logo
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP

Link: http://www.manager.co.th/Qol/ViewNews.aspx?NewsID=9530000159694

วันนี้ (11 พ.ย.) เวลา 14.30 น. ศ.คลินิก นพ.ธีรวัฒน์ กุลทนันทน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ในฐานะรองประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมด้วย นายธานี ทองภักดี รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสารนิเทศในฐานะประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานคณะกรรมการรางวัลนานาชาติ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ และ นายเคนเน็ธ ฟอสเตอร์ ที่ปรึกษาด้านการสื่อสารมวลชน สถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ได้ร่วมกันแถลงผลการตัดสินผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ครั้งที่ 19 ประจำปี 2553 ณ ห้องสมเด็จพระบรมราชชนก ตึกสยามินทร์ ชั้น 2 โรงพยาบาลศิริราช

โดย ศ.คลินิก นพ.ธีรวัฒน์ กล่าวว่า ในปีนี้ มีผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2553 ทั้งสิ้น 72 ราย จาก 31 ประเทศ คณะกรรมการที่ปรึกษาทางวิชาการได้พิจารณากลั่นกรอง และคณะกรรมการรางวัลนานาชาติ ได้พิจารณาจากผู้ได้รับการเสนอชื่อรวม 3 ปี คือ ปี 2553, 2552, 2551 และนำเสนอต่อคณะกรรมการมูลนิธิ ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธาน ได้ทรงพิจารณาตัดสินเป็นขั้นสุดท้ายเมื่อวันที่ 1 พ.ย.53 ที่ผ่านมา

ด้าน นายธานี กล่าวต่อว่า คณะกรรมการมูลนิธิฯ มีมติตัดสินผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี พ.ศ.2553 จำนวน 5 คน แบ่งเป็นบุคลากรในสาขาการแพทย์ 2 คน และด้านการสาธารณสุข 3 คน สำหรับด้านการแพทย์ ได้แก่

  1. ศ.นพ.นิโคลัส เจ ไวท์ (Professor Nicholas J. White) ประธานหน่วยวิจัยโรคเขตร้อน เวลคัม ทรัสต์ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และ ศาสตราจารย์เวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด สหราชอาณาจักร จากผลงานด้านการรณรงค์ให้ใช้ยาสูตรผสมอาเทมิซินินรักษาโรคมาลาเรีย

  2. ศ.นพ.เควิน มาร์ช (Professor Kevin Marsh) ผู้อำนวยการโครงการวิจัยเวลคัม-เคมรี่ (Wellcome-KEMRI Research Programme) และ ศาสตราจารย์เวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด สหราชอาณาจักร จากผลงานการศึกษาด้านระบาดวิทยาภูมิคุ้มกันของโรคมาลาเรีย

    ส่วนผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี พ.ศ.2553 สาขาสาธารณสุขจำนวน 3 คน คือ

  1. .ศ.นพ.อนันดา เอส ประสาด (Professor Ananda S. Prasad) ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเวย์นสเตท สหรัฐอเมริกา จากผลงานด้านการทำงานริเริ่มเกี่ยวกับความสำคัญของธาตุสังกะสีที่มีต่อสุขภาพมนุษย์

  2. ศ.นพ.เคนเนท เอช.บราวน์ (Professor Kenneth H. Brown)ศาสตราจารย์ภาควิชาโภชนาการ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตเดวิส สหรัฐอเมริกา จากผลงานการทำงานที่โดดเด่นในการเสริมธาตุสังกะสีเพื่อลดภาวะการขาดสารอาหารในเด็ก

  3. ศ.นพ.โรเบิร์ท อี แบล็ค (Professor Robert E. Black) หัวหน้าภาควิชาสาธารณสุขระหว่างประเทศ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยจอนส์ฮอปกินส์ สหรัฐอเมริกา จากผลงานการทำงานที่โดดเด่นในการเสริมธาตุสังกะสีเพื่อลดการเจ็บป่วยและการเสียชีวิตในเด็ก

