดเลือดดำขนาดเล็กด้วยกล้องจุลทรรศน์ สำเร็จเป็นครั้งแรกของประเทศไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ด้าน นพ.ศิริชัย กำเนิดนักตะ  อาจารย์แพทย์ประจำสาขาวิชาศัลยศาสตร์  แพทย์ผู้ทำการผ่าตัด กล่าวว่า การผ่าตัดต่อหลอดน้ำเหลืองเข้าหลอดเลือดดำด้วยเทคนิค ซูเปอร์ไมโครเซอร์เจอรี (supermicrosurgery) ประกอบด้วย กล้องจุลทรรศน์กำลังขยายสูง 40 เท่า ประมาณ 1-2 ตัว โดยมีศัลยแพทย์ประจำกล้อง 2 คน ต่อ 1 ตัว อุปกรณ์เครื่องมือพิเศษขนาดเล็กกว่า 0.8 มม.เข็มเย็บขนาดเล็ก 50-80 ไมครอน และไหมเย็บขนาดเล็กกว่าเส้นผม เบอร์ 11-0 หรือ 12-0 โดยการผ่าตัดใช้เวลานานที่สุด 7-8 ชม.แพทย์จึงให้ผู้ป่วยดมยาสลบแทนการฉีดยาชาเฉพาะที่  โดยขั้นตอนการผ่าตัดเริ่มด้วยการเปิดแผลกว้างประมาณ 3-4 ซม.  จากนั้นต่อทางเดินน้ำเหลืองเข้าหลอดเลือดดำประมาณ 3-4 ตำแหน่ง ด้วยอุปกรณ์เครื่องมือพิเศษร่วมกับกล้องจุลทรรศน์กำลังขยายสูง

“สำหรับขั้นตอนที่ยากที่สุดในการผ่าตัดอยู่ตรงช่วงเวลาของการหาหลอดน้ำเหลือง ซึ่งมีขนาดเล็กและบางมาก จะต้องแยกเนื้อทีละนิดเพื่อหาหลอดน้ำเหลือง ส่วนข้อดีของการผ่าตัดด้วยเทคนิคนี้ จะช่วยให้เสียเลือดน้อย บาดแผลเล็ก ฟื้นตัวเร็ว ลดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เมื่อเทียบกับการผ่าตัดรักษาวิธีอื่นๆ โดยวันรุ่งขึ้นหลังการผ้าตัด ผู้ป่วยสามารถกลับบ้านและใช้ชีวิตได้ตามปกติ ได้” นพ.ศิริชัย กล่าว

ขณะที่ ศ.คลินิก นพ.อภิรักษ์ ช่วงสุวนิช หัวหน้าสาขาวิชาระบบศัลยศาสตร์ตกแต่ง กล่าวถึงภาวะบวมน้ำเหลือง ว่า อาการดังกล่าว  เป็นการคั่งค้างสะสมของน้ำเหลืองใต้ผิวหนัง เนื่องจากทางเดินน้ำเหลืองบริเวณที่ใกล้เคียงอุดกั้นหรือถูกทำลาย พบได้หลายอวัยวะทั้งแขน ขา อวัยวะเพศ เกิดจาก 2 สาเหตุใหญ่ คือ พันธุกรรม และการผ่าตัดที่ต้องตัดต่อมน้ำเหลืองออกไป เช่น การผ่าตัดมะเร็งหรือเนื้องอกบริเวณปากมดลูก เต้านม หรืออัณฑะ,ภายหลังได้รับการฉายรังสีรักษาใกล้ขาหนีบรักแร้, ผิวหนังเกิดภาวะติดเชื้อและอักเสบรุนแรงอย่างซ้ำๆ

ศ.คลินิก นพ.อภิรักษ์ กล่าวอีกว่า ในระยะต้นของโรคอาจไม่แสดงอาการใดๆ ตามมาด้วยอาการบวม แต่สามารถยุบบวมเองได้ ต่อมาผิวหนังมีความผิดปกติ เริ่มมีการสะสมของพังผืดใต้ผิวหนัง หากปล่อยทิ้งไว้จะเกิดการอักเสบติดเชื้อใต้ผิวหนัง และหากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง โดยเชื้อจะกระจายสู่กระแสเลือด ในการรักษา ทำได้ด้วยการพันผ้ายืดให้ตึงพอดี หรือสวมถุงน่องที่กระชับพอดี ไม่แน่น หรือหลวมไปตลอดเวลาแม้กระทั่งเวลานอน ยกเว้นเวลาอาบน้ำ, นวดด้วยเครื่องอัดลม, การขันชะเนาะลดบวม และการผ่าตัดที่มีหลายวิธี ซึ่งการผ่าตัดต่อหลอดน้ำเหลืองเข้าหลอดเลือดดำด้วยเทคนิคซูเปอร์ไมโครเซอร์เจอรี ค่าใช้จ่ายประมาณ 1 แสนบาทขึ้นไป แต่ผู้ป่วยในทุกสิทธิการรักษาพยาบาลทั้งประกันสังคม สิทธิสวัสดิการข้าราชการ และสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติสามารถเข้ารับการรักษาได้ฟรี โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม

 

แหล่งที่มา: http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9540000099825

11 สิงหาคม 2554

Next post > สธ.เปิดสายด่วน 1323 และ 1667 บริการปรึกษา คลายเครียดประชาชนฟรีตลอด 24 ชั่วโมง

< Previous post กรมควบคุมโรคประกาศร่วมเป็นภาคีเครือข่ายมุ่งสู่คุณภาพการดูแลด้านเอชไอวี

Related Posts

ข่าวที่เข้าชมมากที่สุด ในรอบ 3 เดือน

HITAP เป็นข่าว ล่าสุด