logo

HITAP ร่วมมือกับกรมการแพทย์ จัดการประชุมผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในโครงการ “การพัฒนาแนวทางการประเมินความคุ้มค่าฯ ปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ เพื่อบรรจุในชุดสิทธิประโยชน์ ในระบบประกันสุขภาพของประเทศไทย”

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
“มาร์ค” ส่งสัญญาณขึ้นภาษีเหล้า-บุหรี่ กันเหล้านอกแห่เข้าไทย

Link: http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9530000165175

เมื่อเวลา 13.00 น.วันที่ 22 พ.ย.ที่โรงแรมรามาการ์เด้นท์ ในการประชุมวิชาการสุราระดับชาติ ครั้งที่ 6 สุราในโลกเสรี จัดโดยศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) โดย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้มอบรางวัล “บุคคลต้นแบบในการจัดการปัญหาสุรา” ให้กับนพ.สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮฮล์ ซึ่งมีผลงานด้านจัดการปัญหาสุราดีเด่น

จากนั้น นายอภิสิทธิ์ ได้กล่าวในการเสวนาเรื่อง “ปฏิรูปนโยบายแอลกอฮอล์ ปฏิรูปอนาคตประเทศไทย” ว่า การหลักการแก้ปัญหาใหญ่ เช่น เอดส์ สุรา บุหรี่ หลักการสำคัญ คือ 1.ต้องกล้าเผชิญปัญหา 2.มีมาตรการหลากหลายรองรับ ทั้งจากมาตรการทางกฎหมาย และมาตรการทางสังคม อาทิ การสร้างค่านิยม การทำความเข้าใจกับประชาชน และ 3.ติดตามปัญหาอย่างต่อเนื่อง เพราะปัญหาเหล่านี้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะหนึ่งในมาตรการที่รัฐบาลให้ความสำคัญ คือ มาตรการทางด้านภาษีเพื่อจูงใจให้ลดการบริโภค ซึ่งรัฐบาลส่งสัญญาณชัดเจนว่าจะต้องมีการขึ้นภาษีเหล้า บุหรี่ แม้ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ และจะต้องปรับขึ้นไปอย่างต่อเนื่องตามอัตราเงินเฟ้อ แต่ก็ต้องดูให้ไม่เกิดปัญหาสุราหนีภาษีมากขึ้น นอกจากนั้น การโฆษณาก็เป็นประเด็นสำคัญ เพราะเห็นได้ชัดว่าการห้ามโฆษณาได้ผลมาก

 

นายกฯ กล่าวอีกว่า ส่วนที่หลายฝ่ายกังวลกันว่า การเปิดการค้าเสรีแล้วจะทำให้ราคาเหล้านำเข้าถูกลง สามารถแก้ปัญหาด้วยการเพิ่มภาษีในประเทศให้สูงขึ้น ส่วนปัญหาเรื่องการกำหนดฉลากตราสินค้าบนผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์หากพิจารณาจะพบว่าไม่ได้เป็นมาตรการกีดกันทางการค้า เพราะไทยไม่ได้ปฏิบัติกับสินค้าจากต่างประเทศต่างจากสินค้าในประเทศ

จุดอ่อนสังคมไทยคือการบังคับใช้กฎหมาย ดังนั้นมาตรการที่จะต้องดำเนินการควบคู่กันไป คือ การเสริมความเข้มแข็งของชุมชนโดยรอบ ช่วยกันสอดส่องดูแล นอกจากนั้น จะต้องมีมาตรการเจาะกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ เช่น ในเด็กและผู้หญิง ที่กำลังเป็นเป้าหมายทางตลาดใหม่ ทั้งนี้ ไม่ว่าสถานการณ์บ้านเมืองจะเป็นอย่างไร ผมก็ยังให้ความสำคัญกับปัญหาด้านสังคม และตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา ก็เป็นประธานในคณะกรรมการชาติด้านสังคมด้วยตนเองทั้งหมด รวมทั้งเป็นประธานบอร์ด สสส.และประธานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งส่วนหนึ่งก็ทำให้รู้สึกอุ่นใจว่า มีกฎหมายให้อำนาจลงไปยังเครือข่ายประชาชน และนำเงินภาษีเหล้า บุหรี่ไปทำงาน และสามารถนำข้อเสนอแนะต่างๆ เสนอเข้าสู่ ครม.เพื่อพิจารณาและกำหนดเป็นนโยบายต่อไปได้” นายกฯ กล่าว

