logo

HITAP ร่วมมือกับกรมการแพทย์ จัดการประชุมผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในโครงการ “การพัฒนาแนวทางการประเมินความคุ้มค่าฯ ปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ เพื่อบรรจุในชุดสิทธิประโยชน์ ในระบบประกันสุขภาพของประเทศไทย”

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP

อย. เตือนผู้ประกอบการ หยุด! ลักลอบผลิต/นำเข้า/จำหน่าย ปลาปักเป้า

http://www.moph.go.th/ops/iprg/iprg_new/include/admin_hotnew/show_hotnew.php?idHot_new=39995

           ย้ำ! อย. ไม่อนุญาตให้ผลิต/นำเข้า/จำหน่าย ปลาปักเป้า เนื่องจากการบริโภคปลาปักเป้าเสี่ยงต่อ การได้รับสารพิษเตโตรโดท็อกซิน ซึ่งหากได้รับสารพิษนี้เพียง 2 มิลลิกรัม ก็อาจทำให้เสียชีวิตได้ อย. ขอเตือนผู้ประกอบการที่ฝ่าฝืนประกาศกระทรวงฯ ลักลอบผลิต/นำเข้า/จำหน่ายปลาปักเป้าและอาหารที่มีเนื้อปลาปักเป้าเป็นส่วนผสม ขอให้หยุดการกระทำดังกล่าว หาก อย. ตรวจพบจะดำเนินการทางกฎหมายให้ถึงที่สุด

           นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า กรณีมีข่าวการลักลอบจำหน่ายปลาปักเป้า (Puffer Fish) ซึ่งสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ขอให้ อย. ออกมาตรการให้สามารถนำปลาปักเป้า สายพันธุ์ไม่มีพิษมาจำหน่ายได้เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ และเป็นการปิดช่องไม่ให้มีผู้หาผลประโยชน์ เรียกรับสินบนจากโรงแล่ นั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขอชี้แจงว่า อย. มีประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 264) พ.ศ. 2545 เรื่อง กำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย โดยกำหนดให้ปลาปักเป้า ทุกชนิด และอาหารที่มีเนื้อปลาปักเป้าเป็นส่วนผสมเป็นอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 26 ธันวาคม 2545 เนื่องจาก อย. ได้คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภคเป็นหลัก ทั้งนี้ จะเห็น ได้จากรายงานการเป็นพิษจากการบริโภคปลาปักเป้าอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2472-พ.ศ. 2551 พบผู้ป่วย 89 ราย เสียชีวิต 24 ราย ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่ อย. ต้องมีมาตรการในการกำกับดูแลอย่างเข้มงวด

           เลขาธิการฯ อย. กล่าวต่อไปว่า ปลาปักเป้า หรือชื่อที่ใช้เรียกโดยทั่วไปคือ ปลาเนื้อไก่ เนื่องจากมีลักษณะเหมือนเนื้อไก่นั้นมีหลายชนิดทั้งมี พิษและไม่มีพิษ ซึ่งเมื่อแล่เป็นเนื้อปลาแล้ว จะไม่สามารถแยกได้ว่าเป็นชนิดที่มีพิษหรือไม่ จึงเสี่ยงต่อการนำมาบริโภค เนื่องจากการบริโภคปลาปักเป้าผู้บริโภคอาจได้รับสารพิษเตโตรโดท็อกซิน (Tetrodotoxin) หากได้รับสารพิษนี้ปริมาณเพียง 2 มิลลิกรัม จะเป็นอันตรายถึงชีวิต หรือหากได้รับในปริมาณต่ำ จะเกิดอาการชาที่ริมฝีปาก มือ และเท้า กล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นอัมพาต หายใจขัด ซึ่งอาการดังกล่าวสามารถเกิดได้ภายใน 10-45 นาที ทั้งนี้ สารพิษดังกล่าวสามารถทนความร้อนได้สูง การต้ม ทอด หรือย่าง ไม่สามารถทำลายได้ ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคถึงขั้นเสียชีวิต อีกทั้งการแล่เนื้อปลาปักเป้าที่ทำอยู่ในประเทศไทยนั้น เป็นการแล่ โดยอาศัยประสบการณ์ ผู้แล่อาจไม่มีความรู้อย่างแท้จริง จึงมีความเสี่ยงเป็นอย่างยิ่งต่อการปนเปื้อนสารพิษ เตโตรโดท็อกซินในเนื้อปลา ซึ่งขณะนี้ยังไม่มียาใดสามารถรักษาพิษดังกล่าวได้

           เลขาธิการฯ อย. กล่าวในตอนท้ายว่า อย. ขอเตือนผู้ประกอบการที่ฝ่าฝืนประกาศฯ ลักลอบผลิต/นำเข้า/จำหน่ายปลาปักเป้า ขอให้หยุดการกระทำดังกล่าว พร้อมกันนี้ อย. ได้ประสานสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ให้ตรวจสอบการลักลอบผลิต/ นำเข้า/จำหน่าย ปลาปักเป้าและอาหารที่มีเนื้อปลาปักเป้าเป็นส่วนผสม และดำเนินการตามกฎหมายทันที ซึ่งหาก อย. พบผู้ผลิต/นำเข้า/จำหน่าย ปลาปักเป้า จะมีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 2 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000-20,000 บาท กรณีจำหน่ายปลีกให้แก่ผู้บริโภคโดยตรง จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือ ปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากผู้บริโภคพบเห็นการกระทำดังกล่าว ขอให้แจ้งเบาะแสมาที่สายด่วน อย. 1556 เพื่อ อย. จะได้ดำเนินการปราบปราบผู้ประกอบการที่เอาเปรียบผู้บริโภค โดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภคให้ถึงที่สุด สำหรับข้อเรียกร้องให้ทบทวนแก้ไขประกาศฯ นั้น อย. อยู่ในระหว่างศึกษาวิเคราะห์ข้อมูล ทั้งด้านความปลอดภัยของผู้บริโภค และความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ รวมทั้งมาตรการรองรับที่เหมาะสม ชัดเจน และสามารถปฏิบัติได้ ดังนั้น ในขณะนี้จึงขอให้ผู้ประกอบการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด


8 สิงหาคม 2554

Next post > หมอชี้ชายรักชายเสี่ยงป่วยมะเร็งปากทวารหนักมากกว่าคนทั่วไป 40 เท่า !!

< Previous post กรมวิทย์ฯ พัฒนาเทคนิคสำเร็จตรวจเชื้อเอชไอวีทารกแรกเกิด

Related Posts

ข่าวที่เข้าชมมากที่สุด ในรอบ 3 เดือน

HITAP เป็นข่าว ล่าสุด