logo
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP

“จุรินทร์” เผยคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ 4 ยุทธศาสตร์ควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

http://www.moph.go.th/ops/iprg/iprg_new/include/admin_hotnew/show_hotnew.php?idHot_new=34992

       วันนี้ (22 พฤศจิกายน 2553) ที่โรงแรมรามาการ์เด้นท์ กทม. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธานเปิดงานประชุมวิชาการสุราระดับชาติ ครั้งที่ 6 เรื่อง “สุราในโลกเสรี (Alcohol Problems in the Globalized World)” จัดโดยศูนย์วิจัยสุรา (ศวส.)และให้สัมภาษณ์ว่า ปัจจุบันประชาชนเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากขึ้น ทำให้เกิดปัญหาสังคมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งน่าเป็นห่วงมาก โดยในช่วง 10 ปีมีผู้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 โดยเฉพาะในกลุ่มผู้หญิงดื่มเพิ่มขึ้นร้อยละ 65 นอกจากนี้ในกลุ่มวัยรุ่นอายุ 15-19 ปี ดื่มเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 70 และจากข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในปี 2550 มีผู้ดื่มแอลกอฮอล์ 51.1 ล้านคน ในจำนวนนี้ดื่มเป็นประจำ 14.9 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 29.3 และยังพบว่าผู้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีปัญหาอย่างน้อย 1 ครั้ง 1 เรื่องต่อปี ถึง 6.9 ล้านคน

       นายจุรินทร์กล่าวว่า จังหวัดที่มีผู้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำทุกวันมากที่สุด 4 จังหวัดแรกได้แก่ แพร่ อุตรดิตถ์ ตราดและเชียงใหม่ จังหวัดที่มีผู้ดื่มเมาหนักที่สุด ได้แก่ มุกดาหาร แพร่ สระแก้วและปราจีนบุรี โดยข้อมูลจากกรมสรรพสามิต ในปี 2550 พบคนไทยดื่มเฉลี่ย 51 ลิตรต่อคนต่อปี ในปี 2551 ลดลงเหลือ 45.7 ลิตรต่อคนต่อปี นอกจากนี้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้สำรวจผู้ดื่มแอลกอฮอล์ในกลุ่มนักเรียนมัธยม พบว่า วัยรุ่นที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะถูกบังคับให้มีเพศสัมพันธ์มากกว่าผู้ที่ไม่ดื่ม 2 เท่า ทำให้มีโอกาสเกิดปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ นำไปสู่การทำแท้ง เป็นปัญหาสังคมต่อไป จำเป็นที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งดำเนินการแก้ไข เพื่อลดจำนวนผู้ดื่มและนักดื่มหน้าใหม่ลง


        นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบ 4 ยุทธศาสตร์หลักในการควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ได้แก่ 1.ยุทธศาสตร์ควบคุมการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยใช้มาตรการภาษี ราคา การกำหนดเวลา –สถานที่ในการจำหน่าย 2.ยุทธศาสตร์การปรับเปลี่ยนค่านิยม เพราะต้องยอมรับความจริงว่า ต้องสู้กับการโฆษณาประชาสัมพันธ์ของบริษัทจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่างๆ 3.ยุทธศาสตร์การควบคุมการดื่มที่จะนำไปสู่ความไม่ปลอดภัย การเจ็บป่วยและเสียชีวิต และ 4.ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการเพื่อแก้ปัญหาการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลึกลงไปถึงระดับชุมชน สถานประกอบการ และพื้นที่ต่างๆ อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งยุทธศาสตร์ทั้ง 4 ข้อ ของประเทศไทยมีความก้าวหน้ามาก และสามารถดำเนินการได้ก่อนที่สมัชชาอนามัยโลก จะได้กำหนดเป็นยุทธศาสตร์โลกในการควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่เพิ่งประกาศเมื่อเดือนพฤษภาคม 2553 นี้ โดยจะเป็นยุทธศาสตร์ที่มุ่งเน้นการดูแลในส่วนสุขภาพอนามัยของประชาชนเป็นหลัก

23 พฤศจิกายน 2553

Next post > "จุรินทร์” รณรงค์ใช้ถุงยางอนามัย ลดการติดเชื้อเอดส์รายใหม่ ตั้งเป้าปีหน้าลดเหลือไม่เกิน 5-6 พันราย

< Previous post แก้กม.กระจกตาศพชันสูตร

Related Posts

ข่าวที่เข้าชมมากที่สุด ในรอบ 3 เดือน

HITAP เป็นข่าว ล่าสุด