ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
Link: http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9530000162170
เวลาที่เราหัวเราะ หรืออ้าปากกว้างๆ แล้วไม่สามารถหุบปากลงได้ อาจเกิดจากความผิดปกติของขากรรไกร ความผิดปกติของขากรรไกรมีหลายสาเหตุ ส่วนใหญ่มักเกิดจากการสบฟันที่ผิดปกติ ถอนฟันหลังแล้วไม่ได้ใส่ฟันปลอม เคยได้รับอุบัติเหตุบริเวณศีรษะและใบหน้า เป็นโรคข้อเสื่อม มีสุขนิสัยที่ผิดปกติ เช่น นอนกัดฟัน ไถฟันขณะที่มีภาวะเครียด
อาการที่พบได้บ่อย คือ ปวดบริเวณหน้า หู กราม ขมับ และจะปวดเพิ่มมากขึ้นเมื่อขากรรไกรทำหน้าที่เคี้ยวอาหาร หาว พูด หรือถูกกดบริเวณนั้น บางครั้งอาการปวดอาจร้าวไปที่คอ ไหล่ และหลังได้ ที่เป็นเช่นนี้เพราะข้อต่อที่เชื่อมระหว่างขากรรไกรล่างและกะโหลกศีรษะอยู่ในตำแหน่งด้านข้างของใบหน้าที่บริเวณหน้าหูทั้งสองข้างนั่นเอง นอกจากนี้อาจมีเสียงคลิกและเสียงกรอบแกรบ ตามมาด้วยอาการอ้าปากได้น้อยลง บางรายขากรรไกรค้าง และอาจมีการหดเกร็งของกล้ามเนื้อบดเคี้ยวร่วมด้วย
การรักษา ในกรณีที่เกิดจากการสบฟันที่ผิดปกติ ต้องรักษาด้วยการจัดฟันและอาจต้องผ่าตัดขากรรไกรซึ่งเป็นเทคนิคของทางศัลยกรรมช่องปาก หรือกรณีถอนฟันหลังไปหลายซี่ สามารถรักษาด้วยการใส่ฟันปลอมเพื่อให้มีการสบฟันที่ดี
ส่วนผู้ที่นอนกัดฟันเป็นประจำ มักจะเจ็บปวดกล้ามเนื้อที่ใช้หุบปากบริเวณหน้าหูหรือมุมกรามขณะตื่นนอนหรือเคี้ยวอาหาร เราสามารถลดอาการปวด โดยใช้นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนางของมือซ้ายและขวา ทำการนวดกดจุดที่ปวด 15 นาที สลับด้วยการประคบอุ่น 15 นาที จะช่วยให้กล้ามเนื้อทำงานประสานกันได้ดีขึ้น ช่วยให้อ้าปากได้กว้างขึ้น ร่วมด้วยการใส่เครื่องมือกันกัดฟันเพื่อลดแรงกัดช่วยให้อาการปวดกล้ามเนื้อลดลงได้
ในรายที่มี อาการขากรรไกรค้าง แก้ไขด้วยการขยับขากรรไกรล่างไปซ้ายทีขวาทีสลับกันจนเข้าที่ แต่ถ้าไม่สามารถทำได้อาจต้องหาผู้ช่วย โดยผู้ป่วยนั่งตัวตรงก้มหน้าเล็กน้อยและให้ผู้ที่มาช่วยเหลือยืนหันหน้าเข้าหากัน นำนิ้วโป้งของทั้งสองมือวางที่ตำแหน่งฟันกราม นิ้วที่เหลือทั้งสี่รองใต้ขากรรไกร จากนั้นออกแรงกดขากรรไกรลงในแนวดิ่งเพื่อให้ข้อต่อขากรรไกรเคลื่อนพ้นสันกระดูกที่ติดอยู่ แล้วดันไปด้านหลังให้ขากรรไกรเคลื่อนกลับเข้าที่ รวมทั้งพยายามพูดคำว่า “เอ็ม” เพื่อลดความเจ็บปวดของกล้ามเนื้อที่ใช้บดเคี้ยวและข้อต่อขากรรไกร เพราะในขณะที่พูด ฟันทุกซี่จะไม่กระแทกกัน วิธีการบริหารข้อต่อขากรรไกรทุกวันสามารถลดโอกาสเกิดภาวะขากรรไกรค้างได้ เพราะสามารถเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อที่ยึดบริเวณข้อต่อขากรรไกร โดยทำการบริหารวันละ 5-10 ครั้งๆ ละ 3 ท่า
ท่า 1 ใช้กำปั้นดันคางในแนวดิ่งพร้อมกับ ออกแรงอ้าปากเล็กน้อย ค้างไว้ 10 วินาที
ท่า 2 ใช้กำปั้นดันคางด้านซ้ายพร้อมกับ ออกแรงอ้าปากเยื้องด้านซ้าย ค้างไว้ 10 วินาที
ท่า 3 ใช้กำปั้นดันคางด้านขวาพร้อมกับ ออกแรงอ้าปากเยื้องด้านขวา ค้างไว้ 10 วินาที
นอกจากนี้ ผู้ที่มีอาการขากรรไกรค้าง ควรงดอาหารที่แข็ง เหนียว ไม่เคี้ยวหมากฝรั่ง งดเล่นเครื่องดนตรีชนิดเป่าและงดการดำน้ำ เพราะการใช้ฟันหน้ากัดเครื่องดนตรีหรือท่อช่วยหายใจ จะทำให้มีแรงกดต่อขากรรไกรมากขึ้น รวมทั้งรับประทานยาแก้ปวด ยาต้านการอักเสบในรายที่มีอาการเฉียบพลันและรุนแรง
ว่าแต่อย่าชะล่าใจ เมื่อได้รับการรักษาจนอาการดีขึ้นแล้ว ก็อาจกลับมาเป็นใหม่ได้อีก แต่ด้วยวิทยาการทางการแพทย์ ทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสามารถช่วยให้ผู้ป่วยอ้าปากได้กว้างขึ้น ปากไม่ค้างเวลาขยับ ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการบดเคี้ยวและระบบการย่อยอาหารดีขึ้น
18 พฤศจิกายน 2553