ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
สธ.ขยายศูนย์ปลูกถ่ายเปลี่ยนอวัยวะ ในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ 5 แห่ง นำร่องที่อุบลแห่งแรก
http://www.moph.go.th/ops/iprg/include/admin_hotnew/show_hotnew.php?idHot_new=40065
วันนี้ (9 สิงหาคม 2554) นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์สมชาย เชื้อเพชระโสภณ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์วุฒิไกร มุ่งหมาย สาธารณสุขนิเทศก์ นายแพทย์ สุรพร ลอยหา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี นายแพทย์มนัส กนกศิลป์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์และนายแพทย์สันติ โรจน์ศตพงค์ หัวหน้าศูนย์รับบริจาคและปลูกถ่ายอวัยวะ ศูนย์สภากาชาดไทย แถลงข่าว “ความสำเร็จในการปลูกถ่ายไตจากผู้บริจาคอวัยวะที่มีภาวะสมองตาย ของโรงพยาบาลสิทธิประสงค์”และทำพิธีเปิดศูนย์รับบริจาคและปลูกถ่ายอวัยวะสภากาชาดไทย ที่โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จังหวัดอุบลราชธานี
นายแพทย์ไพจิตร์ กล่าวว่า ปัจจุบันพบว่าคนไทยป่วยจากโรคเรื้อรังมากขึ้น ที่สำคัญเช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคเกาต์ ผู้ป่วยจำนวนมากไม่รู้ตัวว่าตนเองเป็นโรค ถือว่าเป็นมหันตภัยเงียบ เมื่อโรคลุกลามไปมาก จะทำให้เกิดไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ต้องได้รับการล้างไต เพื่อขับของเสียออกจากร่างกาย ค่าใช้จ่ายสูงมาก ต้องล้างอาทิตย์ละ 2-3 ครั้ง การรักษาที่ดีที่สุดของผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย คือการผ่าตัดเปลี่ยนไต (Kidney Transplant ) ซึ่งเดิมทำได้เฉพาะโรงพยาบาลในกรุงเทพมหานครและโรงเรียนแพทย์เท่านั้น ทำให้ผู้ป่วยที่อยู่ต่างจังหวัดขาดโอกาสได้รับบริการ ขณะนี้มีผู้ป่วยไตวายเรื้อรังขึ้นทะเบียนรอคิวผ่าตัดเปลี่ยนไตประมาณ 2,654 คนทั่วประเทศ
นายแพทย์ไพจิตร์ กล่าวต่อไปว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายกระจายบริการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะทุกประเภทเช่น ตับ ไต ปอด หัวใจ ดวงตา โดยพัฒนาโรงพยาบาลศูนย์ 5 แห่ง ได้แก่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ อุบลราชธานี โรงพยาบาลชลบุรี โรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก และโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี ให้เป็นศูนย์ปลูกถ่ายอวัยวะ (Transplant Center) ในระดับภูมิภาคครบวงจร เพื่อให้ประชาชนทั่วทุกภูมิภาคเข้าถึงบริการได้สะดวกรวดเร็ว และให้โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปในสังกัดทั่วประเทศที่มี 95 แห่ง เป็นเครือข่ายรับบริจาคอวัยวะจากผู้ป่วยที่ประสบอุบัติเหตุและมีภาวะสมองตายแล้ว ตั้งเป้าภายใน 2 ปี ตั้งแต่พ.ศ. 2553-2554 จะผ่าตัดเปลี่ยนไตให้ผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้ายให้ได้ 300 ราย และเพิ่มจำนวนผู้บริจาคอวัยวะให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 20 ต่อปี ซึ่งขณะนี้โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ดำเนินการและประสบผลสำเร็จเป็นแห่งแรกแล้ว
ทั้งนี้ จากข้อมูลของสมาคมปลูกถ่ายอวัยวะแห่งประเทศไทย มีผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนไตตั้งแต่เริ่มมีการผ่าตัดในประเทศไททยจนถึง 31 ธันวาคม 2553 จำนวน 4,864 ราย เฉลี่ยปีละ 200-300 ราย ซึ่งควรจะมีปีละประมาณ 1,000 รายต่อปี เนื่องจากขาดแคลนอวัยวะบริจาค
ทางด้านนายแพทย์มนัส กนกศิลป์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสิทธิประสงค์ กล่าวว่าโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ ได้นำร่องผ่าตัดเปลี่ยนไตให้ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย โดยใช้ไตจากผู้บริจาคอวัยวะที่มีภาวะสมองตาย สำเร็จเป็นแห่งแรกของโรงพยาบาลในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เริ่มตั้งแต่พ.ศ.2546 เป็นต้นมา จนถึงเดือนมิถุนายนพ.ศ.2554 ได้ทำการผ่าตัดเปลี่ยนไต ให้ชีวิตใหม่ผู้ป่วยไตวายแล้ว 20 ราย ในจำนวนนี้มี 2 รายที่ได้รับไตจากผู้บริจาคอวัยวะที่มีภาวะสมองตาย โดยรายล่าสุดผ่าตัดเมื่อ 20 พฤษภาคม 2554 ทุกรายสามารถใช้ชีวิตได้ไม่แตกต่างจากคนปกติทั่วไป
นายแพทย์มนัสกล่าวต่อว่า ตั้งแต่พ.ศ.2553 ถึงเดือนมิถุนายน 2554 มีประชาชนทั่วไปแสดงความจำนงบริจาคอวัยวะจำนวน 2,361ราย แสดงความจำนงบริจาคดวงตา 2,207ราย ในปี 2553 มีผู้เสียชีวิตจากภาวะสมองตายบริจาคอวัยวะให้สภากาชาดไทยผ่านโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์จำนวน 63 ราย โดยตั้งเป้าจะผ่าตัดเปลี่ยนไตจากผู้บริจาคที่ยังมีชีวิตอยู่อย่างน้อยปีละ 10 ราย และจากผู้บริจาคที่มีภาวะสมองตายให้ได้อย่างน้อยปีละ 5 ราย นอกจากนี้โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ ยังอยู่ระหว่างการพัฒนาการปลูกถ่ายอวัยวะอื่นด้วย เช่น การปลูกถ่ายไขกระดูกช่วยผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวหรือลิวคีเมีย ( Leukemia)
ประชาชนทั่วไปที่มีความประสงค์บริจาคอวัยวะ ซึ่งจัดว่าเป็นการทำบุญอันสูงสุด สามารถติดต่อได้ที่ศูนย์รับบริจาคและปลูกถ่ายอวัยวะ ชั้น 3 อาคาร 50 พรรษามหาวชิราลงกรณ์ โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ ในวันและเวลาราชการ หมายเลขโทรศัพท์ 045-264-857 begin_of_the_skype_highlighting 045-264-857 end_of_the_skype_highlighting ต่อ 110
10 สิงหาคม 2554