logo

HITAP ร่วมมือกับกรมการแพทย์ จัดการประชุมผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในโครงการ “การพัฒนาแนวทางการประเมินความคุ้มค่าฯ ปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ เพื่อบรรจุในชุดสิทธิประโยชน์ ในระบบประกันสุขภาพของประเทศไทย”

ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
“ผ้าอนามัยแบบสอด” เรื่องลับฉบับ “ผู้หญิง”

Link: http://www.manager.co.th/Qol/ViewNews.aspx?NewsID=9530000158391

ผศ.นพ.มานพชัย ธรรมคันโธ หัวหน้าหน่วยโรคติดเชื้อทางนรีเวชและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์สตรี ภาควิชาสูติศาสตร์นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล คุณหมอใจดีที่เชี่ยวชาญด้านสูติ-นรีเวช ที่มักจะมาอธิบายให้ความรู้อันน่าสนใจอยู่บ่อยๆ ย้อนความให้ฟังว่า ผ้าอนามัยชนิดนี้เกิดขึ้นมานานกว่า 30 ปีแล้ว ลักษณะจะเป็นแท่งสำหรับสอดเข้าไปในช่องคลอดเพื่อซึมซับรอบเดือน และมีเชือกเล็กๆ ห้อยออกมา เพื่อใช้ดึงออกเวลาต้องการจะเปลี่ยนหรือเอาออกจากร่างกาย

“สมัยเมื่อปี 1980 ที่เริ่มมีการใช้ผ้าอนามัยชนิดนี้ พบว่า ในต่างประเทศมีผู้ป่วยที่ใช้แทมปอนป่วยด้วยอาการ Toxic shock syndrome คือ มีอาการไข้สูง ท้องเสีย ถ่ายเหลว อาการเหมือนคนเป็นไข้หวัดใหญ่แบบเฉียบพลัน และมีผู้เสียชีวิตด้วย ก็เลยหาสาเหตุแล้วพบว่า เกิดจากไฟเบอร์ที่เป็นวัสดุภายในตัวแทมปอนเอง แทมปอนยุคแรกๆ มีการใช้สารฟอกขาวกับสำลีที่อัดอยู่ในแท่งแทมปอนเพื่อให้มันขาว แล้วมันไปทำปฏิกิริยาไดออกซินในช่องคลอด ทำให้เยื่อบุช่องคลอดเกิดแผลเล็กๆ ทำให้เชื้อโรคเข้าไปแล้วติดเชื้อจนเกิดภาวะ Toxic shock syndrome ได้”

แต่อย่าตระหนกตกใจไป ผศ.นพ.มานพชัย อธิบายว่า ในปัจจุบันมีการพัฒนาวัสดุของแทมปอนให้ปลอดภัยขึ้นกว่าเดิมมาก ทว่าที่ห่วงในขณะนี้ คือ แม้คนไทยจะใช้ผ้าอนามัยแบบสอดนี้ไม่มากเท่าฝรั่ง แต่ก็ยังมีคนใช้กันอยู่พอสมควร และหลายๆ คนที่ใช้ อาจจะกำลังใช้อย่างไม่ถูกวิธี และส่งผลเสียต่อสุขภาพ

“คือ ในช่องคลอดจะมีภาวะสมดุลอยู่ มีแบคทีเรียพลเมืองดีจำพวกแลคโตบาซิไล อันนี้คนละอันกับแลคโลบาลิลัสในผลิตภัณฑ์นมเปรี้ยวนะ เดี๋ยวจะเข้าใจผิด คือ แทมปอนมีข้อดีตรงสะดวก เล็ก ไม่เป็นรอยเวลาใส่เสื้อผ้าแฟชั่น ยิ่งสมัยนี้จะมีแฟชั่นพวกตัวเล็กๆ ตึงๆ ถ้าใส่แบบเป็นแผ่นอาจจะไม่สะดวก รวมไปถึงพวกนักกีฬาที่ต้องการความคล่องตัวด้วย แต่พวกที่ใช้หลายคนไม่อ่านฉลาก อันนี้อันตราย อย่างไรก็ตาม มันคือของแปลกปลอมที่จะถูกสอดเข้าไปในตัวเรา อยากให้ใส่ใจอ่านฉลากกันสักนิดว่ามีข้อบ่งใช้อย่างไร ใช้ได้นานเท่าไหร่

