logo

HITAP ร่วมมือกับกรมการแพทย์ จัดการประชุมผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในโครงการ “การพัฒนาแนวทางการประเมินความคุ้มค่าฯ ปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ เพื่อบรรจุในชุดสิทธิประโยชน์ ในระบบประกันสุขภาพของประเทศไทย”

สปสช. และ HITAP ขอเชิญท่านมาร่วมเป็นส่วนสำคัญในการยกระดับบริการสุขภาพของประเทศไทย ด้วยการตอบแบบสอบถามในหัวข้อ “การปฏิบัติงานตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว”

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP

อย.ห่วงใยกรณีนมโรงเรียน แนะพ่อแม่สอนเด็กรู้จักสังเกตลักษณะนมก่อนดื่ม

http://www.moph.go.th/ops/iprg/iprg_new/include/admin_hotnew/show_hotnew.php?idHot_new=40075

       อย.ห่วงใยกรณีนมโรงเรียนทำเด็กท้องเสีย ส่งเจ้าหน้าที่ลงตรวจสอบหาสาเหตุ และแจ้งให้ สสจ. ทั่วประเทศเฝ้าระวังคุณภาพนมโรงเรียนอย่างเข้มงวด แนะวิธีสังเกตนม หากสีนมเปลี่ยน เนื้อนมมียางเหนียว แยกชั้นไม่เป็นเนื้อเดียวกัน  มีกลิ่นเปรี้ยว ไม่ควรดื่ม  พร้อมเตือนผู้ผลิตนมโรงเรียนให้ระมัดระวัง ใส่ใจในทุกขั้นตอนตั้งแต่กระบวนการผลิต จนถึงการขนส่งนมถึงโรงเรียน  หากตรวจสอบพบว่าเป็นความผิดของผู้ผลิตอาจถูกตัดสิทธิ์การเข้าร่วมนมโรงเรียนได้


       นพ. นรังสันต์ พีรกิจ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า กรณีเด็กนักเรียนในเขตอำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ดื่มนมโรงเรียนแล้วเกิดอาการปวดท้อง อาเจียน ต้องหามส่งโรงพยาบาลจำนวนมากนั้น ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงตรวจหาสาเหตุที่แท้จริงแล้ว รวมทั้งได้แจ้งไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัดให้เฝ้าระวังคุณภาพของนมโรงเรียนอย่างเข้มงวด เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาดังกล่าวนี้อีก ทั้งนี้ ปัญหานมบูดเสียอาจเกิดได้จากหลายกรณี เช่น ความบกพร่องของกระบวนการผลิต ภาชนะบรรจุมีการรั่วซึม รวมทั้งการขนส่งและการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ที่ไม่ถูกต้องเหมาะสม  อย.ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลคุณภาพมาตรฐานของผลิตภัณฑ์อาหารทั้งก่อนและหลังออกสู่ท้องตลาดมีความห่วงใยเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากปัญหานมโรงเรียนเป็นปัญหาที่มีผลกระทบต่อเยาวชนโดยตรง โดยนมโรงเรียนจัดเป็นอาหารควบคุมเฉพาะตามประกาศเรื่องนมโค ซึ่งในส่วนของ อย. มีบทบาทหน้าที่ในการควบคุมกำกับดูแลตั้งแต่การอนุญาตตั้งโรงงาน  ซึ่งจะต้องถูกสุขลักษณะ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ดีในการผลิต โดยจะมีการตรวจโรงงานเป็นประจำทุกปี และเก็บตัวอย่างนมโรงเรียนเพื่อส่งตรวจวิเคราะห์ซ้ำ และผู้ประกอบการที่จะขึ้นทะเบียนกับ อย. จะต้องมีผลวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์มาแสดง รวมทั้งการแสดงฉลากที่ถูกต้องตามที่ได้รับอนุญาต