“ในการนี้ คณะกรรมการมูลนิธิฯได้ขอพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณ กราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2553 ในปลายเดือนมกราคม 2554 ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พร้อมทั้งพระราชทานเลี้ยงรับรองและอาหารค่ำเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลพร้อมคู่สมรสและแขกรับเชิญในวันเดียวกัน ณ พระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร”

ด้าน ศ.นพ.วิจารณ์ กล่าวถึงการดำเนินการคัดเลือกผู้เข้ารับพระราชทานรางวัลในปีนี้ ว่า ทางมูลนิธิฯไม่ได้ทำงานเชิงรับ รอแต่เอกสารการเสนอชื่อเพียงอย่างเดียว แต่ในระหว่างนั้นก็ได้ค้นหาผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมในการเข้ารับพระราชทานรางวัลด้วย

“เรื่องมาลาเรียและเรื่องสังกะสีนี่ เราตามมาหลายปีแล้ว คือ ค้นหาผู้ที่เหมาะสมมาประมาณ 5 ปีได้ ศ.นพ.นิโคลัส เจ ไวท์ และ ศ.นพ.เควิน มาร์ช นี่ทั้งสองท่านทำงานด้านมาลาเรียในระดับโลก จนเป็นที่รู้จักในระดับสากล แล้วเป็นโรคที่ในปีหนึ่งมีผู้ป่วยถึง 250 ล้านคนทั่วโลก และมีอัตราเสียชีวิตสูงถึงปีละประมาณ 1 ล้านคน แต่อย่าง ศ.นพ.อนันดา เอส ประสาด นี่โชคดีมากคือ ไม่ได้มีใครเสนอชื่อมา แต่ ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน คณบดีคณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้ไปพบเข้า เราก็ได้ติดต่อแล้วให้เขาเสนอชื่อมา แล้วอีก 2 ท่านทั้ง ศ.นพ.เคนเนท เอช.บราวน์ และ ศ.นพ.โรเบิร์ท อี แบล็ค ก็ทำงานด้านธาตุสังกะสีนี้เหมือนกัน”

ศ.นพ.วิจารณ์ กล่าวอีกว่า มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล มีพันธกิจหลักสำคัญแบ่งออกเป็น 3 ประการใหญ่ๆ ก็คือ รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล, ทุนพระราชทานแก่นักเรียนแพทย์ผู้มีแรงบันดาลใจในการทำประโยชน์แก่ส่วนรวม โดยพระราชทานเป็นเวลา 1 ปี เปิดโอกาสให้ผู้ได้รับทุน ทำในสิ่งที่อยากทำอันเป็นประโยชน์ โดยในปีนี้เป็นปีที่ 2 ที่พระราชทานทุนนี้ และคาดว่าจะขยายโอกาสไปยังนักเรียนด้านการสาธารณาสุขด้านอื่นๆ เช่น นักศึกษาสาธารณสุข นักศึกษาด้านการพยาบาลด้วย และการประชุมวิชาการที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี

“การประชุมของมูลนิธิฯ จะเป็นลักษณะปิด คือ ไม่ได้เปิดให้เข้าร่วมทุกคน แต่จะเป็นการเชิญประชุม โดยหัวข้อการประชุมจะเป็นเรื่องของการแพทย์และการสาธารณสุข ประชุมกันในหัวข้อนโยบายระดับโลก ตามปกติทุกปีจะเชิญประมาณ 300 คน แต่ปีนี้จะเชิญมากกว่าเดิม คือ ราวๆ 800-1,000 คน” ศ.นพ.วิจารณ์ กล่าว

12 พฤศจิกายน 2553

Next post > ปลัดสธ.เผยขณะนี้คนไทยเข้าโรงหมอเพราะป่วยเบาหวาน ชั่วโมงละ 64 ครั้ง ป่วยกว่า 3 ล้านคน พบในกทม.สูงสุด ชี้“เด็กอ้วน” ที่มีปื้นดำที่คอ ใต้รักแร้ ต้องระวัง!

< Previous post แบคทีเรียต้านฟันผุ

Related Posts

ข่าวที่เข้าชมมากที่สุด ในรอบ 3 เดือน

HITAP เป็นข่าว ล่าสุด