ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
สธ. บุกจับโรงงานผลิตยาปลอมรายใหญ่ 11 รายการ ย่านบางขุนเทียน
ส่งขายตามแนวจังหวัดชายแดน มูลค่าของกลางกว่า 20 ล้านบาท
http://www.moph.go.th/ops/iprg/iprg_new/include/admin_hotnew/show_hotnew.php?idHot_new=34772
เช้าวันนี้ (11 พฤศจิกายน 2553) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ พร้อมด้วยนายแพทย์พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และพล.ต.ต.พูลทรัพย์ ประเสริฐศักดิ์ ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (ผบก.ปคบ.) แถลงข่าวการจับกุมโรงงานผลิตยาปลอม ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของกระทรวงสาธารณสุข ในการคุ้มครองความปลอดภัยของผู้บริโภคจากการใช้ผลิตภัณฑ์สุขภาพ
นายจุรินทร์กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้ร่วมกับตำรวจ ปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค เข้าตรวจค้นโรงงานผลิตยาผิดกฎหมาย เมื่อวันอังคารที่ 9 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งโรงงานนี้เป็น 1 ใน 2 โรงงานที่ผลิตยาผิดกฎหมายที่อยู่ในบัญชีดำของอย. โรงงานแรกได้ดำเนินการจับกุมดำเนินคดีไปแล้วเมื่อไม่นานนี้ ซึ่งเป็นโรงงานผลิตยาผิดกฎหมายส่งขายตามร้านขายยาหลายแห่งทั่วประเทศ สำหรับโรงงานนี้ ชื่อ บริษัทเภสัชกรรมเรมี่ฟาร์ม จำกัด ตั้งอยู่ที่เขตบางขุนเทียน กทม. เป็นโรงงานยาขนาดใหญ่ ผู้ดำเนินกิจการ ชื่อนางสาวพัณณ์ชิตา สิทธิกุลชัยโย และจากการตรวจค้นพบว่าเป็นโรงงานที่ผลิตยาไม่ได้มาตรฐานจีเอ็มพี นอกจากนั้นยังผลิตยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาจำนวน 8 รายการ และผลิตวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทปลอม 3 รายการ ส่งขายตามร้านค้าส่งยาตามแนวจังหวัดชายแดน มูลค่าเบื้องต้นประมาณ 20 ล้านบาท
ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ยาและวัตถุออกฤทธิ์ที่ตรวจพบผิดกฎหมาย 5 รายการ ดังนี้ 1. เลขทะเบียนยาปลอม 2.ยาไม่มีเลขทะเบียน ไม่มีชื่อผู้ผลิต ระบุเพียง Made in Thailand 3.ใช้เลขทะเบียนผู้อื่น เครื่องหมายปลอม แจ้งสถานที่จัดจำหน่ายไม่มีตัวตน 4.วัตถุออกฤทธิ์ฯ ปลอมเครื่องหมายการค้า 5.วัตถุออกฤทธิ์ฯไม่มีทะเบียน ไม่มีชื่อผู้ผลิต ระบุเพียง Made in Thailand
สำหรับยาปลอมที่โรงงานแห่งนี้ทำการผลิต 8 รายการ ได้แก่1. เฟอรัส ซัลเฟต (FERROUS SULFATE) 200 มก. 2. วิตามิน บีคอมเพล็กซ์ วิตามิน บี 1, บี 2, บี6( VITAMIN B-COMPLEX SUGAR COATED) 3. ยาเม็ดวิตามินบี 12 ประกอบด้วย ไซยาโนโคมาลามิน 25 ไมโครกรัม ฉลากแจ้งสรรพคุณบำรุงโลหิต รักษาโรคโลหิตจาง อันเนื่องมาจากขาดวิตามินบี 12 4. ยาเม็ด แล็คเฟล็ก (Lakflex) เป็นยาปฏิชีวนะใช้ในการรักษาโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ 5.ยาคลอมิน (CHLORMIN) แคปซูล ไม่มีเลขทะเบียน ใช้เป็นยาแก้แพ้ ลดน้ำมูก 6.ยาเด็กซ่าเมทาโซน ชนิดเม็ด (DEXAMETHASONE TABLETS 1000) เป็นยาที่ไม่มีเลขทะเบียน แต่ระบุ Made in Thailand 7.ยาเม็ดสีเหลือง 5 เหลี่ยม บรรจุอยู่ในซองพลาสติก เป็นยาที่ไม่มีฉลากสรรพคุณ อยู่ระหว่างเตรียมบรรจุลงขวดเป็นยาสำเร็จรูป 8.ยาเม็ดสีเหลือง 4 เหลี่ยม บรรจุในขวด ไม่มีฉลาก
ประเภทวัตถุออกฤทธิ์ปลอม 3 รายการ ได้แก่ 1.ยาคลอราซีเปท ไดโปแทสเซียม (Clorazepate dipotassium) รักษาอาการวิตกกังวล เป็นวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 4 ปลอม โดยปลอมแหล่งผลิต/ แหล่งจำหน่าย/ทะเบียนถูกยกเลิกไปแล้ว 2.ยาเม็ดไดอะซีแปรม (Diazepam Tablets) เป็นวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 4 ปลอม ที่ไม่เลขทะเบียนตำรับ 3.ยาดี- 5 (D-5) เป็นวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 4 ปลอม ที่ไม่มีเลขทะเบียนตำรับ