นายกฯ กล่าวต่อว่า สำหรับมาตรการการรณรงค์ลดอุบัติเหตุทางถนน ปัจจุบันการรณรงค์ถือว่าได้ผลและเป็นหัวใจที่ทำให้อุบัติเหตุลดลง ซึ่งการเกิดอุบัติเหตุพบสาเหตุ ว่า 1 ใน 3 มาจากการดื่มแอลกอฮอล์ โดยปีนี้ได้จัดเป็นวาระแห่งชาติด้านความปลอดภัยทางถนนมีการตั้งเป้าหมายลดอุบัติเหตุลง 30% และจะมีการตั้งเป้าในอนาคตให้ลดลงมาครึ่งหนึ่ง ทั้งนี้ แม้กฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะบังคับใช้ 2 ปี แต่ก็ยังมีปัญหาทางด้านเทคนิคในเรื่องการตีความไม่ตรงกัน โดยเฉพาะเรื่องการโฆษณา ก็จะต้องมีการหามาตรการที่สามารถนำมาใช้ได้อย่างเหมาะสม แต่จำเป็นที่จะต้องใช้มาตรการที่เข้มงวดมากขึ้นเป็นลำดับต่อไป

นพ.อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม ที่ปรึกษากองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า การรณรงค์ลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 8 ปีที่ผ่านมา ทำให้ประชาชนเข้าใจและตระหนักมากขึ้น จากการสำรวจ การงดเหล้าเข้าพรรษา 3 เดือน มีประชาชนเข้าร่วม 5 ล้านคน ลดค่าใช้จ่ายได้ถึงปีละ 3 หมื่นล้านบาท ขณะนี้บริษัทเหล้ามีกลยุทธ์ทางการตลาดที่แยบยล โน้มน้าววัยรุ่นทุกวิธี เช่น การจัดคอนเสิร์ต การโฆษณาทางอินเทอร์เน็ต ทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งแม้จะมีกฎหมายควบคุม แต่ก็ยังไม่ครอบคลุม ซึ่งต้องชื่นชม นายกฯ ที่มีความเข้าใจในมาตรการป้องกันประชาชนอย่างดี ซึ่งหากภาครัฐร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดนโยบาย ก็จะทำให้ประชาคมสามารถเดินหน้างานให้ประสบความสำเร็จได้ ซึ่งในปี 2554 ไทยจะได้รับโอกาสให้เป็นเจ้าภาพการประชุมวิชาการนโยบายควบคุมแอลกอฮอล์ระดับโลกครั้งแรก ซึ่งเกิดจากความเข้มแข็งในการทำงานที่ผ่านมา

ศ.โทมัส บาร์เบอ หัวหน้าภาควิชาแพทย์ศาสตร์ชุมชน มหาวิทยาลัยคอนเน็ตติกัท สหรัฐอเมริกา กล่าวว่า ประเทศอังกฤษ และรัสเซีย เป็นตัวอย่างของการกำหนดนโยบายด้านการควบคุมแอลกอฮอล์ไม่ได้ผล เพราะลดทอนนโยบายหลายประการให้อ่อนแอลง รวมถึงยอมให้มีการลดราคาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้ประชาชนซื้อหาได้ง่าย และยอมให้โฆษณาเสรี นำไปสู่ปัญหาร้ายแรงคือมีผู้ดื่มมากขึ้น ที่อังกฤษโรคตับแข็งในผู้หญิงสูงขึ้นมาก ในรัสเซียอายุขัยเฉลี่ยของประชากรลดลงถึงสี่ปี แต่เมื่อมีการปรับนโยบายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้มแข็งขึ้นก็ทำให้อายุขัยของประชากรกลับมาสูงขึ้น ขณะที่ประเทศศรีลังกาและไทยประสบความสำเร็จในเรื่องดังกล่าวอย่างมาก เพราะรัฐและสังคมให้ความสนใจ มีมาตรการที่หลากหลายออกมา อย่างไรก็ตาม อยากสนับสนุนให้แต่ละประเทศมีนโยบายการค้าที่คำนึงถึงเรื่องสุขภาพของประชาชน การทำการตลาดต้องคำนึงถึง ทั้งในระดับเศรษฐกิจที่ต้องรักษาไว้ แต่ก็ต้องดูแลสุขภาพของประชาชนด้วย

23 พฤศจิกายน 2553

Next post > "จุรินทร์” รณรงค์ใช้ถุงยางอนามัย ลดการติดเชื้อเอดส์รายใหม่ ตั้งเป้าปีหน้าลดเหลือไม่เกิน 5-6 พันราย

< Previous post แก้กม.กระจกตาศพชันสูตร

Related Posts

ข่าวที่เข้าชมมากที่สุด ในรอบ 3 เดือน

HITAP เป็นข่าว ล่าสุด