logo

HITAP ร่วมมือกับกรมการแพทย์ จัดการประชุมผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในโครงการ “การพัฒนาแนวทางการประเมินความคุ้มค่าฯ ปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ เพื่อบรรจุในชุดสิทธิประโยชน์ ในระบบประกันสุขภาพของประเทศไทย”

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
อย.เตือนเข้ม คลินิกและสถานเสริมความงามทุกแห่ง ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย

อย.เตือนเข้ม คลินิกและสถานเสริมความงามทุกแห่ง ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย

http://www.moph.go.th/ops/iprg/iprg_new/include/admin_hotnew/show_hotnew.php?idHot_new=34803

นพ.พิพัฒน์  ยิ่งเสรี  เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า  จากนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) ในการคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความปลอดภัยจากการใช้บริการ ณ สถานพยาบาล และสถานเสริมความงามต่างๆ ที่ขณะนี้เปิดให้บริการแพร่หลายในศูนย์การค้าและแหล่งชุมชนทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ปฏิบัติงานเชิงรุกในการกำกับเฝ้าระวังสถานเสริมความงามต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง โดยช่วงเดือนตุลาคม 2553 ทีมเจ้าหน้าที่ อย. ได้ออกสำรวจสถานบริการเสริมความงาม  สถานบริการลดน้ำหนัก  ทั้งที่จดทะเบียนเป็นสถานพยาบาลและที่ไม่ได้  จดทะเบียนสถานพยาบาล  โดยพบว่ามีการโฆษณาเครื่องมือแพทย์ที่ใช้ในสถานบริการ ในรูปแบบของแผ่น      แบนเนอร์  แผ่นพับแจกเผยแพร่  หน้าสถานบริการพบตัวหนังสือโฆษณาสรรพคุณที่กระจกหน้าร้าน รวมทั้งมีการโฆษณาผ่านทางเว็บไซต์ด้วย  ส่วนใหญ่จะระบุข้อความว่า :-  มีเครื่องเลเซอร์เสริมความงาม  เครื่องอัลตราซาวด์  ไอออนโต Ionto  อินฟราเรด IPL เทอร์มาจ       ลดน้ำหนัก ใช้คลื่นวิทยุความถี่สูงในการเสริมความงาม เป็นต้น ซึ่งจัดเป็นโฆษณาเครื่องมือแพทย์ ที่ต้องขออนุญาตจาก อย. ก่อน หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

       สำหรับวัสดุอุปกรณ์ที่นำมาใช้บริการในสถานเสริมความงาม  จัดเป็นเครื่องมือแพทย์ที่ต้องมาขออนุญาตขึ้นทะเบียนให้ถูกต้องด้วย ซึ่งจะต้องมีใบรับรองการนำเข้าจาก อย. ก่อน จึงจะนำมาใช้บริการได้เช่นกัน หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงขอให้ผู้ประกอบการสถานเสริมความงาม สถาบันลดน้ำหนักทุกแห่ง ตรวจสอบว่าเครื่องมือแพทย์ที่ใช้ในสถานบริการ เป็นเครื่องมือแพทย์ที่มีการนำเข้าโดยถูกกฎหมายหรือไม่ ซึ่ง เจ้าหน้าที่ อย. จะออกตรวจเข้มในเดือนธันวาคม 2553  นอกเหนือจากนี้  การใช้เครื่องมือแพทย์กับผู้รับบริการเสริมความงามดังกล่าว เข้าข่ายประกอบโรคศิลปะ หรือการประกอบวิชาชีพเวชกรรม หากพบว่ามีการประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนและรับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน  3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากพบว่ามีการประกอบกิจการและดำเนินการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี  หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

      เลขาธิการฯ อย. กล่าวต่อไปว่า  ขณะนี้ยังพบสถานบริการลดน้ำหนักที่กระทำผิดกฎหมายอยู่จำนวนมาก โดยใช้อุปกรณ์ที่เป็นเครื่องมือแพทย์ที่ไม่ได้ขออนุญาตถูกต้อง หรือมีการใช้ยาลดความอ้วน หรือการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอ้างลดความอ้วน ทั้งนี้ จากการสุ่มตรวจวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์ยา ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ที่อ้างลดความอ้วน  มักจะแอบใส่ไซบูทรามีน (Sibutramine) ซึ่งเป็นอันตรายต่อร่างกาย โดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด ซี่งปัจจุบัน อย. ได้มีการถอนผลิตภัณฑ์ “ยาไซบูทรามีน” ออกจากตลาดแล้ว ดังนั้น ขอเตือนสถานพยาบาล และสถานเสริมความงามทุกแห่งหยุดใช้ยานี้  หากพบสถานที่ใดมีการใช้ไซบูทรามีนในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ผลิตภัณฑ์ยา โดยไม่ได้รับอนุญาต  หรือยังพบแพทย์ เภสัชกร สั่งจ่ายยาไซบูทรามีนให้แก่ผู้ที่ต้องการลดความอ้วนอยู่  จะถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย  และถูกดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด 

       นอกจากนี้ อย. ขอเตือนมายังสถานเสริมความงามที่จำหน่ายเครื่องสำอางด้วย  หากตรวจพบว่าจำหน่ายเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของสารห้ามใช้  ก็จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ข้อหาขายเครื่องสำอางที่ ไม่ปลอดภัยในการใช้ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ  แต่หากพบขายเครื่องสำอางที่แสดงฉลากไม่ถูกต้อง เช่น ไม่มีฉลากภาษาไทย, ไม่แสดงชื่อ ที่ตั้งผู้ผลิต, ไม่แสดงวัน เดือน ปี ที่ผลิต  เป็นต้น  มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ  หรือหากพบขายเครื่องสำอางที่โอ้อวดสรรพคุณเกินจริง เจตนาก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับเครื่องสำอาง มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับด้วย

           เลขาธิการฯ  อย.  กล่าวเพิ่มเติมในตอนท้ายว่า ขอเตือนมายังประชาชนอย่าตกเป็นเหยื่อหลงเชื่อโฆษณาของสถานเสริมความงามต่างๆ  เพียงเพื่อต้องการให้ตนเองดูดี  โดยเสียค่าใช้จ่ายราคาสูง ผลที่ได้รับอาจไม่คุ้มค่า อาจเกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย ทำให้เกิดการอักเสบ หรือทำให้ใบหน้าเสียโฉมได้ ควรคำนึงว่าผิวธรรมชาติดีที่สุด หรือหากลดความอ้วนก็ไม่จำเป็นต้องใช้ยาหรือบริโภคผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ควรดูแลตนเองด้วยการออกกำลังกายและรับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ หากผู้บริโภคพบเห็นสถานพยาบาล หรือสถานเสริมความงามใดทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ให้บริการที่โฆษณาโอ้อวดเกินจริง หรือใช้วัสดุทางการแพทย์ที่ไม่ถูกต้อง สามารถแจ้งร้องเรียนได้ที่ สายด่วน อย. 1556  หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัดที่พบปัญหา  เพื่อ  อย.  จะได้ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมาย คุ้มครองประชาชนชาวไทยให้ได้รับความปลอดภัย

15 พฤศจิกายน 2553

Next post > “จุรินทร์”ยกระดับ รพ.มาบตาพุดเป็น 200 เตียง และตั้งสถาบันอาชีวเวชศาสตร์และเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อมดูแลป้องกันผลกระทบสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

< Previous post อหิวาต์คร่าชีวิต 10 ราย พบปัตตานีป่วยกว่า 1 พันราย

Related Posts

ข่าวที่เข้าชมมากที่สุด ในรอบ 3 เดือน

HITAP เป็นข่าว ล่าสุด