“ความสะอาดสำคัญมาก ตั้งแต่มือที่ใช้ใส่แทมปอน ต้องล้างให้สะอาด เช็ดให้แห้ง เท่าที่เห็นแทมปอนบ้านเราที่ขายอยู่ในท้องตลาดมักจะเป็นแค่แท่งสำลี แต่ในต่างประเทศจะขายคู่กับ applicator คือ หลอดที่หุ้มแทมปอนไว้อีกที เวลาสอดเข้าไปในช่องคลอดจะง่ายกว่า และปลอดเชื้อกว่าใช้มือเปล่าๆ จับ เรื่องทำความสะอาดนี้เรื่องหนึ่ง อีกเรื่องคือ สาวๆ ที่ใช้บางคนบอกว่า เวลานอนแล้วใช้ผ้าอนามัยแบบแผ่น ยาวเท่าไหร่ก็เลอะด้านหลัง ใช้แบบสอดจะดีกว่า ไม่เลอะเทอะ คือ ในฉลากแทมปอนบอกชัดว่าห้ามสอดค้างไว้ในร่างกายเกิน 4-6 ชั่วโมง แต่เวลานอนเป็นเวลาที่ยาว อาจจะยาวกว่า 4-6 ชั่วโมง หากสอดช่วงนอนหลับอาจจะนานเกินจนเกิดหมักหมมและทำลายความสมดุลในช่องคลอด และติดเชื้อจนเป็น Toxic shock syndrome ได้เช่นกัน”

นอกจากนี้ สูตินรีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญรายนี้ ยังฝากเตือนอีกว่า ยังมีคนผู้ใช้แทมปอนหลายๆ คน ที่ไว้เล็บยาว รวมถึงใช้ผลิตภัณฑ์สารเคมีบนมือหรือเล็บ เช่น ทาเล็บ เคลือบเล็บ หรือใช้โลชั่นทามือ เวลาสอดแทมปอนเล็บอาจจะไปเกี่ยวจนเกิดแผล แล้วจะเป็นช่องทางให้เชื้อโรคเข้าไปได้ ไม่นับสารเคมีต่างๆ ที่ไม่ควรใช้สัมผัสกับจุดที่อ่อนบางและแสนจะส่วนตั๊ว…ส่วนตัวของคุณสาวๆ เอาเสียเลย

“เรื่องไซส์ของแทมปอนก็สำคัญ ปัญหาช่องคลอดสั้นอาจจะเป็นปัญหาของหลายๆ คน ต้องดูสรีระตัวเองด้วย เพราะหากช่องคลอดสั้นหรือตื้น ใช้แทมปอนใหญ่อาจจะเป็นแผล หรือเวลารอบเดือนมาน้อยๆ ก็อย่าไปใช้อันใหญ่มาก และอย่าลืมว่าหากจะใช้แทมปอนก็ต้องเปลี่ยนบ่อยๆ อย่าทิ้งเอาไว้นานเกิน 4-5 ชั่วโมง ที่สำคัญ อันนี้ต้องอธิบายชัดๆ เดี๋ยวจะเข้าใจผิด กลัวกันไปทั้งเมือง คือแทมปอนมันไม่ได้เป็นตัวการให้เกิดอาการToxic shock syndrome แต่มันอาจจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดได้เท่านั้น”

ผศ.นพ.มานพชัย อัปเดตให้ฟังเป็นการทิ้งท้ายด้วยว่า ปัจจุบันกระแสกรีนและกระแสการรณรงค์ลดโลกร้อนกำลังมาแรง ในต่างประเทศมีการปลุกกระแสการใช้ผ้าอนามัยแบบสอดให้ฮอตฮิตติดลมบนอีกครั้ง ด้วยเหตุผลที่ว่า ชิ้นเล็ก ทำลายง่าย ใช้วัสดุในการทำน้อยกว่า และอาจจะเป็นไปได้ว่า กระแสนี้อาจจะเลยมาถึงเมืองไทย

“…ถึงเวลานั้น ถ้าฮิตจะใช้กัน ก็ขอให้ใช้ให้ถูกต้อง เพื่อสุขภาพของคุณสุภาพสตรีทุกคนครับ” ผศ.นพ.มานพ กล่าว

10 พฤศจิกายน 2553

Next post > “จุรินทร์” เผยสมาพันธ์ธาลัสซีเมียนานาชาติชื่นชมการควบคุมป้องกันโรคธาลัสซีเมีย ของไทย ชวนตั้งศูนย์ดูแลผู้ป่วยธาลัสซีเมียระดับชาติ และพัฒนาเป็นระดับภูมิภาค ช่วยเพื่อนบ้าน

< Previous post สธ.อึ้ง! เด็กไทย 13 ล้านคน ว่ายน้ำเป็นแค่ 2 ล้านคน น้ำท่วมปีนี้เด็กสังเวย 35 ศพ

Related Posts

ข่าวที่เข้าชมมากที่สุด ในรอบ 3 เดือน

HITAP เป็นข่าว ล่าสุด