ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายสื่อสารองค์กร HITAP
“จุรินทร์” ส่ง 14 หน่วยแพทย์เคลื่อนที่จาก 7 จังหวัด ให้บริการผู้ประสบภัยที่สงขลาและหาดใหญ่ 12 จุด
ครอบคลุม 4 มุมเมือง เผยวานนี้ช่วยชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉิน 45 ราย
http://www.moph.go.th/ops/iprg/iprg_new/include/admin_hotnew/show_hotnew.php?idHot_new=34531
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้าการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมของกระทรวงสาธารณสุขว่า ในวันนี้ (3 พฤศจิกายน) ที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอุทกภัยด้านการแพทย์และสาธารณสุขของกระทรวงสาธารณสุข ได้ประเมินสถานการณ์น้ำท่วม ส่วนของภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังทรงตัว จุดที่ต้องเตรียมพร้อมเป็นกรณีพิเศษอยู่ที่ 7 จังหวัดภาคใต้ คือสงขลา สตูล ตรัง นราธิวาส ยะลา ปัตตานีและพัทลุง ซึ่งจะต้องเตรียมรับมือกับพายุที่จะต้องเข้ามาใหม่อีก จุดที่วิกฤตสุดอยู่ที่หาดใหญ่ จ.สงขลา โรงพยาบาลศูนย์หาดใหญ่ยังปิดบริการตรวจรักษาผู้ป่วยนอกชั่วคราว ส่วนที่โรงพยาบาลนาทวี เปิดให้บริการได้แล้ว
ในวันนี้กระทรวงสาธารณสุขได้จัดระบบแบริการทางการแพทย์ กระจาย 4 มุมเมืองตามแผนรับมือวิกฤต โดยจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ 14 ทีมจากจังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง ตรัง สตูล ภูเก็ต พังงา ให้บริการ 12 จุด ประกอบด้วย ที่สถานีอนามัย(สอ.) 6 แห่ง คือ สอ.น้ำน้อย สอ.บ้านพลุ สอ.พะตง สอ.ท่าจีน สอ.พุแร่ และสอ.ฉลุง และบริเวณโดยรอบอำเภอหาดใหญ่ ที่แยกสนามบินหาดใหญ่ สามแยกคอหงส์ ปั๊มปตท.บ้านพลุ อู่มนัสการาจ ถนนศรีภูวนาท ร้านกาแฟโฮมแอนด์แฟคทอรี่ โปรดัค ถนนธรรมนูญวิถี และร้านเขาช่องซีฟู้ด ถนนธรรมนูญวิถี จุดบริการเหล่านี้อยู่ใกล้เขตน้ำท่วมมากที่สุด ประชาชนสามารถไปรับบริการได้ฟรี ส่วนผู้ที่บัตรประชาชนหายหากเจ็บป่วยฉุกเฉินสามารถเข้าใช้บริการในโรงพยาบาลได้ทุกแห่ง เพียงแค่แจ้งชื่อที่อยู่ก็รับบริการได้
นายจุรินทร์กล่าวต่อไปว่า ประชาชนที่เจ็บป่วยฉุกเฉินที่อยู่ในจ.สงขลา ขณะนี้ระบบการสื่อสารรับแจ้งการเจ็บป่วยทางหมายเลข 1669 ของจ.สงขลาใช้การไม่ได้อยู่ระหว่างการเร่งกู้ของทีมวิศวกรรมการแพทย์ ดังนั้นจึงขอให้ประชาชนโทรแจ้งประสานขอความช่วยเหลือไปที่ศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์ของกระทรวงสาธารณสุขหมายเลข 02 5901994 begin_of_the_skype_highlighting 02 5901994 end_of_the_skype_highlighting ตลอด 24 ชั่วโมง เป็นการชั่วคราวไปก่อนจนกว่า 1669 ในจ.สงขลาจะใช้การได้ โดยเมื่อวานนี้ศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์ของกระทรวงสาธารณสุข ได้รับแจ้งขอความช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉิน 45 ราย ประกอบด้วย ป่วยฉุกเฉิน 30 ราย บาดเจ็บ 7 ราย คลอด 8 ราย หน่วยแพทย์ฉุกเฉินได้ให้การช่วยเหลือด้วยความยากลำบากเนื่องจากกระแสน้ำเชี่ยว และได้นำส่งผู้ป่วยไปรักษาในรพ.สงขลาและรพ.สงขลานครินทร์ ในจำนวนนี้มีอาการหนัก 1 รายเหนื่อยหอบอยู่ไอซียู คลอด 1 รายเป็นเพศหญิง
ขณะนี้ในรพ.หาดใหญ่ คงเหลือผู้ป่วยนอนรักษาประมาณ 500 ราย เป็นผู้ป่วยหนัก 40 ราย ระดับน้ำท่วมรอบรพ. 1.2 เมตร โดยให้ รพ.สงขลา รพ.พัทลุง และรพ.สงขลานครินทร์เป็นจุดรับส่งต่อผู้ป่วยในพื้นที่จ.สงขลาแทนรพ.หาดใหญ่ ล่าสุดเมื่อเวลา 11.00 น. ระดับน้ำรอบรพ.ลดลงเหลือประมาณ 1 เมตร ส่วนน้ำท่วมที่แผนกผู้ป่วยนอกแห้งแล้ว แพทย์พยาบาลกำลังทำความสะอาด เพื่อเตรียมเปิดบริการประชาชนให้เร็วที่สุด
ในวันนี้กระทรวงสาธารณสุขได้จัดส่งยาชุดน้ำท่วมไปที่ภาคใต้ 70,000 ชุด ผลการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ของกระทรวงสาธารณสุขในพื้นที่ประสบภัย ยอดสะสมตั้งแต่ 20 ตุลาคม 2553 – 2 พฤศจิกายน 2553 ออกหน่วยไปแล้ว 2843 ครั้ง มีผู้เจ็บป่วยรวม 295,136 ราย โรคที่พบอันดับหนึ่งคือน้ำกัดเท้า 115,207 ราย ไข้หวัด 29,908 ราย ปวดเมื่อย 23,840 ราย เครียด วิตกกังวล นอนไม่หลับ 19,087 ราย โรคผิวหนัง ผื่นคัน 18,774 ราย ยอดผู้เสียชีวิตจากน้ำท่วมสะสม 105 ราย
4 พฤศจิกายน 2553