logo
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP

Link: http://www.manager.co.th/Qol/ViewNews.aspx?NewsID=9530000158807

วันนี้ (10 พ.ย.) นายแพทย์ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาภัยหนาว กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ได้ประชุมคณะกรรมการศูนย์ปฏิบัติการ และประเมินสถานการณ์ของภัยหนาวในปีนี้ ซึ่งคาดหมายว่า อากาศจะหนาวเย็นที่สุดในรอบ 30 ปี และจะหนาวยาวนานกว่าทุกปี ที่ประชุมจึงได้ออกคำแนะนำการป้องกันโรคภัยหนาว ที่พบได้บ่อย 6 โรค ได้แก่ โรคไข้หวัด/ไข้หวัดใหญ่ โรคปอดบวม โรคหัด โรคหัดเยอรมัน โรคสุกใส และอุจจาระร่วง รวมถึงโรคที่เกิดจากสภาพอากาศแห้ง เช่น โรคผิวหนัง และการเสียชีวิตของผู้สูงอายุจากภัยหนาว โดยเน้นให้ทุกจังหวัดโดยเฉพาะ 11 จังหวัดที่มีอากาศหนาวจัดกว่าที่อื่น ได้แก่ ตาก แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา น่าน เลย อุดรธานี หนองคาย สกลนคร และนครพนม

นายแพทย์ ศิริวัฒน์ กล่าวว่า กลุ่มที่มีความเสี่ยงเจ็บป่วยง่ายจะต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากภูมิต้านทานต่ำกว่ากลุ่มอื่น ได้แก่ เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคหลอดเลือด โรคหอบหืด โรคปอดเรื้อรัง โรคตับแข็ง โรคไต และโรคโลหิตจาง กลุ่มเหล่านี้เมื่อป่วยจะมีอาการรุนแรงกว่าประชาชนทั่วไป ในการดำเนินงานจะให้ทุกจังหวัดประชาสัมพันธ์ย้ำเตือนประชาชน และประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดเครื่องกันหนาวให้แก่บุคคลเหล่านี้อย่างเพียงพอ

นายแพทย์ ศิริวัฒน์ กล่าวต่อว่า ในการป้องกันภัยหนาว ขอให้ประชาชนสวมเสื้อผ้า เครื่องกันหนาวเพื่อให้ความอบอุ่นร่างกายโดยเฉพาะที่ส่วนอกซึ่งเป็นศูนย์กลางของการสูบฉีดเลือดจากหัวใจ จะต้องให้อบอุ่นเพียงพอ หากปล่อยให้เย็นจัดจะทำให้เลือดเหนียวข้น การไหลเวียนเลือดในร่างกายติดขัด อาจเสียชีวิตได้ และให้รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ให้เพิ่มอาหารประเภทแป้งและไขมันเพื่อให้พลังงานร่างกาย นอกจากนี้ขอให้ประชาชนดื่มน้ำบ่อยๆโดยเฉพาะน้ำอุ่นอย่างน้อยวันละ 1 ลิตร ซึ่งน้ำจะช่วยให้ผิวหนังชุ่มชื้นไม่แตกง่าย หากมีโลชั่น หรือน้ำมันมะพร้าว ก็สามารถชโลมผิวป้องกันผิวแตกได้

สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงที่จะทำให้ร่างกายอ่อนแอและเสี่ยงอันตรายต่อสุขภาพ ได้แก่ การดื่มสุรา นอกจากไม่ช่วยให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายแล้ว ยังทำให้ร่างกายไม่สามารถทนต่อสภาพหนาวเย็นได้ ไม่ควรผิงไฟในเต็นท์ เนื่องจากจะทำให้ร่างกายได้รับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากการเผาไหม้เข้าสู่ร่างกาย ไม่ควรนอนในที่ร่ม ลมโกรก โดยไม่มีเครื่องป้องกันหนาว ไม่นำเด็กเล็กเข้าไปใกล้บริเวณที่ก่อไฟ เพราะควันไฟจะระคายเคืองเยื่อบุทางเดินหายใจ ทำให้เป็นหวัดง่าย ไม่ควรอยู่ในสถานที่ที่มีคนแออัด และไม่คลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วย หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ต้องใส่ใจในการป้องกัน อื่นๆ เช่น ล้างมือบ่อยๆ สวมหน้ากากอนามัย” นายแพทย์ศิริวัฒน์ กล่าว

11 พฤศจิกายน 2553

Next post > สธ. บุกจับโรงงานผลิตยาปลอมรายใหญ่ 11 รายการ ย่านบางขุนเทียน ส่งขายตามแนวจังหวัดชายแดน มูลค่าของกลางกว่า 20 ล้านบาท

< Previous post “ผ้าอนามัยแบบสอด” เรื่องลับฉบับ “ผู้หญิง”

Related Posts

ข่าวที่เข้าชมมากที่สุด ในรอบ 3 เดือน

HITAP เป็นข่าว ล่าสุด