logo
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
หมอชี้ชายรักชายเสี่ยงป่วยมะเร็งปากทวารหนักมากกว่าคนทั่วไป 40 เท่า !!

วันนี้ (8 ส.ค.) พญ.นิตยา ภานุภาค แพทย์ประจำศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย กล่าวในการ workshop ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราต้องเริ่มตรวจมะเร็งปากทวารหนัก (Anal Pap Smear) ในงานสัมมนาวิชาการการพัฒนาคุณภาพการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวี และผู้ป่วยเอดส์ ระดับประเทศ ครั้งที่ 3 ซึ่งเป็นความร่วมมือของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และภาคีเครือข่าย กับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) และศูนย์ความร่วมมือไทย-สหรัฐฯ ด้านสาธารณสุข ว่า จากการศึกษาสถานการณ์ของคลินิกนิรนาม ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ เกี่ยวกับสถานการณ์ความนิยมเข้าตรวจคัดกรองหาเชื้อเอชพีวี ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งปากทวารหนัก ในของกลุ่มชายรักชาย (MSM) มีราวร้อยละ 30 ซึ่งขณะที่กลุ่มหญิงรักชายมีราวร้อยละ 10 เท่านั้น โดยในการตรวจคัดกรองนี้ทางคลินิกจะบริการตรวจพร้อมๆ กับเชื้อเอชไอวี ทั้งนี้ จากการศึกษาในกลุ่มชายรักชายจำนวนเกือบ 250 ราย ทั้งในผู้ที่ติดเอชไอวี และไม่ติด พบราวร้อยละ 10-15 มีโอกาสที่จะเจอเชื้อมะเร็งปากทวารหนัก โดยกลุ่มดังกล่าวไม่มีอาการป่วยเพื่อเป็นสัญญาณเลย

พญ.นิตยา กล่าวต่อว่า สำหรับอุบัติการณ์เกิดมะเร็งปากทวารหนักนั้น ในประเทศไทยยังไม่มีสถิติที่แน่นอน แต่อัตราการป่วยทั่วโลกนั้น พบว่า ในคนทั่วไปมีอัตราการป่วยแค่ 1 ต่อแสนประชากร แต่ในกลุ่มชายรักชายนั้นมีอัตราการป่วยมากกว่าคนทั่วไปถึง 40 เท่า นั่นคือ ป่วย 40 รายต่อแสนประชากร ขณะที่กลุ่มชายรักชายซึ่งติดเชื้อเอชไอวีจะมีอัตราการป่วยอยู่ที่ 80 รายต่อแสนประชากร ซึ่งหมายความว่า อัตราเสี่ยงของผู้ป่วยเอชไอวีจะสูงที่สุด ดังนั้น หนทางแก้ คือ เร่งตรวจคัดกรองอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อจะได้หารอยโรคได้ทัน และจะง่ายต่อการรักษา

“วิธีการตรวจคัดกรอง คือ วิธี Anal Pap Smear คือ การป้ายเอาเยื่อในช่องรูทวารลึกลงไปราว 2 ซม.แล้วมาส่องกล้องหาเชื้อ โดยหากพบเชื้อก่อนมะเร็ง ก็ถือว่ายังไม่น่าห่วงนัก สามารถรักษาด้วยการจี้เลเซอร์ จี้ไฟฟ้า และจี้เย็น เพราะเวลาในการลุกลามองเชื้อนั้นยาวนานไม่ต่างกันกับมะเร็งปากมดลูกที่พบบ่อยในเพศหญิง แต่มะเร็งปากทวารหนักจะสามารถเกิดได้ทั้งหญิงและชาย โดยมีสาเหตุจากการมีเพศสัมพันธ์ทางรูทวาร” พญ.นิตยา กล่าว

พญ.นิตยา กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้ ทางศูนย์วิจัยโรคเอดส์จะเร่งศึกษาในกลุ่มตัวอย่างที่มากกว่าเดิม เพื่อจะได้รู้ถึงอุบัติการณ์ของโรคที่ชัดเจน ก่อนจะเสนอแนวทางในการตรวจคัดกรองแก่กระทรวงสาธารณสุข ต่อไป เพื่อจะได้เตรียมรีบมือในการรักษาโรคดังกล่าว

 

แหล่งที่มา: http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9540000098675

9 สิงหาคม 2554

Next post > สธ.ขยายศูนย์ปลูกถ่ายเปลี่ยนอวัยวะ ในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ 5 แห่ง นำร่องที่อุบลแห่งแรก

< Previous post ประชุมผู้เชี่ยวชาญเรื่อง “การประเมินความคุ้มค่าของการให้บริการตรวจคัดกรอง HLA-B*1502 เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดผื่นแพ้ยารุนแรงชนิด Steven Johnson Syndromes/Toxin Epidermal Necrolysis (SJS/TEN) จากยา carbamazepine หรือ phenytoin”

Related Posts

ข่าวที่เข้าชมมากที่สุด ในรอบ 3 เดือน

HITAP เป็นข่าว ล่าสุด