นอกจากนี้ ยังพบยาที่อยู่ระหว่างการผลิต เป็นผงยาและแกรนูล เม็ดยา อยู่ระหว่างเคลือบและพร้อมเคลือบที่ใช้เตรียมผลิตยาสำเร็จรูป รวมทั้งพบ ขวดยาน้ำ ซึ่งมีการปิดฉลากเตรียมบรรจุยาน้ำ, ฉลากยาที่ไม่ถูกต้อง,อุปกรณ์ในการผลิตยาหลายรายการ อาทิ เครื่องเคลือบยา, เครื่องซีลพลาสติกใส โดยเจ้าหน้าที่เจ้าหน้าที่จึงยึดของกลาง พร้อมอายัดวัตถุดิบ อุปกรณ์การผลิต เครื่องตอก เครื่องโม่ และ เครื่องจักรในการผลิตยาทั้งหมดในโรงงานดังกล่าว
นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า จะดำเนินคดี 7 ข้อหา คือ1.กรณีผลิตและขายยาโดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 2.กรณีผลิตยาปลอม มีโทษจำคุก ตั้งแต่ 3 ปี – ตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 10,000 – 50,000 บาท 3.กรณีขายยาปลอม มีโทษจำคุก ตั้งแต่ 1- 20 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000- 10,000 บาท 4.กรณีผลิตและขายวัตถุออกฤทธิ์ฯประเภท 4 โดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 100,000 บาท 5.กรณีผลิตวัตถุออกฤทธิ์ฯปลอม มีโทษจำคุกตั้งแต่ 5-15 ปี และปรับตั้งแต่ 100,000 – 300,000 บาท 6. กรณีขายวัตถุออกฤทธิ์ฯปลอม มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000 – 200,000 บาท และ7.กรณีผลิตยาแผนปัจจุบันโดยฝ่าฝืนกฎกระทรวงฯ และประกาศกระทรวงสาธารณสุขฯ มีโทษปรับตั้งแต่ 2,000-10,000 บาท
นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า ขอย้ำเตือนผู้ที่คิดจะผลิตยาปลอมออกมาจำหน่าย ขอให้เลิกทำ เพราะนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขชัดเจนว่าจะขจัดความไม่ถูกต้องเหล่านี้ให้หมดไป รวมทั้ง อย. และเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคและดำเนินการกับผู้ผลิตที่ขาดคุณธรรม จริยธรรมและขาดความรับผิดชอบต่อสังคม สำหรับผู้บริโภคและพลเมืองดีสามารถมีส่วนร่วม โดยแจ้งเบาะแส หากพบเบาะแสการผลิต จำหน่าย ยา เครื่องสำอาง อาหารเครื่องมือแพทย์ ผลิตภัณฑ์สุขภาพต่างๆ สามารถแจ้งมาที่หมายเลขโทรศัพท์ 1556 หรือศูนย์เฝ้าระวังและรับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ และขณะนี้มีรางวัลนำจับให้ด้วย ไม่ต้องรอผลการตัดสินของศาล จ่ายให้ทันทีที่ตรวจพบว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผิดกฎหมายจริง
นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา อย.มีการจับกุมดำเนินคดีอย่างต่อเนื่องมาตลอดทั้งปี พบว่าการกระทำผิดกฎหมายลดน้อยลง เพราะเป็นนโยบายที่ทำจริงและจับกุมดำเนินคดีจริง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหาร ยา เครื่องสำอาง วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท วัตถุอันตรายต่าง ๆ แต่ที่ยังมีหลงเหลืออยู่บ้าง ไม่ได้เกิดจากการด้อยประสิทธิภาพในการดำเนินงาน ต้องยอมรับว่าส่วนหนึ่งเกิดจากความเห็นแก่ตัวและความไม่รับผิดชอบต่อสังคมของผู้ประกอบการ การขาดคุณธรรม จริยธรรมยังคงมีอยู่ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขจะดำเนินการต่อไป ช่วงที่ผ่านมาสามารถจับกุมได้เป็นจำนวนมาก เกิดจากประชาชนผู้บริโภคมั่นใจกับนโยบายและการทำงานของกระทรวงสาธารณสุข จึงแจ้งเบาะแสมาเป็นจำนวนมาก เมื่อตรวจสอบเบื้องต้นพบว่ามีมูลมีการดำเนินการจริงทุกราย เพราะฉะนั้นสิ่งที่ประชาชนแจ้งเข้ามาจะไม่สูญเปล่า เช่นน้ำปลาปลอม ยาปลอมหลายกรณีที่มาจากความร่วมมือของผู้บริโภค ถือว่างานมีความก้าวหน้าและมีประสิทธิภาพพอสมควร และหวังว่าประชาชนจะให้ความร่วมมือมากขึ้น นายจุรินทร์กล่าว
ด้านนายแพทย์พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ขอฝากเตือนไปยังร้านขายยาที่จำหน่ายในประเทศขอให้ช่วยตรวจสอบผลิตภัณฑ์ที่จำหน่าย ว่ามีการผลิตจากโรงงาน เภสัชกรรมเรมี่ฟาร์ม หรือไม่ หากตรวจพบต้องหยุดจำหน่ายและทำลายหรือส่งให้กับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เพราะถือว่าเป็นผลิตภัณฑ์ผิดกฎหมาย ผู้ที่จำหน่ายถือว่ามีความผิดร่วมด้วย
12 พฤศจิกายน 2553