logo
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP

องค์การอนามัยโลกเผยผลการศึกษา ใช้มือถือมากเสี่ยงเป็นมะเร็ง เด็กอันตรายสุดๆ

http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1312347401&grpid=&catid=19&subcatid=1904

          นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) เปิดเผยว่า เมื่อเดือนกรกฎาคม IARC หรือ International Agency for Research on Cancer หน่วยงานหนึ่งขององค์การอนามัยโลก ได้ตีพิมพ์เผยแพร่ข้อมูลทางวิชาการที่ให้เหตุผลของการจัดให้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นปัจจัยก่อมะเร็งประเภท 2B หรือเป็นไปได้ที่จะก่อมะเร็ง ซึ่งนอกจากจะเป็นการยืนยันว่า การใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่มีความเสี่ยงกับการเป็นมะเร็งแล้ว ยังพบข้อมูลที่น่าสนใจว่า การใช้อุปกรณ์แฮนด์ฟรีระบบบลูทูธจะทำให้ผู้ใช้ได้รับพลังงานจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าต่ำกว่าการใช้ผ่านเครื่องโทรศัพท์มือถือโดยตรงถึง 100 เท่า และการใช้อุปกรณ์แฮนด์ฟรีแบบมีสายหรือหูฟัง จะช่วยลดการได้รับพลังงานที่สมองลงประมาณร้อยละ 10 แต่การใช้ทั้งสองประเภทไม่ควรเกี่ยวไว้ที่หูตลอดเวลาเมื่อไม่ได้ใช้งาน และผลการศึกษายังพบว่า เครื่องโทรศัพท์ 3G ปล่อยพลังงานน้อยกว่าโทรศัพท์ GSM เฉลี่ยประมาณ 100 เท่า

           รายงานดังกล่าวยังระบุว่า การถือโทรศัพท์แนบหูทำให้เกิดการดูดซับพลังงานที่สมอง ซึ่งปริมาณการดูดซับขึ้นอยู่กับการออกแบบตัวเครื่องและเสาอากาศ ลักษณะการใช้ และระดับสัญญาณระหว่างตัวเครื่องและสถานีฐาน ที่สำคัญคือ สมองเด็กจะได้รับคลื่นมากกว่าผู้ใหญ่ 2 เท่า และไขกระดูกของกะโหลกศีรษะเด็กจะได้รับคลื่นมากกว่าผู้ใหญ่ 10 เท่า

           นอกจากนี้ ผลการศึกษายังพบว่า กลุ่มที่ใช้โทรศัพท์มากกว่า 1,640 ชั่วโมง จะมีความเสี่ยงมากขึ้นต่อการเป็นมะเร็งสมองชนิด Glioma หรือเนื้องอกในสมอง ข้างเดียวกับที่ใช้โทรศัพท์ ซึ่งเป็นส่วนที่ได้รับคลื่นสูงที่สุด

           นายประวิทย์กล่าวต่อว่า จากรายงานดังกล่าวผนวกกับผลสำรวจของ สบท.ร่วมกับมหาวิทยาลัยอัญสัมชัญหรือเอแบคโพล เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พบว่าคนไทยมีพฤติกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการได้รับคลื่นสัญญาณที่นอกจากการใช้งานคือ พบว่าร้อยละ 64.5 นิยมวางโทรศัพท์เคลื่อนที่ไว้ที่หัวเตียงพร้อมกับเปิดเครื่องไว้ในเวลานอน ร้อยละ 41.6 ใส่ไว้ในกระเป๋ากางเกง หรือกระเป๋ากระโปรง และร้อยละ 23.7 นิยมใส่ไว้ในกระเป๋าพกพา จากข้อมูลที่พบ หากไม่ใช้ก็ควรไว้ให้ห่างตัวโดยเฉพาะศีรษะ โดยไม่ควรวางไว้ที่หัวเตียงและเปิดเครื่องทิ้งไว้ เพื่อลดความเสี่ยงของการได้รับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าโดยไม่จำเป็น

9 สิงหาคม 2554

Next post > สธ.ขยายศูนย์ปลูกถ่ายเปลี่ยนอวัยวะ ในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ 5 แห่ง นำร่องที่อุบลแห่งแรก

< Previous post ประชุมผู้เชี่ยวชาญเรื่อง “การประเมินความคุ้มค่าของการให้บริการตรวจคัดกรอง HLA-B*1502 เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดผื่นแพ้ยารุนแรงชนิด Steven Johnson Syndromes/Toxin Epidermal Necrolysis (SJS/TEN) จากยา carbamazepine หรือ phenytoin”

Related Posts

ข่าวที่เข้าชมมากที่สุด ในรอบ 3 เดือน

HITAP เป็นข่าว ล่าสุด