        จากกรณีที่เกิดขึ้นนี้ จะมีการตรวจสอบอย่างละเอียดต่อไปว่าเกิดความผิดพลาดในขั้นตอนใด  หากเป็นการผิดพลาดในส่วนของขั้นตอนการผลิต มีเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคปนเปื้อน ผู้ผลิตจะต้องได้รับโทษตามกฎหมาย ฐานผลิตอาหารไม่ได้คุณภาพมาตรฐาน  มีโทษปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท และเข้าข่ายผลิตอาหารไม่บริสุทธิ์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปีหรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจถูกตัดสิทธิ์การเข้าร่วมในโครงการนมโรงเรียน แต่หากพบปัญหาในส่วนของการขนส่ง  ผู้จัดส่งนมต้องรับโทษตามกฎหมายเช่นกัน ทั้งนี้ ทางโรงเรียนควรมีมาตรการการตรวจสอบนมก่อนให้เด็กนักเรียนดื่ม  หากพบว่าผิดปกติควรปฏิเสธการรับผลิตภัณฑ์ และแจ้งให้คณะกรรมการนมประจำจังหวัดทราบ เพื่อจะได้ดำเนินมาตรการในการตัดสิทธิ์หรือยกเลิกสัญญาต่อไป


        สำหรับนมโรงเรียน มีทั้งชนิดพาสเจอร์ไรส์ และยู เอช ที โดยนมพาสเจอร์ไรส์ นิยมบรรจุถุง ผ่านการฆ่าเชื้อที่อุณหภูมิ  63 – 65  องศาเซลเซียส เป็นเวลา 15 – 20 วินาที และทำให้เย็นทันทีที่อุณหภูมิไม่เกิน 5 องศาเซลเซียส ฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ได้ 95 – 99 % ดังนั้น จึงต้องเก็บที่อุณหภูมิไม่เกิน 8 องศาเซลเซียส สำหรับนมยู เอช ที นิยมบรรจุกล่อง ผ่านการฆ่าเชื้อที่อุณหภูมิ 133 – 135 องศาเซลเซียส นาน 2 – 4 วินาที จนทำลายเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคได้ ทำให้สามารถเก็บได้นานแม้จะเก็บไว้ภายนอกตู้เย็น แต่สถานที่จัดเก็บต้องอยู่ในอุณหภูมิปกติไม่ร้อนจนเกินไป เมื่อเก็บไว้นานเกินไปจนนมหมดอายุ นมจะหนืดเป็นวุ้น กลิ่นรสจะเปลี่ยน รวมทั้งไขมันในนมจะแยกชั้นจากน้ำนม ดังนั้น อย.ขอฝากถึงพ่อแม่ผู้ปกครอง ควรแนะนำบุตรหลานให้รู้จักสังเกตลักษณะของนมก่อนการบริโภค โดยควรตรวจดูลักษณะภายนอกของกล่องนม /ถุงนม ว่ามีรอยหัก ย่น บวม ซึม หรือไม่  ตรวจสอบฉลากบนกล่องนม/ถุงนม ดูข้อมูลเลขทะเบียน อย. และวันหมดอายุ และที่สำคัญ ควรสังเกตลักษณะของนม หากมีสีผิดปกติ เนื้อนมเป็นยางเหนียว ที่ผิวหน้ามีตะกอน มีการแยกชั้น กลิ่นรสชาติแปลก ๆ  เช่น เปรี้ยว หรือขมผิดปกติ ไม่ควรดื่มเด็ดขาด เพราะแสดงว่านมนั้นเสียแล้ว  หากบริโภคอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้ และแจ้งให้ครูทราบโดยด่วนที่สุด เพื่อเก็บนมในรุ่นการผลิตนั้นส่งคืนผู้ผลิต วิธีนี้จะทำให้นักเรียนมีความรู้และสามารถป้องกันตนเองได้ในระดับหนึ่งจากการบริโภคผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้คุณภาพ รองเลขาธิการฯ กล่าว    

10 สิงหาคม 2554

Next post > สธ.เผยยอดผู้เจ็บป่วยจากน้ำท่วม 15,000 ราย เครียดจัด ต้องดูแลพิเศษ 52 ราย พร้อมเปิด สายด่วนบริการด้านสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง

< Previous post การประชุมเพื่อเตรียมข้อเสนอต่อคณะอนุกรรมการพัฒนาสิทธิประโยชน์และระบบบริการ ในโครงการวิจัยเรื่อง “การพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ด้านการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคภายใต้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ในกลุ่มเด็กอายุ 0-5 ปี“

Related Posts

ข่าวที่เข้าชมมากที่สุด ในรอบ 3 เดือน

HITAP เป็นข่าว ล่าสุด