logo
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP

กรมวิทย์ฯ รับเช็ค“ถุงมือยาง”หลังพบด้อยคุณภาพเพียบ

http://www.moph.go.th/ops/iprg/iprg_new/include/admin_hotnew/show_hotnew.php?idHot_new=34619

     กรมวิทย์ฯให้บริการทดสอบคุณภาพถุงมือทางการแพทย์ โดยเป็นห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานสากล สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้รับบริการ เผยยังคงตรวจพบตัวอย่าง ถุงมือดังกล่าวที่จะขอใบอนุญาตและที่จำหน่ายในท้องตลาด ไม่ได้มาตรฐานอยู่บ้าง ซึ่งส่วนหนึ่งเพราะการรั่วซึมและความแข็งแรงของเนื้อยาง ชี้มีความเสี่ยงต่อความปลอดภัยของผู้ใช้ถุงมือ


        นางจุรีภรณ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า จากข้อมูลการให้บริการทดสอบคุณภาพถุงมือทางการแพทย์ที่ใช้สำหรับการตรวจโรคเพื่อประกอบการขออนุญาตและเฝ้าระวังหลังจำหน่ายในปี 2553 จำนวน 88 ตัวอย่าง ในจำนวนที่ไม่ผ่านมาตรฐานพบมีสาเหตุจากการรั่วซึม ร้อยละ 41 และไม่ผ่านการทดสอบคุณสมบัติของเนื้อยางด้านแรงดึงและความยืดเมื่อขาด ร้อยละ 59 นอกจากนี้ได้ทดสอบคุณภาพถุงมือสำหรับการศัลยกรรมด้วย จำนวน 69 ตัวอย่าง พบมีสาเหตุจากการรั่วซึมร้อยละ 56 และไม่ผ่านการทดสอบแรงดึงและความยืดเมื่อขาด ร้อยละ 25 ซึ่งถุงมือที่มีการรั่วซึมจะมีความเสี่ยง หรืออันตรายต่อผู้สวมใส่มากกว่าถุงมือที่ไม่ผ่านเรื่องแรงดึงและความยืดเมื่อขาด

          ทั้งนี้การรั่วซึมนั้นเกิดมาจากกระบวนการผลิต ที่เกิดฟองอากาศในน้ำยางผสม แบบพิมพ์ น้ำยางที่สกปรก การเก็บรักษาไม่เหมาะสม ดังนั้นการแก้ไขต้องให้ความรู้บุคลากรผู้ผลิตและ ตรวจประเมินคุณภาพตามที่กำหนดและการขอใบอนุญาตถุงมือทางการแพทย์ บริษัทที่นำเข้าและผลิตถุงมือดังกล่าวต้องขออนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการ อาหารและยา (อย.) โดยจะส่งตัวอย่างให้ห้องปฏิบัติการทดสอบถุงมือทางการแพทย์ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ทดสอบคุณภาพก่อนออกใบอนุญาตให้

          รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวต่ออีกว่า ห้องปฏิบัติการทดสอบถุงมือ ทางการแพทย์ สำนักรังสีและเครื่องมือแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้รับการรับรองความสามารถห้องปฏิบัติการตามมาตรฐาน ISO/IEC 17025:2005 ทั้งนี้เป็นการสร้าง ความเชื่อมั่นให้แก่ผู้รับบริการถึงความสามารถของห้องปฏิบัติการในระดับมาตรฐานสากล ซึ่งในปัจจุบันกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข มีห้องปฏิบัติการทดสอบ ถุงมือทางการแพทย์ จำนวน 2 แห่ง อยู่ในส่วนกลาง 1 แห่ง คือ สำนักรังสีและเครื่องมือแพทย์ และในส่วนภูมิภาค 1 แห่ง คือ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 12 สงขลา นอกจากนี้ยังมีห้องปฏิบัติการทดสอบถุงมือทางการแพทย์ของเอกชน อีกประมาณ 20 แห่ง

           นางสาวสุภาวรรณ จงธรรมวัฒน์ นักฟิสิกส์รังสีชำนาญการพิเศษ สำนักรังสี และเครื่องมือแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ห้องปฏิบัติการทดสอบ ถุงมือทางการแพทย์ สำนักรังสีและเครื่องมือแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ให้บริการทดสอบคุณภาพถุงมือสำหรับการตรวจโรค วิธีทดสอบตามมาตรฐาน มอก. 1056-2548 จำนวนตัวอย่างที่ใช้ในการทดสอบ 300 ชิ้นต่อตัวอย่าง และถุงมือสำหรับการศัลยกรรม วิธีทดสอบ ตามมาตรฐาน มอก. 538-2548 จำนวนตัวอย่างที่ใช้ในการทดสอบ 250 คู่ต่อตัวอย่าง โดยทดสอบคุณสมบัติทางกล/กายภาพ ได้แก่ ด้านมิติ (ความกว้าง ความยาว ความหนา) การรั่วซึมน้ำ แรงดึง และความยืดเมื่อขาด (ก่อนบ่มเร่งและหลังบ่มเร่ง) กรณีเป็นชนิดปราศจากเชื้อตรวจสอบความปราศจากเชื้อ ใช้ตัวอย่าง 50 คู่

           นอกจากนี้ยังให้บริการทดสอบคุณภาพถุงยางอนามัยและเครื่องมือแพทย์อื่นๆตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) เช่น ผ้าโปร่งดูดซึม ผ้าพันแผล ผ้าซับ สำลีที่ใช้ทางการแพทย์ สายให้อาหารสำหรับใช้ในทางการแพทย์ (สาย NG) เป็นต้น ทั้งนี้บริษัทที่นำเข้าและผลิตถุงมือทางการแพทย์ ส่งตัวอย่างได้ที่ศูนย์รวมบริการ (One Stop Service Center) กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ถ.ติวานนท์ อ.เมือง จ.นนทบุรี ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร.0-2951-0000 ต่อ 99954 , 99955 และที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 12 สงขลา 616/1 หมู่ 2 ต.พะวง อ.เมือง จ.สงขลา โทร.0-7444-7024 ต่อ 99870 และสามารถเข้าไป ค้นข้อมูลได้ที่ศูนย์รังสีและเครื่องมือแพทย์ www.dmsc.moph.go.th


 

8 พฤศจิกายน 2553

Next post > สธ.เผยน้ำท่วมปีนี้ เด็กต่ำกว่า 15 ปีสังเวยชีวิตจมน้ำ 35 ราย คลอด 4 นโยบายป้องกันในปี’ 54

< Previous post เตะโรคร้าย ให้ห่างไกลจากสุขภาพ

Related Posts

ข่าวที่เข้าชมมากที่สุด ในรอบ 3 เดือน

HITAP เป็นข่าว ล่าสุด