logo

HITAP ร่วมมือกับกรมการแพทย์ จัดการประชุมผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในโครงการ “การพัฒนาแนวทางการประเมินความคุ้มค่าฯ ปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ เพื่อบรรจุในชุดสิทธิประโยชน์ ในระบบประกันสุขภาพของประเทศไทย”

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP

แก้กม.กระจกตาศพชันสูตร

http://www.thaipost.net/news/221110/30439

     ศ.นพ.วิรัติ พาณิชย์พงษ์ กรรมาธิการวุฒิสภา เปิดเผยว่า ขณะนี้ตนได้เสนอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายประมวลวิธีพิจารณาคดีความอาญา มาตรา 151 ในการชันสูตรพลิกศพ โดยให้แพทย์ผู้ทำการชันสูตรสามารถนำกระจกตาออกจากศพได้ เพื่อนำมาช่วยผู้ที่มีปัญหากระจกตาเสื่อมหรือตาบอด ซึ่งขณะนี้มีผู้ที่รอรับการบริจาคกระจกตาอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งนี้แม้ว่าขณะนี้จะมีผู้แสดงความประสงค์ที่จะขอบริจาคกระจกตาจำนวนมาก โดยมีจำนวนถึง 500,000-600,000 คน แต่ปัญหาคือ ยังไม่สามารถนำกระจกตามาได้จนกว่าผู้บริจาคจะเสียชีวิตลงก่อน และในกรณีที่เสียชีวิตแล้ว แม้ว่าจะแสดงความประสงค์ไว้ แต่หากญาติไม่แจ้งมายังสภากาชาดไทย ทางเจ้าหน้าที่ก็จะไม่ทราบ และไม่สามารถเก็บกระจกตาของผู้ที่ต้องการบริจาคได้ อีกทั้งยังมีกรณีที่ญาติไม่อนุญาตก็ไม่สามารถผ่ากระจกตาออกจากศพได้อีก ดังนั้นในแต่ละปียอดรับบริจาคกระจกตาที่ได้รับจริงๆ จึงน้อยมาก มีเพียงแค่ 200 คู่ หรือ 400 ข้างเท่านั้น ขณะที่มียอดผู้ที่แสดงความประสงค์ขอรับการบริจาคถึง 5,000 ราย
    

    ศ.นพ.วิรัติกล่าวว่า กระจกตาถือว่ามีความจำเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะผู้ที่มีภาวะกระจกตาเสื่อมหรือขุ่น ส่วนใหญ่จะเกิดในผู้สูงอายุหรือผู้ที่ตาบอดจากอุบัติเหตุ ซึ่งจะมีความลำบากในการใช้ชีวิต จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดเพื่อใส่กระจกตาใหม่ ซึ่งหากผ่านกฎหมายนี้ได้ภายใน 1 ปี จะสามารถผ่าตัดช่วยเหลือผู้ป่วยกระจกตาเสื่อมเหล่านี้ได้เกือบทั้งหมด เพราะในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตที่ต้องส่งผ่าชันสูตรกับทางแพทย์นิติเวชจำนวนมาก โดยในต่างประเทศอย่างสหรัฐ ก็เปิดช่องนี้ไว้เพื่อให้สามารถนำกระจกตาของผู้เสียชีวิตมาใช้ได้เลย เพียงแต่ต้องผ่านการคัดกรองก่อนว่า ผู้เสียชีวิตรายดังกล่าวมีโรคติดต่อใดๆ หรือไม่เท่านั้น ดังนั้นตนจึงคิดว่าในส่วนประเทศไทยเองก็น่าที่จะทำได้เช่นกัน ทั้งนี้การนำกระจกตาจากผู้เสียชีวิตนั้น ทางเจ้าหน้าที่จะต้องจัดเก็บภายใน 6 ชั่วโมงหลังการเสียชีวิต ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถนำมาผ่าตัดใส่ให้กับผู้ป่วยได้
    

     “ขณะนี้มีผู้รอกระจกตาสะสมรวม 5,000 คนแล้ว ซึ่งผู้ที่รอคิวกระจกตาไม่ใช่ว่าจะรอรับได้ตามคิว เพราะหากมีกรณีอุบัติเหตุที่ดวงตาได้รับบาดเจ็บ ซึ่งในกรณีที่เป็นคนหนุ่มสาวก็อาจจะได้รับการพิจารณาก่อน เนื่องจากถือว่ามีความจำเป็นมากกว่า ส่วนในกลุ่มผู้สูงอายุก็ต้องรอคิวต่อไป” ศ.นพ.วิรัตน์กล่าว และว่า ขณะนี้ตนได้ร่างแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายประมวลวิธีพิจารณาคดีความอาญา มาตรา 151 แล้ว และได้เสนอต่อทางกฤษฎีกาเพื่อให้ขอให้พิจารณาถ้อยคำเพื่อกันไม่ให้ถูกโจมตี แล้วจึงนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาในชั้นสภาผู้แทนราษฎรต่อไป อย่างไรก็ตามเห็นว่า คงไม่ทันสมัยประชุมนี้เพราะใกล้หมดวาระแล้ว คงต้องนำเสนอในสมัยประชุมหน้าต่อไป
    

     ต่อข้อซักถามว่า การที่แพทย์หรือเจ้าหน้าที่นำกระจกตาออกจากผู้เสียชีวิตโดยไม่ขออนุญาตก่อนนั้น แม้ว่าจะมีกฎหมายบังคับแต่อาจถูกโจมตีว่าเป็นการละเมิดสิทธิบุคคลนั้น ศ.นพ.วิรัติกล่าวว่า เรื่องนี้เราก็ระวังและพิจารณา โดยในข้อกฎหมายจะเขียนเปิดช่องให้สามารถนำกระจกตาออกมาได้ตามความเหมาะสม ถ้าในกรณีที่ญาติไม่ยินยอมจริงๆ ก็คงไม่สามารถนำกระจกตาออกจากศพได้ รวมถึงกรณีผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามที่มีข้อห้ามไว้ อย่างไรก็ตามเรื่องนี้หากสังคมเข้าใจ ส.ส.เข้าใจ ก็น่าที่กฎหมายจะผ่านออกมาได้ เพราะถือว่าเป็นประโยชน์ในทางการแพทย์อย่างมาก ทั้งยังเป็นการช่วยเหลือคน.

22 พฤศจิกายน 2553

Next post > “จุรินทร์” เผยคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ 4 ยุทธศาสตร์ควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

< Previous post โพลชี้ประชาชนให้คะแนนบัตรทองเกือบเต็ม 10!!

Related Posts

ข่าวที่เข้าชมมากที่สุด ในรอบ 3 เดือน

HITAP เป็นข่าว ล่าสุด